นับตั้งแต่เข้าปี 2568 บนหน้าสื่อปรากฎข่าวการแหกคุก-หลบหนีของนักโทษมาแล้วหลายครั้ง โดยรายแรกของปี เป็นนักโทษคดียาเสพติด ซึ่งเป็นผู้ต้องขังชายเรือนจำชั่วคราวห้วยกลั้ง สถานกักขังอำเภอหลังสวน ตำบลวังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ได้หลบหนีออกจากเรือนจำ ทั้งที่ใกล้จะพ้นโทษในอีกไม่กี่เดือน ก่อนจะถูกจับตัวได้
รายที่สอง เป็นนักโทษชายชั้นดีในทัณฑสถานเกษตรและอุตสาหกรรมเขาพริก อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ที่มีกำหนดจะพ้นโทษในเดือน เม.ย. 2568 แต่กลับก่อเหตุหลบหนีระหว่างออกมาบำเพ็ญประโยชน์นอกเรือนจำเสียก่อน
รายที่สาม ก็ยังเป็นนักโทษชายชั้นดี ที่ก่อเหตุหลบหนีขณะออกมาทำงานด้านนอกเรือนจำนนทบุรี โดยไปหาแม่แล้วขี่จยย. ของแม่ พร้อมนำโทรศัพท์แม่ออกไปด้วย ซึ่งปมเหตุคาดว่ามาจากปัญหาครอบครัว ที่เมียหนีไปมีสามีใหม่ ก่อนจะถูกจับตัวได้ที่บางแสน
และรายล่าสุดเกิดขึ้นที่เรือนจำกลางนครราชสีมา นักโทษชายจากคดีครอบครองยาเสพติดแหกคุกโดดหลังคา 3 ชั้นหลบหนีออกไป ก่อนจนมุมถูกจับตัวได้ในที่สุด
นักโทษแหกคุก หากถูกจับตัวได้จะต้องโดนโทษอะไรเพิ่มบ้าง?
นักโทษที่ถูกจับได้หลังแหกคุกหลบหนี จะมีโทษเพิ่มเป็น “กรณีหลบหนี” ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 190 ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดดังกล่าวมาในวรรคแรกได้กระทำโดยแหกที่คุมขัง โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืน หรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง
และจะมีประวัติจากการแหกคุกติดตัวเพิ่ม ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาลดโทษ
นอกจากนี้ยังจะต้องถูกพิจารณาโทษ ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับการกำหนดโทษของผู้ต้องหาที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของเรือนจำ กำหนดไว้ในหมวด 7 วินัยและบทลงโทษ ว่าด้วย มาตรา 68 ผู้ต้องขังผู้ใด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานเรือนจำ ข้อบังคับ เรือนจำหรือระเบียบกรมราชทัณฑ์ ให้ถือว่าผู้ต้องขังผู้นั้นกระทำผิดวินัย มาตรา 69 เมื่อผู้ต้องขังกระทำผิดวินัย จะถูกลงโทษสถานหนึ่งสถานใด ดังต่อไปนี้
1) ภาคทัณฑ์
2) งดการเลื่อนชั้นโดยมีกำหนดเวลา
3) ลดชั้น
4) ตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนหรือติดต่อไม่เกิน 3 เดือน เว้นแต่เป็นกรณีการติดต่อกับทนายความตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการติดต่อของผู้ต้องขังหญิงกับบุตรผู้เยาว์
5) ลดหรืองดประโยชน์และรางวัลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือบางอย่าง
6) ขังเดี่ยวไม่เกิน 1 เดือน
7) ตัดจำนวนวันที่ได้รับการลดวันต้องโทษ
ในกรณีและเงื่อนไขอย่างใดจะลงโทษดังระบุไว้ในวรรคหนึ่ง การดำเนินการพิจารณาลงโทษ การลงโทษ การเพิกถอน เปลี่ยนแปลง งด หรือรอการลงโทษ และการอุทธรณ์ รวมทั้งผู้มีอำนาจในการ ดำเนินการดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 70 ในกรณีที่ผู้ต้องขังได้กระทำความผิดอาญาขึ้นภายในเรือนจำและความผิดนั้นเป็นความผิดลหุโทษ ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ของเรือนจำ ความผิดตามมาตรา 73 หรือความผิดฐานพยายามหลบหนีที่คุมขัง ให้ผู้บัญชาการเรือนจำมีอำนาจวินิจฉัยลงโทษฐานผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้และจะนำเรื่องขึ้นเสนอต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนหรือฟ้องร้องตามกฎหมายด้วยก็ได้ ความผิดตามวรรคหนึ่ง ที่ผู้บัญชาการเรือนจำจะใช้อำนาจวินิจฉัยลงโทษทางวินัย ให้เป็นไปตาม ระเบียบกรมราชทัณฑ์โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ความในมาตรานี้ไม่ตัดสิทธิของเอกชนที่จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่งตามกฎหมาย
หลักปฏิบัติเมื่อจับกุมตัวผู้ต้องขังหลบหนีได้
เมื่อมีการจับกุมผู้ต้องขังที่หลบหนีได้ หรือจะเป็นการกลับเข้ามามอบตัวของผู้ต้องขังหลบหนีโดยตรง จะมีการดำเนินการดังนี้
1) ให้เรือนจำ/ทัณฑสถาน บันทึกข้อมูลผู้ต้องขังและสาเหตุการหลบหนีตามแบบ เก็บข้อมูลรายตัวผู้ต้องขังหลบหนีจับตัวได้ (แบบ ร.ท. 32/1) แล้วรายงานการ จับกุมหรือการเข้ามอบตัวของผู้ต้องขังต่อเจ้าหน้าที่ไปยังกรมราชทัณฑ์
2) ให้เรือนจำ/ทัณฑสถาน แจ้งของดสืบจัดไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถานีตำรวจภูธรที่ได้ส่งสำเนาหมายสืบจับไปแล้ว
3) แจ้งพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องขังที่หลบหนี ฐานหลบหนีการที่คุมขัง
4) ดำเนินการพิจาณาโทษทางวินัยแก่ผู้ต้องขังที่หลบหนี
5) บันทึกการจับกุมตัวไว้ในทะเบียนกำกับตัวผู้ต้องขังหลบหนี (ร.ท.33)
6) ดำเนินการคำนวณวันพ้นโทษโดยการนับโทษจำคุกคดีความผิดฐานหลบหนี จากที่คุมขังต่อจากกำหนดโทษคดีเดิม หรือตามคำสั่งศาล
7) ต้องจัดแก้หมายเหตุในทะเบียนต่างๆ ที่ลงจำหน่ายการหลบหนีไว้ให้ถูกต้อง 8) เมื่อเรือนจำรับตัวผู้ต้องขังที่จับกุมตัวได้จะต้องจัดให้มีการตรวจร่างกายโดย แพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ หากมีบาดแผลซึ่งเกิดจาการหลบหนีจะต้องให้ ผู้ต้องขังลงลายมือชื่อไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
อย่างไรก็ตาม แรงจูงใจถึงสาเหตุการหลบหนีของนักโทษเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเพราะอยากได้รับอิสรภาพ อยากกลับไปหาครอบครัว และบางส่วนกระทำเพื่อให้ได้รับโทษเพิ่ม เพื่อจะได้อยู่ในเรือนจำต่อไป ส่วนการที่นักโทษหลบหนีออกไปได้ ก็สะท้อนความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ ที่อาจยังเผลอเรอและไม่รัดกุมพอในการทำหน้าที่
Advertisement