ดรามาป้ายรอรถเมล์ใหม่ กทม. ที่มุ่งมั่นเพื่อความเป็นมิตรกับคนเดินเท้า แต่กลับเจอเสียงวิจารณ์สนั่น ส่องป้ายรถเมล์ทั่วโลกเขาเป็นอย่างไร?
เพิ่งติดตั้งไปได้ไม่นาน ก็เกิดนานาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นแล้ว สำหรับศาลาที่พักผู้โดยสารฯ หรือ ป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ของ กทม. ที่มุ่งมั่นเพื่อความเป็นมิตรกับคนเดินเท้า ตั้งเป้า 300 แห่งทั่วเมือง
เมื่อ นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการติดตั้งศาลาที่พักผู้โดยสารฯ รูปแบบใหม่ว่า กรุงเทพมหานครโดยสำนักการจราจรและขนส่ง ได้ดำเนินการติดตั้งศาลาที่พักผู้โดยสารฯ รูปแบบใหม่ ซึ่งมีจุดเด่นสามารถเลือกติดตั้งได้เหมาะสมกับกายภาพและข้อจำกัดของพื้นที่ที่แตกต่างกัน ไม่กีดขวางและลดผลกระทบต่อผู้ใช้ทางเท้า โดยมีการออกแบบให้มีความเรียบง่าย โปร่งสบาย ติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างพร้อมข้อมูลสายรถประจำทางที่ให้บริการ รวมทั้งเตรียมพื้นที่รองรับ Function เพื่อเป็น Smart Bus Shelter ในอนาคต ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวก ความปลอดภัย เป็นการส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น
ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ แบบแรก Type M (C2) ขนาด 2x3 เมตร มีจำนวน 3 ที่นั่ง
และแบบ Type L (C3) ขนาด 2x6 เมตร มีจำนวน 6 ที่นั่ง
โดยในปีงบประมาณ 2566 ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 30 หลัง ปีงบประมาณ 2567 ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 60 หลัง อยู่ระหว่างก่อสร้าง 29 หลัง และปีงบประมาณ 2568 ได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง 300 หลัง ทั่วกรุงเทพมหานคร
ก่อนจะเกิดนานาเสียงวิจารณ์ อาทิ คุณลักษณะไม่เหมาะสมกับราคาก่อสร้าง เก้าอี้ต่ำ-ติดกันเกินไม่รองรับกับการใช้งานโดยเฉพาะผู้สูงอายุ หลังคากันฝนสาดที่ไม่น่ากันได้ สิ่งสำคัญที่ควรมีอย่างจอแสดงผลสายรถเมล์ที่จะมาถึง กลับหายไป เป็นต้น
ก่อนทาง กทม. จะออกมาชี้แจงงบจัดสร้างรวมการรื้อของเก่า เดินไฟฟ้า รางระบายน้ำ ปูพื้นใหม่ ย้ำจัดซื้อจัดจ้างตามหลักเกณฑ์และราคาต่ำลงหลัง e-bidding
ประเด็นนี้ นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง เปิดเผยถึงกรณีการติดตั้งศาลาที่พักผู้โดยสารรูปแบบใหม่ว่า ปัจจุบัน กทม. ได้ดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ Type M ขนาด 2.30 ม. x 3.00 ม. มีจำนวน 3 ที่นั่ง ราคาประมาณหลังละ 230,000 บาท และ Type L ขนาด 2.30 ม. x 6.00 ม. มีจำนวน 6 ที่นั่ง ราคาประมาณหลังละ 320,000 บาท ทั้งนี้งบประมาณที่ใช้ดำเนินการก่อสร้างครอบคลุมงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค งานฐานรากคอนกรีตเสริมเหล็ก งานเชื่อมประกอบโครงสร้างเหล็ก งานหลังคา Metal sheet งานรางน้ำ งานม้านั่ง งานระบบไฟฟ้าแสงสว่างภายใน และงานบรรจบไฟฟ้าสาธารณะกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นต้น
นายสิทธิพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ราคาค่าก่อสร้างศาลารถโดยสารรูปแบบใหม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเมื่อประกวดราคาอิเล็คทรอนิกส์ (e-bidding) ราคาจึงต่ำลงอีก นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่มทั้งผู้รอรถโดยสาธารณะและผู้ใช้งานทางเท้า ด้วยแนวคิด “ศาลารอรถเมล์ใหม่สำหรับทุกคน” จึงออกแบบใหม่รองรับการใช้งานของผู้พิการ (Universal Design) มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถบังแดดบังฝนด้วยหลังคาขนาดใหญ่และแผ่นอะคริลิกใสด้านหลัง มีพื้นที่นั่งคอยเหมาะสม สวยงามกลมกลืน ไม่บดบังทัศนียภาพ ไม่สร้างจุดอับสายตา และที่สำคัญคือออกแบบโดยคำนึงถึงการประหยัดพื้นที่ทางเท้า ไม่กีดขวางทางเดิน กระทบผู้ใช้งานทางเท้า การก่อสร้างแต่ละจุดจึงจำเป็นต้องรัดกุมเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคใต้ดินและแนวหน้าร้านของเอกชน ซึ่งล้วนมีรายละเอียดและข้อจำกัดที่แตกต่างกันและต้องใส่ใจอย่างมาก
“รถโดยสารสาธารณะเป็นรูปแบบการเดินทางหลักของคนกรุงเทพมหานคร รวมถึงผู้มีรายได้น้อยและนักเรียน-นักศึกษา ปัจจุบันมีการใช้งานมากกว่า 7-9 แสนเที่ยวต่อวัน การพัฒนาศาลารอรถเมล์เป็นหนึ่งในหัวใจในการดึงดูดให้ประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะ ควบคู่การเพิ่มป้ายหยุดรถโดยสารในจุดที่ขาด และการบอกข้อมูลการเดินทางและระยะเวลารอรถโดยสาร ซึ่งอยู่ระหว่างการขอข้อมูล GPS รถโดยสารสาธารณะจากกรมการขนส่งทางบกอีกด้วย” นายสิทธิพร กล่าว
จากดรามาป้ายรอรถเมล์ไทย ส่องป้ายรถเมล์ทั่วโลกเป็นอย่างไร?
อินสตาแกรม Bus Stops Around The World (@busstopsaroundtheworld) ได้ทำการรวบรวมป้ายรอรถเมล์จากหลายที่ในหลายประเทศทั่วโลกเอาไว้ แต่ละที่จะเป็นอย่างไรนั้น มาดูกัน
เมือง Locarno ทางตอนใต้ของสวิตเซอร์แลนด์ ป้ายรถเมล์ที่กั้นคอกสีใสทั้งด้านหลังและด้านข้าง เปิดด้านหน้า เหมาะสำหรับยืนมากกว่านั่ง หลังคาเป็นหลังคาทรงครึ่งวงรี สีใส
ป้ายรถเมล์ใน Changuinola บนเขตชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือกับคอสตาริกา ป้ายรถรถลักษณะเพิงหมาแหงน ไม่มีที่กั้น ปล่อยโล่งรอบด้าน มีที่นั่งเป็นรูปตัวยู (U)
ป้ายรถเมล์ Tatranská Štrba ในประเทศสโลวาเกีย ป้ายรอรถเมล์ที่มีลักษณะคล้ายห้องเล็กๆ เปิดด้านหน้า หลังคาลูกฟูกประกบเป็นมุมสามเหลี่ยม โดยด้านหนึ่งพาดลงมาถึงพื้น การออกแบบเพื่อรักษาฝนตกหนักและหิมะตก
ป้ายรถเมล์ในเมือง Case Noyale ในมอริเชียส ป้ายรอรถเมล์ที่มีการก่อด้วยหินเป็นกำแพงด้านหลังของที่นั่ง ซึ่งมีขนาดเล็ก ตั้งเสากลมทั้ง 4 มุมเป็นฐานหลังคาที่เป็นแผ่นหินทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ป้ายรถเมล์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกาฐมาณฑุระหว่างทางไป Bhaktapur ป้ายรถเมล์ที่ก่อตั้งอย่างเรียบง่าย มีเสาเพียงสองต้น และหลังคาที่เป็นทรงครึ่งวงรี
ป้ายรถเมล์ระหว่างทางไป Shymbulak, อัลมาตี เมืองในคาซัคสถาน ป้ายรอรถเมล์ที่ถือว่ามีขนาดกว้างมาก 2 ช่วงติดกัน ช่วงหนึ่งติดตั้งเสากลมทั้ง 4 มุม ด้านบนเป็นแผ่นปูนยกขอบ ส่วนอีกช่วงใช้เสากลม 2 เสา อีกเสาเป็นเสาทรงสีเหลี่ยมทะลุขึ้นบนแผ่นปูนที่เป็นหลังคา
ป้ายรถเมล์ ใกล้ Toqi Talpak Bukhara ในอุซเบกิสถาน ป้ายรถเมล์ที่แสนจะมินิมอลและกะทัดรัด ม้านั่งตัวยาวนั่งได้ประมาณ 5-6 คน ด้านหลังกั้นด้วยกระจกสีเหลืองเข้ากับม้านั่ง หลังคามีขนาดเท่ากับพื้น
ป้ายรถบัสโซเวียตระหว่าง Bokonbayevo และชายฝั่งทะเลสาบ Issyk-Kul ป้ายรถเมล์ที่มีความเก่าแก่ หลังคาทรงเรือกระดาษ ตั้งบนเสาสามต้น ตัวคอกก่อสร้างด้วยอิฐเรียงชั้นความสูงครึ่งหนึ่งของเสา ด้านหน้ามีเสารูปตัว Y ใช้ในการยึดค้ำยันหลังคาอีกจุด ไม่มีม้านั่งสำหรับผู้โดยสาร
ป้ายรถเมล์ที่ Medeu ใน อัลมาตี, คาซัคสถาน ศาลารอรถเมล์ทรงกลม 5 เหลี่ยม ที่สร้างจากไม้ หลังคาด้านบนเป็นแผ่นวงกลมขนาดใหญ่ ตัวศาลาเปิดช่องโล่งรับลมได้ทุกด้าน
ป้ายรถเมล์ Cimetière Sud ใน Clichy-la-Garenne ฝรั่งเศส ป้ายรถรถเมล์ที่ ประกอบด้วยเสา 2 ต้น ด้านบนเป็นหลังคาสีเหลี่ลมกันแดดกันฝนแบบง่ายๆ
ป้ายรถเมล์ใน Susice, Olomoucký Kraj, สาธารณรัฐเช็ก ป้ายรถเมล์ที่ออกแบบเป็นห้องเล็กๆ ที่สามารถกันแดดกันฝนได้เป็นอย่างดี มีหน้าต่างรอบด้าน เพื่อให้ผู้โดยสารที่นั่งรอรถอยู่ด้านใน มองเห็นข้างนอกได้
ป้ายรถเมล์ใน Holešov ในภูมิภาค Zlín ของสาธารณรัฐเช็ก บนถนนจาก Přerov ไป Zlín ป้ายรถเมล์ที่ออกแบบมาเพื่อกันแดดกันฝนให้ผู้ใช้บริการ ผนังด้านข้างเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ให้มุมแหลมอยู่ด้านบน เพื่อประกบรับกับหลังคา มีม้านั่งให้นั่งรอ
ป้ายรถเมล์ใน La Condesa, Mexico City ใกล้กับ Castillo Chapultepec ป้ายรถเมล์ที่เปิดโล่งทั้งด้านข้างและด้านหน้า มีหลังคากันแดดกันฝน พร้อมม้านั่งที่ความจุประมาณ 2-3 คนเท่านั้น
ป้ายรถเมล์กลางเมืองเปอร์โต เอสคอนดิโด เมืองท่าและศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเม็กซิโก ป้ายรอรถเมล์ที่ออกแบบอย่างเรียบง่ายไม่มีความซับซ้อน ด้วยฐานเสา 2 ต้น ยึดกับหลังคา ม้านั่งมีความยาวขาดเท่ากับความยาวหลังคา
ป้ายรถเมล์ Croydon ใน ลอนดอนใต้ ป้ายรถเมล์ที่เปิดโล่งด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้างเป็นกระจกใส เพื่อให้มองเห็นทัศนียภาพและรถเมล์ที่กำลังจะเข้ามาจอดรับได้ มีหลังคากันแดดกันฝน พร้อมม้านั่งขนาดนั่งได้ 2-3 คนเท่านั้น
ป้ายรถเมล์บนถนน Karasuma-dori ในเกียวโต ระหว่างทางไปใจกลางเมือง จากสถานีรถไฟ มินิมอลสมกับความเป็นญี่ปุ่น ด้วยเสาสองต้น และหลังคาที่ยื่นออกมาเพื่อบังแดดและฝน มีม้านั่งเล็กๆ ให้นั่งรอรถ แต่ส่วนใหญ่จะยืนรอเพราะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่รถเมล์มาตรงเวลามากที่หนึ่ง
ป้ายรถเมล์รับ-ส่งที่สนามบินแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ป้ายรถเมล์ที่เปิดโล่งด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้าง เพื่อให้มองเห็นทัศนียภาพและรถเมล์ที่กำลังจะเข้ามาจอดรับได้ มีหลังคากันแดดกันฝนทรงครึ่งวงรี ที่ ตั้งขนานยื่นไปข้างหน้า
ป้ายรถเมล์ Kutaisi ในจอร์เจีย ป้ายรถเมล์โครงสร้างง่ายๆ ที่ขึ้นตัวโครงเสาหลังคาด้วยป้ายบอกข้อมูลเป็นผนังยึดกับหลังคา ด้านข้างทั้งสองฝั่ง ม้านั่งมีครึ่งหนึ่งของตัวป้าย อีกข้างเว้นไว้ให้สามารถเดินเข้าออกได้
ส่วนที่อื่นเป็นอย่างไรอีกนั้น สามารถเข้าไปดูได้ที่อินสตาแกรม @busstopsaroundtheworld แล้วจะได้รู้ว่าแต่ละประเทศมีป้ายรอรถเมล์รถบัสกันอย่างไร
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือป้ายรถเมล์จะต้องตอบสนองต่อผู้ใช้งานให้มากที่สุด เพราะยังมีผู้คนที่ยังคงต้องพึ่งพาการใช้งานขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะรถเมล์เป็นหลัก เนื่องจากราคาไม่แพง แม้จะต้องเจอกับปัญหาสารพัดก็ตาม
Advertisement