Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สธ. ลุยแจก “มุ้งสู้ฝุ่น” อีก 3.7 หมื่นหลัง เปิดคลินิกมลพิษแล้ว 55 จว.

สธ. ลุยแจก “มุ้งสู้ฝุ่น” อีก 3.7 หมื่นหลัง เปิดคลินิกมลพิษแล้ว 55 จว.

24 ม.ค. 68
19:18 น.
|
305
แชร์

“สมศักดิ์” สั่งสธ.ทั่วประเทศ แจ้งเตือนปชช.ทุกวัน หลังหลายจังหวัดจมฝุ่น PM2.5 ลุยแจก “มุ้งสู้ฝุ่น” อีก 3.7 หมื่นหลัง

เมื่อวันที่ 24 ม.ค.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยมี นพ.นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ภายหลังการประชุม นายสมศักดิ์ แถลงว่า ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนในขณะนี้ ถือเป็นวาระสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขสืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร มีข้อสั่งการให้มีการเตรียมการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเร่งด่วนในทุกกระทรวง สำหรับกระทรวงสาธารณสุขนั้น ได้มีการดำเนินการในหลายส่วนและมีแผนการดำเนินการต่าง ๆ ตามข้อสั่งการ 5 มาตรการ ดังนี้

1.ให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือ PHEOC ของกระทรวงสาธารณสุข ในวันนี้ เพิ่มเติมจากใน 10 จังหวัด และ 2 เขตสุขภาพ ที่เปิดไปก่อนหน้านี้แล้ว พร้อมให้การมีติดตามจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และอาการกำเริบ ที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5 อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องทุกวัน

2.ด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุกและสร้างความรอบรู้ ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีการแถลงข่าวต่อเนื่องมาแล้ว 3 วัน และจะแถลงทุกวันในเวลา 14.00 น และให้ สสจ. ทั่วประเทศสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนในทุกวัน รวมถึงให้ อสม ปฏิบัติการสื่อสารเชิงรุกกับประชาชนในพื้นที่ ทั้งเรื่องการปฏิบัติตนและลดการเผาในที่โล่ง ทั้งนี้ได้จัดสายด่วน 1478 เพื่อตอบปัญหาประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

3.ด้านการดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง ทาง สสจ. ได้จัดทีม SHERT หรือ ทีมพิเศษฉุกเฉินสุขภาพ ระดับจังหวัด 76 ทีม และระดับอำเภอ 878 ทีม ลงพื้นที่ดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง รวมกว่า 178,773 ราย

4.ด้านการให้บริการ ได้เปิดคลินิกมลพิษแล้วใน 55 จังหวัด เปิดห้องปลอดฝุ่น 5,517 ห้อง รองรับประชาชนได้เกือบ 1 ล้านราย และสนับสนุนมุ้งสู้ฝุ่นให้กลุ่มเสี่ยงใน 35 จังหวัด และมีแผนกระจายให้ผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่เสี่ยงสูงเพิ่มอีก 37,569 ราย

5.ด้านการสนับสนุนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ ไปยังหน่วยบริการในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการสนับสนุนหน้ากากอนามัยแล้ว กว่า 180,000 ชิ้น และหน้ากาก N95 กว่า 1,100,000 ชิ้น

“นอกจากนี้ยังได้หารือกับ สปสช. เพื่อบูรณาการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่(กทป.) เพื่อสนับสนุนนโยบายในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นให้พี่น้องประชาชนในแต่ละท้องที่ อีกด้วยกระทรวงสาธารณสุขขอยืนยันว่า เราจะทำงานอย่างเต็มที่ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี และผ่านปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองนี้ไปด้วยกัน”

นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากข้อสั่งการของนายกฯ สปสช.จะมีการซักซ้อมกับ กทป.ทั่วประเทศ 7,700 แห่ง ซึ่งมีการเตรียมโครงการอื่นๆ ที่จะดำเนินการในปีนี้ มีเงินค้างในระบบ 3,536 ล้าน ก็จะขอให้มีการปรับโครงการเพื่อให้สนับสนุนหน้ากากอนามัยเพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับอย่างเพียงพอ โดยจะมีการสื่อสารขอให้ประสานกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่ เพื่อเข้าไปสนับสนุนหน้ากากอนามัยที่อาจจะยังไม่เพียงพอ โดยจะมีการทำหนังสือซักซ้อมปรับโครงการทั้งหมดในวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป

นพ.ธนินทร์ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่เด็กเลือดกำเดาไหลในช่วงนี้นั้น คือการเกิดจากการฉีกขาดหลอดเลือดฝอยในโพรงจมูกทำให้มีเลือดออก สาเหตุช่วงนี้อากาศเย็นและแห้ง ทำให้มีโอกาสเลือดกำเดาไหลอยู่แล้ว แต่เด็กที่มีภาวะภูมิแพ้ มีภาวะโรคไข้หวัด หรือติดเชื้อไวรัสทำ ให้โพรงจมูกบางและมีภาวะเลือดกำเดาไหลออกง่ายกว่าปกติ การป้องกันสาเหตุที่ทำให้เยื่อบุจมูกอักเสบหรือฉีกขาดหรือการขยี้จมูก แคะจมูก หรือคันจมูกขยี้แรงๆ ทำให้มีเลือดไหลออกได้ วิธีป้องกัน หลีกเลี่ยงการแคะจมูก หรือการสัมผัสมลพิษ โดยเฉพาะควันบุหรี่PM 2.5 หรือการเผาที่จะเข้าเทศกาลตรุษจีนก็ต้องหลีกเลี่ยงอากาศแห้ง วิธีป้องกันที่ดีที่สุด เมื่ออากาศแห้งให้ใช้น้ำเกลือหยอดจมูกหรือใช้วาสลีนทาโพรงจมูก จะสามารถป้องกันได้ ส่วนการปฐมพยาบาล ก็ไม่ต้องตกใจสามารถรักษาเองที่บ้าน โดยให้เด็กนั่งตรงเองไปข้างหน้าเล็กน้อย และบีบที่ปีกจมูกประมาณ 5 ถึง 10 นาที เลือดจะหยุดเอง แต่ถ้าไม่หยุดใช้น้ำแข็งประคบหน้าผากหรือบริเวณดั้งจมูก จะทำให้เส้นเลือดหดตัวเลือดหยุดไหล แต่ถ้ามีอาการเกิน 30 นาที ยังมีเลือดไหลอยู่หรือเป็นลิ่มให้รีบพาไปพบแพทย์ โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวหรือโรคที่มีเลือดออกง่ายก็สามารถมาโรงพยาบาลได้เลย

นพ.ธิติ กล่าวว่า ช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน ประกอบกับพีเอ็ม 2.5 ขึ้นสูง กรมอนามัยจึงมีการสำรวจข้อมูลจากประชาชนพบว่าจะมีกิจกรรมที่อาจจะเกี่ยวข้องกับตรุษจีน เช่น การจุดธูปเทียนร้อยละ 13.3 เผากระดาษเงินกระดาษทองร้อยละ 10.5 จุดประทัดอีกร้อยละ 5.2 ประชาชนทั่วไปจะมีการเตรียมความพร้อมและดูแลตัวเองระดับหนึ่งคือสวมหน้ากากร้อยละ  67 เช็ดทำความสะอาดบ้านให้ปลอดฝุ่นร้อยละ 41.8 ไม่จุดธูปไม่เอากระดาษเงินกระดาษทองร้อยละ 45.9

ทั้งนี้ ตรุษจีนนี้ เราอยากให้ลดเผา ลดฝุ่น จะช่วยลดพีเอ็ม 2.5 อันดับแรกหากจำเป็นต้องใช้ธูปอาจจะต้องใช้ธูปไฟฟ้าหรือธูปด้ามสั้น หลีกเลี่ยงเผาในบริเวณที่ถ่ายเทไม่สะดวก การเผากระดาษเงินกระทองอาจเผาทีละน้อย เมื่อเสร็จรีบดับไฟ ลดการจุดประทัด นอกจากเสียงก็ยังจะมีควันและฝุ่นเกิดขึ้นด้วย หากสามารถลดการจุดประทัดได้ และควรระมัดระวังวัตถุไวไฟอาจทำให้เกิดไฟไหม้ ส่วนเด็กต้องดูแลอย่าให้เข้าใกล้หรือจุดประทัด

ด้านนพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า  สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่เดือนต.ค.- ธ.ค.2567 ที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบถึง 1,048,015 ราย โดยกระทบกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง โรคหืดกำเริบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันผิว หนังอักเสบ ตาอักเสบ และที่กังวลก็คือเรื่องเลือดกำเดาไหลในเด็ก กระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นควรการประกาศเขตพื้นที่ เฝ้าระวังควบคุมโรคจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ตามพ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม 2562 โดยมีมติจากที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 โดยเป็นการประกาศเขตพื้นที่ตามมาตรา 14 (2) เสนอคณะรัฐมนตรี โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ระดับ คือเขตเฝ้าระวังและป้องกันโรคจากฝุ่นPM 2.52 และเขตควบคุมโรคจากฝุ่นPM 2.5 โดยกำหนดมาตรการดูแลประชาชนในเขตเฝ้าระวังและป้องกันโรคจากฝุ่นPM 2.5 จะดูจากค่าเฉลี่ยฝุ่น 24 ชั่วโมง มากกว่าหรือเท่ากับ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า เราจะทำใน 3 มาตรการคือ 1.สนับสนุนหน้ากากอนามัยตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคและกรมอนามัย 2.จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในอาคารสถานที่ เช่นโรงพยาบาล โรงเรียนและเตรียมศูนย์รองรับอพยพกลุ่มเปราะบางเข้าพักคอยจนกว่าจะยกเลิกประกาศ 3.โรงพยาบาลแจ้งการพบผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่เฝ้าระวัง 4 กลุ่มต่อเจ้าหน้าที่ หากค่าเฉลี่ยPM 2.5 มากกว่าหรือเท่ากับ 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจะประกาศเป็นเขตควบคุมโรคจากฝุ่นPM 2.5 จะเพิ่มมาตรการจาก 3 ข้อ คือ 1.ออกประกาศเวิร์คฟอร์มโดยให้แต่ละหน่วยงานให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น งดกิจกรรมกลางแจ้งที่ต่อเนื่องเพื่อลดการสัมผัสฝุ่น 2.ขอความร่วมมือเกษตรกรและเจ้าของสถานประกอบกิจการต่างๆ ผู้ประกอบการขนส่ง และผู้ก่อมลพิษ ดำเนินการลดฝุ่น 3.ใช้กลไกตามมาตรา 35 โดยคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัดและกรุงเทพฯพิจารณาเสนออธิบดีกรมควบคุมโรคประกาศเขตพื้นที่เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่นั้นเป็นการเฉพาะ

ด้าน ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ด้านการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 รายงานสถานการณ์ PM 2.5 ประจำวันว่า สำหรับ ภาพรวมสถานการณ์ของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย ซึ่งการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข จะใช้เกณฑ์ระดับความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM2.5 ตอนเวลา 7 โมงเช้าของทุกวัน เป็นหลักในการสื่อสาร ซึ่งเป็นข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ แต่ทั้งนี้ต้องแจ้งให้พี่น้องประชาชนรับทราบว่า ข้อมูลนี้เป็นค่าเฉลี่ย ซึ่งในระหว่างวัน อาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นและลงได้ตามปัจจัยต่าง ๆ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินสีส้มขึ้นไป หรือมากกว่า 37.5 มคก/ลบ.ม มีจำนวน 60 จังหวัด โดยเป็นสีแดง 21 จังหวัด และส่วนที่เพิ่มขึ้นจากสีส้มมาเป็นสีแดง เมื่อวานอีก 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ฉะเชิงเทรา อ่างทอง หนองคาย อุทัยธานี และชลบุรี และจังหวัดสีส้มอีก 39 จังหวัด ส่วนค่า PM2.5 เฉลี่ยเกิน 75 ติดต่อกัน 3 วัน ขึ้นไป ได้แก่ เพชรบุรี สุโขทัย สระบุรี สมุทรสาคร  กรุงเทพมหานคร  พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี และระยอง สำหรับ แนวทางการดูแลตัวเองของประชาชนในเขตพื้นที่ต่าง ๆ จะแบ่งออกตามความรุนแรงของความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 จะแบ่งการปฏิบัติตัวออกเป็น 2 กลุ่ม ท่านจะต้องดูว่าท่านอยู่ในกลุ่มไหน ได้แก่ กลุ่มประชาชนทั่วไป หรือ กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวหอบหืดหรือถุงลมอุดกั้นเรื้อรัง และผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งต่อเนื่องการปฏิบัติตัวจะแตกต่างกันเล็กน้อย คือ กลุ่มเสี่ยงจะมีมาตรการที่เข้มข้นกว่า

 

Advertisement

แชร์
สธ. ลุยแจก “มุ้งสู้ฝุ่น” อีก 3.7 หมื่นหลัง เปิดคลินิกมลพิษแล้ว 55 จว.