กทม.สรุป 11 มาตรการลดฝุ่นควัน และเตรียมนำ 11 ข้อเสนอ แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ถึงรัฐบาล เพื่ออากาศสะอาดของคนกรุงเทพฯ
ปัจจุบันเรื่องฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาระดับชาติไม่ใช่แค่เพียงในกรุงเทพมหานคร แต่ด้วยกรุงเทพมหานครมีจำนวนประชากรเป็นจำนวนมากจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า ปัญหาหลักในกรุงเทพฯมี 2 เรื่อง คือ ฝุ่น และน้ำท่วม ซึ่งฝุ่นถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่ กทม.วางแผนและพยายามดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดย กทม. ได้ดำเนินโครงการนักสืบฝุ่น โดยร่วมกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และพบว่าฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ รถยนต์ สภาพอากาศปิด และการเผาชีวมวล
ในสถานการณ์ปกติจะมีฝุ่น PM2.5 จากรถยนต์เป็นทุนเดิมอยู่ที่ประมาณ 30 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เมื่อมีอากาศปิด ร่วมกับฝุ่น PM2.5 จากรถยนต์เป็นทุนเดิม แต่ไม่มีการเผา จะมีค่าฝุ่นที่ประมาณ 60 มคก./ลบ.ม. และเมื่อมีอากาศปิด ร่วมกับฝุ่น PM2.5 จากรถยนต์เป็นทุนเดิม และมีการเผาด้วย จะมีค่าฝุ่นที่ประมาณ 90 มคก./ลบ.ม. จึงต้องให้ความสำคัญกับทั้งฝุ่นที่มาจากรถยนต์และการเผาชีวมวลซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ดี
สำหรับแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2568 หรือ “แผนลดฝุ่น 365 วัน” กทม. ได้มีการดำเนินการอยู่ตลอดทุกวันทั้งปี โดยในระยะปกติมีการติดตามเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชน การกำจัดต้นตอ การป้องกันให้กับประชาชน การสร้างการมีส่วนร่วม ส่วนในระยะวิกฤตก็ยังคงมีการดำเนินการตามแผนระยะค่าฝุ่นปกติอย่างต่อเนื่อง แต่เพิ่มมาตรการให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น
1. Low Emission Zone (LEZ) หรือมาตรการเขตมลพิษต่ำ ควบคุมรถเข้าพื้นที่ ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ห้ามรถ 6 ล้อขึ้นไปที่ไม่ลงทะเบียนบัญชีสีเขียว (Green List) เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายและมีแนวโน้มฝุ่นเพิ่มมากขึ้นจะประกาศขยายพื้นที่ควบคุมไปยังวงแหวนกาญจนาภิเษกด้วย ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยใช้ CCTV และเทคโนโลยีเข้ามาอ่านป้ายทะเบียนและตรวจสอบกับ Green List เพื่อดำเนินการแจ้งความต่อไป ซึ่งผู้ประกอบการยินดีร่วมมือเพราะเป็นการสนับสนุนให้คนที่ทำดียังใช้รถได้อยู่ โดยปัจจุบันมีรถลงทะเบียน Green List แล้ว 43,716 คัน
2. โครงการรถคันนี้ลดฝุ่น เป็นการชวนประชาชนมาเป็นแนวร่วมในการลดฝุ่น ซึ่งจากการวิจัยพบว่าการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/ไส้กรอง สามารถลดฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 55% จึงได้คุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมลดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/ไส้กรองเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2567 (18 ธ.ค. 66 – 29 ก.พ. 67) มีรถเข้าร่วม 265,130 คัน จากเป้าหมาย 265,130 คัน ส่วนในปี 2568 เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 มีรถเข้าร่วม 229,711 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ม.ค. 68) จากเป้าหมาย 500,000 คัน
3. ห้องเรียนปลอดฝุ่น โรงเรียนสังกัด กทม. ที่เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาล (429 แห่ง) โดยปรับปรุงเสร็จแล้ว 744 ห้อง จากห้องเรียนอนุบาลทั้งหมด 1,966 ห้อง และจะปรับปรุงให้เสร็จทั้งหมดภายในปีนี้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ไม่สามารถปิดทุกโรงเรียนพร้อมกัน ในส่วนของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนได้มีการติดตั้งเครื่องกรองอากาศ ปัจจุบันยังติดไม่ครบ จะติดตั้งเพิ่มเติมต่อไป อีกทั้งยังมีโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ร่วมกับ สสส. ติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ 437 เครื่อง และสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาฝุ่นละออง
4. เครือข่าย WORK FROM HOME (WFH) เพื่อลดการจราจรในท้องถนน และประชาชนจะได้ไม่ต้องออกไปเจอสภาพอากาศที่ไม่ดีข้างนอก ปัจจุบันมีหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมกับ กทม. เป็นภาคีเครือข่าย WFH รวม 103,781 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ม.ค. 68) โดยตั้งเป้าหมายจะทำให้ถึง 200,000 คน
5. รถอัดฟางให้ยืมฟรี เป็นโมเดลที่เชื่อว่าการไปผลักภาระให้เกษตรกรอย่างเดียวไม่ถูก เพราะปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งการเผาเป็นวิธีที่ต้นทุนต่ำ จึงตั้งงบประมาณซื้อรถอัดฟางสนับสนุนให้เกษตรกรยืมใช้ฟรี เชื่อว่าโมเดลนี้น่าจะขยายไปทั่วประเทศได้ ช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรได้ และสามารถนำฟางไปขายได้
6. สนับสนุนทีมฝนหลวงช่วยลดฝุ่น กทม. หัวใจของฝนหลวงไม่ใช่การทำให้ฝนตกลงมาเพื่อล้างฝุ่น แต่เป็นไปตามแนวคิดการเจาะช่องฝาชีที่ครอบอยู่เพื่อให้ฝุ่นระบายขึ้นไปได้ ที่ผ่านมาไม่เคยมีการบินในเขตกรุงเทพมหานครเพราะเป็นเขตหนาแน่น ปีนี้เป็นปีแรกที่วิทยุการบินฯ อนุญาตให้บินเพราะเรามีการประสานขอความร่วมมือไป ซึ่ง กทม. ได้สนับสนุนทีมฝนหลวงในการรับบริจาคน้ำแข็งแห้งและได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาจำนวน 300 ตัน ส่วนประสิทธิภาพต้องให้ทางกรมฝนหลวงฯ ยืนยัน แต่เชื่อว่าต้องใช้วิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาและไม่หยุดในการหาทุกวิถีทาง
7. เปิดช่องทางแจ้งเบาะแสฝุ่น โดยใช้ Traffy Fondue ซึ่งมีเมนูแจ้งการเผา แจ้งควันดำโดยเฉพาะ
8. การพยากรณ์และแจ้งเตือนฝุ่น สามารถพยากรณ์ฝุ่นได้แม่นยำ ใช้เซ็นเซอร์ที่ได้มาตรฐาน มีการแจ้งเตือน อาทิ ธงคุณภาพอากาศในโรงเรียน/ชุมชน/สำนักงานเขต เปิดศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร และ Live แจ้งเตือนสถานการณ์วันละ 1 ครั้ง มี Line Alert ที่แจ้งเตือนเมื่อมีวิกฤต เพื่อให้ประชาชนรับรู้ทันท่วงที
9. การตรวจฝุ่นที่ต้นตออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 1 ต.ค. 65 – 29 ม.ค. 68 อาทิ โรงงาน 236 แห่ง เราตรวจแล้ว 14,638 ครั้ง แพลนท์ปูน 105 แห่ง ตรวจแล้ว 2,451 ครั้ง สั่งปิด 17 แห่ง ตรวจรถโดยสารแล้ว 57,057 คัน ห้ามใช้ 85 คัน ตรวจรถบรรทุก 142,880 คัน ห้ามใช้ 743 คัน เป็นต้น ซึ่งการตรวจรถเมล์/รถ 6 ล้อขึ้น กทม.ไม่มีสิทธิห้ามใช้งาน จึงต้องร่วมกับกรมการขนส่งทางบกหรือตำรวจในการสั่งห้าม
10. การปรับปรุงการจราจร ปรับปรุงทางเท้า เป้าหมายระยะทาง 1,000 กม. และการใช้จักรยาน Bike Sharing เพื่อให้คนลดการใช้รถยนต์ลง
11. เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตลอด ทั้งการทำโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่งตอนนี้ปลูกไปแล้วกว่า 1,286,000 ต้น พร้อมขยายเป้าเป็น 2 ล้านต้น และจัดทำสวน 15 นาที ซึ่งทำไปแล้วกว่า 170 แห่ง จากเป้าหมาย 500 แห่ง ทั้งนี้ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวอาจเป็นโครงการที่ไม่เห็นผลในวันนี้ แต่อนาคตจะเป็นร่มเงาและคอยดักฝุ่นให้เมืองกรุงได้
นอกจากมาตรการต่าง ๆ ข้างต้น กทม. ยังรวบรวม 11 ข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่
ภาคขนส่ง
1. การให้ กทม. เป็นผู้ตรวจการขนส่ง ให้อำนาจ กทม. จับรถควันดำ ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก หาก กทม. เป็น "ผู้ตรวจการขนส่ง" ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก จะมีอำนาจตรวจสอบและจับกุมรถยนต์ที่ฝ่าฝืนกฎหมายได้
2. มาตรการตรวจควันดำและการตรวจสภาพรถประจำปี ประกอบด้วย การลดค่าความทึบแสงให้เหลือ 10% รถควันดำหลายคันมีค่าความทึบแสงไม่ถึงเพดาน 30% ถ้าลดเพดานเหลือ 10% จะจับรถควันดำได้มากขึ้น หรือให้ กทม. กำหนดค่ามาตรฐานเอง และการตรวจสารมลพิษอื่นจากปลายท่อไอเสีย
3. บังคับรถเก่าติดตั้งเครื่องกรองมลพิษที่ท่อไอเสีย การติดตัวกรองมลพิษอนุภาคจากเครื่องยนต์ดีเซล (DPF) โดยพิจารณาในกลุ่มรถที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป เพื่อลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดภาคการจราจร
4. ปรับโครงสร้างภาษีรถเก่า เก็บภาษีรถตามอายุการใช้งาน ยิ่งเก่า ยิ่งปล่อยมลพิษ ยิ่งจ่ายภาษีเพิ่ม และสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรถพลังงานไฟฟ้า (EV) โดยอาจสนับสนุนการนำรถเครื่องยนต์สันดาปแลกรถยนต์ EV คันแรก
5. ควบคุมจำนวนรถยนต์ สนับสนุนรถพลังงานไฟฟ้า จำกัดการซื้อรถยนต์ใหม่ที่มาตรฐานต่ำกว่า ยูโร 5 สนับสนุนรถ EV และการนำทะเบียนรถเก่ามาแลกรถใหม่ จำกัดการเพิ่มขึ้นของรถ เพื่อให้รถเก่าออกจากระบบ
6. การตรวจมลพิษในท่าเรือ (จากปลายท่อ) โดยแต่งตั้งให้ข้าราชการสังกัด กทม. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติการตามมาตรา 63 มาตรา 65 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษจากเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยทั่วราชอาณาจักร ในพื้นที่กรุงเทพฯ
ภาคอุตสาหกรรม
7. ติดตั้งเครื่องตรวจมลพิษ โรงงาน 236 แห่ง ต้องจัดทำรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากสถานประกอบกิจการที่มีหม้อไอน้ำ รวมทั้งให้ติดตั้ง CEMs (เครื่องตรวจวัดมลพิษปลายปล่อง) ทุกโรงงาน
8.ศึกษาผลกระทบจากโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อวิเคราะห์สารมลพิษและผลกระทบต่อสุขภาพ ตลอดจนการกำหนดมาตรการลดและควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็กและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสารมลพิษที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เมือง
9. ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกรุงเทพฯ เป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อให้อำนาจผู้ว่าฯ กทม. คง ลด ขจัดมลพิษได้เบ็ดเสร็จและทันท่วงที
10. เก็บภาษีสิ่งแวดล้อมจากผู้ก่อมลพิษ เร่งรัดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP) โดยขอให้เร่งรัดกระบวนการพิจารณาข้อบัญญัติกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … และเร่งรัดการประกาศใช้ต่อไป
11. ย้ายท่าเรือคลองเตย เพื่อลดปริมาณแหล่งกำเนิดมลพิษภาคการจราจรในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ
Advertisement