วันที่ 4 ม.ค. 68 นาย ชลายุทธ์ สังข์คุ้ม กรรมการมูลนิธิเพชรเกษม ดูแลเรื่องวินัย พร้อมด้วย นายนิรุต ยุวพรพงศ์กุล หรือ คุณตี๋ อาสามูลนิธิเพรชเกษม ซึ่งเป็นคนขับรถ และทีมกู้ชีพ ชี้แจงถึงกรณีที่มีการนำส่งผู้ป่วยโรคหัวใจผิดโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด
โดยนายนิรุต เปิดเผยว่า ส่วนตัวผ่านการอบรมระบบการแพทย์ฉุกเฉินมา มีทั้งใบอบรม และใบอนุญาตในการขับยานพาหนะนั้นคือรถพยาบาล และตัวเองเป็นบุคลากรทางการแพทย์ โดยวันเกิดเหตุได้รับแจ้งเหตุผ่านทางช่องทางไลน์ ที่อาสากู้ภัยส่งต่อกันมาว่ามีผู้ป่วยอยู่ ที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านพระราม 9 จึงเดินทางไปที่เกิดเหตุ ซึ่งถึงจุดเกิดเหตุในเวลาบ่าย 2 โมงกว่า เมื่อมาถึงจุดเกิดเหตุ ด้านทีมงานอาสาสมัครกู้ภัยก็ได้เดินทางขึ้นไปยังห้องที่มีผู้ป่วย และประเมินอาการผู้ป่วยเบื้องต้น ตนที่เป็นคนขับรถจึงตามขึ้นไปทีหลัง
จากนั้นนิติบุคคลได้ให้ตนที่กำลังเดินตามขึ้นไป คุยโทรศัพท์กับทางศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี และได้มีการประสานงานกันว่าทางโรงพยาบาลราชวิถี โดยได้รายงานอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยให้ทางโรงพยาบาลราชวิถีรับทราบแล้ว และทางโรงพยาบาลราชวิถีจะมีการส่งรถกู้ชีพของโรงพยาบาลมาที่เกิดเหตุ
ต่อมาเพื่อนข้างห้อง หรือคุณกั๊กบอกกับทางเจ้าหน้าที่ว่า ญาติต้องการให้ผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยด่วน โดยที่คุณกั๊กยืนยันว่าอยากจะให้ไปที่โรงพยาบาล พระราม 9 หรือ รพ.พญาไท ไม่เอาโรงพยาบาลราชวิถี ส่วนตัวจึงต้องโทรไปแจ้งกับโรงพยาบาลราชวิถีอีก ซึ่งทางโรงพยาบาลราชวิถีตอบกลับมาว่าหากญาติต้องการให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยก็ให้ดำเนินการเช่นนั้น ตัวเองจึงได้นำผู้ป่วยเคลื่อนย้าย ขึ้นบนรถกู้ชีพของของตัวเอง และทำการให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วย พร้อมบอกว่าในขณะนั้นอาการของผู้ป่วยยังไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤต ยังสามารถสื่อสารได้
ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้มีการถามย้ำอีกครั้งว่า การที่ไปโรงพยาบาลพระราม 9 และพญาไท ใครจะเป็นคนดูแลค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย คุณกั๊กบอกว่าทางญาติบอกว่าจะดูแลเอง และจะใช้สิทธิ์เงินสดจ่ายเอง ส่วนตัวจึงตั้งใจจะพาคนป่วยไปส่งที่โรงพยาบาลพญาไทตามที่ต้องการ แต่ระหว่างทางที่จะไปโรงพยาบาลพญาไทนั้น รถติดมาก จึงประเมินสถานการณ์ได้ว่า หากไปโรงพยาบาลคามิเลียนน่าจะใช้เวลารวดเร็วกว่า โดยใช้เวลาในการเดินทางไปที่โรงพยาบาลดังกล่าวใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที ก็ไม่เกิน 15 นาที ก็ถึงโรงพยาบาล
ในระหว่างที่นำตัวคนป่วยไปส่งที่โรงพยาบาล ก็ได้มีการพูดคุยกับภรรยาของผู้ป่วย ยืนยันว่าได้แจ้งกับภรรยาผู้ป่วยแล้ว และภรรยาผู้ป่วยก็พยักหน้ารับทราบว่าจะนำตัวผู้ป่วยไปส่งที่โรงพยาบาลคามิเลียน โดยที่ภรรยาไม่ได้ ระบุว่าจะต้องไปโรงพยาบาลที่ไหนบอกเพียงแค่ว่าให้ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และแจ้งข้อมูลแค่เพียงว่าผู้ป่วยเคยเข้ารับยาเป็นประจำที่โรงพยาบาลราชวิถีเท่านั้น พอไปถึงโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลก็รับตัวผู้ป่วยไปดูแล ซึ่งหน้าที่ของตัวเองก็หมดเพียงแค่เท่านั้น และขณะนั้นภรรยาได้มีการขอบคุณที่นำสามีมาส่งที่โรงพยาบาลอีกด้วย
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าการเลือกนำผู้ป่วยมาส่งโรงพยาบาลดังกล่าวเป็นเพราะมีเรื่องของค่าเคสเข้ามา ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ไม่เคยได้รับค่าเคสจากโรงพยาบาลดังกล่าวเลย ส่วนสาเหตุที่ไม่นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลพระราม 9 หรือโรงพยาบาลพญาไทนั้น เนื่องจากจากการประเมิน อาการของผู้ป่วยไม่ได้เข้าขั้นวิกฤต และไม่เข้าข่ายการใช้สิทธิ UCEP หากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าวอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ยอมรับว่าตนเองไม่เคยนำผู้ป่วยไปส่งที่โรงพยาบาลพระราม 9มาก่อน
พร้อมยืนยันว่าส่วนตัวได้ทำการประเมินตามหลักการแพทย์ฉุกเฉิน และประเมินหน้างานอย่างดีที่สุดแล้ว ส่วนที่ระบุว่า ทำให้การรักษาผู้ป่วยนั้นล่าช้าไปถึง 2 ชั่วโมง ในส่วนนี้ตัวเองที่เป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องจะเป็นหน้าที่ของทางโรงพยาบาลที่จะประสานกันเอง พร้อมถามว่า “ผมผิดอะไร เพราะหน้าที่ของตนมีเพียงเท่านี้ ยืนยันว่าทำหน้าที่ของตนเองดีที่สุดแล้ว”
ด้านนายชลายุทธ์ ยอมรับว่า มูลนิธิเพชรเกษมไม่ได้อยู่ในระบบของศูนย์เอราวัณ แต่มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้ป่วย ก่อนหน้านี้มีการพยายามที่จะยื่นเอกสารเพื่อขอเข้าระบบไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับมา ยืนยันมูลนิธิฯ มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย และบุคลากรของมูลนิธิก็มีการอบรมผ่านหลักสูตรที่ถูกต้อง พร้อมบอกว่าที่ทุกคนมาทำตรงนี้ก็ทำด้วยใจ ต่อให้ไม่อยู่ในเครื่องแบบมูลนิธิ แต่ถ้าเจอคนที่ได้รับความเดือดร้อนก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ
ส่วนที่มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเมืองระหว่างมูลนิธิหรือไม่ คนละส่วนคนละเรื่องกัน ซึ่งในวันที่ 6 ม.ค. 68 ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินได้เรียกมูลนิธิเพชรเกษม เข้าไปชี้แจง ยอมรับว่าตนเองไม่ได้กังวลอะไร ทุกอย่างมีหลักฐาน ซึ่งขณะนี้ได้ขอข้อมูลภาพกล้องวงจรปิดจากโรงพยาบาลคามิเลียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พร้อมบอกว่าสำหรับการแจ้งเหตุให้ปัจจุบัน ไม่ได้มีการแจ้งเหตุเพียงแค่ช่องทางเดียว ปัจจุบันยังมีการแจ้งเหตุผ่านแอปพลิเคชัน หรือกลุ่มไลน์ต่างๆ ที่กู้ภัยจะแจ้งเหตุให้ทราบกัน ส่วนตัวถึงได้รู้ข้อมูล และเหตุดังกล่าวก่อนลงไปหน้างาน เมื่อไปถึงเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยกลุ่มแรกก็จะต้องทำการช่วยเหลือผู้ป่วย เพื่อช่วยผู้ป่วยได้ทันท่วงที และตนก็ไม่ได้มองว่าการแจ้งเหตุฝั่งญาติผู้ป่วยไปแจ้งเหตุที่ไหน แต่ตนมองว่าก็ดีกว่าปล่อยให้ผู้ป่วยนอนตายอยู่ตรงนั้น เพราะการขาดออกซิเจนเพียงแค่ 4 นาทีก็อาจจะทำให้คนไข้กลายเป็นผู้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นต้นทางไม่สำคัญว่าตนจะไปรับข้อมูลมาจากไหน แต่สำคัญตรงที่ว่าตนเองไม่ได้ทำชั่ว ตนเองแค่ไปช่วยคน
Advertisement