ย้อนรอย 34 ปี รถแก๊สพลิกคว่ำระเบิด ถนนเพชรบุรี ดับสลด 88 ศพ ต้นเหตุโศกนาฏกรรมเกิดจากรถบรรจุแก๊สไม่ได้มาตรฐาน
คืนวันที่ 24 กันยายน 2533 เวลาประมาณ 22.10 น. เกิดเหตุไม่คาดฝันเมื่อรถบรรทุกแก๊ส 2 ถัง บรรจุก๊าซ LPG กว่า 40,000 ลิตร พลิกคว่ำบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
ถังแก๊สขนาดใหญ่ 2 ถัง หลุดออกจากตัวรถและปริแตก เวลาเพียงไม่กี่วินาทีก็เกิดเสียงระเบิด ถนนเพชรบุรีตัดใหม่กลายเป็นทะเลเพลิงในทันที ไฟโหมไหม้ไปทั้งทาง และชุมชนใต้ทางด่วนเปลวเพลิงได้ปะทุสูงราวตึก 3 ชั้น แผดเผาทุกสิ่งที่ขวางหน้า อย่างไม่ทันตั้งตัว ความชุลมุนและโกลาหลเกิดขึ้นในทันที
รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ที่ติดรอสัญญาณไฟจราจรอยู่ตรงนั้น ติดไฟลุกไหม้ไปทั่วทั้งถนน เจ้าของรถไม่มีโอกาสได้หนีถูกไฟเผาเกรียมไปพร้อมกับรถด้วยสภาพน่าอนาถ ส่วนคนที่หนีออกมาได้ก็อยู่ในสภาพบาดเจ็บสาหัส
นายสมชาย เจริญอินพงศ์ เจ้าหน้าที่กู้ภัย มูลนิธิร่วมกตัญญู เล่าภาพสลดเหตุการณ์ในวันนั้นว่า "คนที่ถูกไฟคลอกเดินกางแขนกางขาออกมา ไฟลุกมาเลย มาขอความช่วยเหลือ ผมก็เอาผ้าห่อศพ จุ่มกับน้ำให้ชุ่มๆ แล้วก็ห่อตัวเขา อย่างแรกให้ไฟมันดับก่อน แต่ ผม-ลำตัว ไหม้หมดเลย ผมก็เอาเขาขึ้นรถจะไปส่ง รพ.ตำรวจ ขับไปๆ ก็ใกล้จะถึงรถแก๊สที่เห็นคือมันเกลื่อนไปหมดเลย"
"ผมแจ้งไปยังประธานมูลนิธิฯ หัวหน้าแผนก เขาก็แจ้งมาทาง ว. ว่าให้ช่วยคนเจ็บก่อน ผมก็พยายามเอาคนที่รู้สึกตัว คนไหนที่ยังไม่ตายเราก็เอาขึ้นรถเลย ใส่เต็มรถเลย"
"คิดดูนะเราเอาคนเจ็บขึ้นรถไปแล้วนะ เราเลยไปแป๊บนึงเสียงระเบิดตามหลังเลย ตึ้ม ตึ้ม ผมก็กลับมาใหม่ ทีนี้ก็คนตายเยอะ แต่ผมว่าคนที่ตายส่วนใหญ่จะขี่มอเตอร์ไซค์แล้วติดไฟแดง แล้วคนที่ติดไฟแดงจะมาทางเพชรบุรีจะไปมักกะสัน มอเตอร์ไซค์มันอยู่ข้างหน้าใช่ไหมส่วนมาก ก็เกลื่อนเลย แล้วบางทีที่อยู่ในรถติดไฟแดงที่เขาไม่รู้ตัวก็ตายในรถก็มี"
"พอรถดับเพลิงมาก็ฉีดน้ำเลี้ยงๆ แล้วในตึกมันมีอีกไง แต่ผมไม่คิดว่าจะมีคนตาย ตึกที่รถแก๊สไปพิงรั้ว มันก็มีคนตายในตึกอีก ขึ้นไปก็เห็นเต็มเลย เหมือนไฟคลอกพวกแก๊สก็รู้อยู่ มันแรงและเร็ว พอเปิดประตูเข้าไปก็เกลื่อนเลย หลายศพ"
"คุณหญิง" เหยื่อเหตุการณ์รถแก๊สระเบิด ในขณะเธออายุเพียง 13 ปี แม้รอดชีวิตแต่สูญเสียทั้งพ่อและแม่
เธอเล่าว่า "กำลังนอนหลับอยู่ในบ้าน ในชุมชนใต้ทางด่วน ตอนนั้นมันเหมือนฝัน อย่างว่าเราเด็กยังไม่รู้เรื่อง เราก็วิ่งออกมา หันมาอีกทีจะวิ่งไปช่วยพ่อกับแม่แต่ว่ามันก็ไม่ทันแล้ว มันระเบิด ตกใจมาก มองไปทางไหนก็มืดไปหมดเพราะไฟมันตัด ไม่เห็นว่าใครเป็นใคร ตัวเราเองโดนไฟไหม้ยังไม่รู้ตัวเลย พี่สาวมาจับตัวหนังมันติดมือไปเลย"
ตึกสองฟากถนนถูกไฟลุกไหม้และลุกลามขึ้น ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ๆ หอพักสตรีเพชรที่อยู่ตรงหัวมุมริมถนนใกล้กับถังแก๊สที่คว่ำที่สุดได้รับความเสียหาย อย่างหนักมีผู้เสียชีวิตติดค้างอยู่ข้างในอีกหลายศพ ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น รวมทั้งชุมชนแออัดใต้ทางด่วนต่างพากันวิ่งหนีเอาชีวิตรอดอย่างยากลำบากไฟแดงฉานยังโหมปะทุพวยพุ่งไม่หยุด
สภาพปัจจุบันบริเวณที่เกิดเหตุ ปากซอยเพชรบุรี 37 การสัญจรยังหนาแน่นแต่ก็ดูยังปกติซึ่งก็ยังไม่มีอุบัติเหตุครั้งไหนรุนแรงเท่ากับรถแก๊สระเบิดเมื่อปี 2533 ส่วนที่ตั้งของหอพักสตรีเพชรที่ถูกไฟไหม้เสียหายเกือบทั้งมดในตอนนั้น ตอนนี้เหลือเพียงที่ว่างกั้นกำแพงสูงอยู่หัวมุมถนนใต้ทางด่วน คนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ยังจดจำโศกนาฏกรรมครั้งนั้นไม่เคยลืม
ลุงร้านข้าวผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ได้ยินเสียงดัง ตึ้ม!!! ลุงก็ออกไปช่วยเขา เห็นคนไฟลุกท่วมตัวเลย เขาร้องช่วยด้วยๆ เราก็ไปช่วยเขาก็รอด ผ่านไปเดือน สองเดือนยังนอนไม่หลับ มันระแวง มันติดตา ไปไหนเห็นรถแก๊สนำหน้าเรายังกลัวเลย
อุบัติเหตุครั้งนั้นคร่าชีวิตคนไป 88 ศพรวมถึง นายสุทัน ฝักแคเล็ก คนขับรถแก๊สด้วย จากการตรวจสอบสภาพของรถแก๊สมรณะพบว่าไม่ได้มาตรฐาน ตามที่กฎหมายกำหนด
ใจความสำคัญในสำเนาคำพิพากษา คดีรถแก๊สระเบิด คือเรื่องมาตรฐานตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ในขณะนั้น โดยพนักงานอัยการ กรมอัยการ เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท อุตสาหกรรมแก๊สสยาม จำกัด และ นายวรวิทย์ วีรบวรพงศ์ ในความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน และความผิดต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 18
กรมโยธาธิการ ตรวจสอบรถคันเกิดเหตุพบว่า ถังแคปซูล 2 ถัง มีข้อความภาษาอังกฤษ ระบุว่าเป็นถังที่ใช้สำหรับติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งจะนำมาติดตั้งบนรถยนต์ไม่ได้ แต่รถยนต์คันดังกล่าวกลับนำถังมาติดตั้งโดยใช้แผ่นเหล็ก 3 เส้นรัดถังเข้ากับตัวรถซึ่งไม่ได้ผ่านการตรวจรับรองจากกรมโยธาธิการ เมื่อรถพลิกคว่ำแผ่นเหล็กทั้ง 3 เส้นขาดหลุดจากตัวรถทำให้ถังบรรจุก๊าซ LPG ที่ไม่ได้ติดตั้งลิ้นควบคุมการไหลที่ตัวถังกับท่อจ่ายก๊าซที่ทำหน้าที่ปิดไม่ให้ก๊าซไหลออกจากถังในอัตรามากกว่าปกติ จึงไม่ถูกต้องตามประกาศของกรมโยธา
ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ พิพากษาให้ นายวรวิทย์ วีรบวรพงศ์ และบริษัทฯ จ่ายค่าปรับ 20,000 บาท โทษจำคุก 5 ปี แต่ศาลฎีกาพิพากษาแก้ ลดโทษจำคุกเหลือ 2 ปี ให้รอลงอาญา 3 ปี ปรับ 20,000 บาท เนื่องจากจำเลยแสดงความรับผิดชอบด้วยการเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเป็นเงินกว่า 200 ล้านบาท
เป็นอีกเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดจากความประมาทจนทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วเราคงย้อนเวลากลับไปไม่ให้มันเกิดไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้แน่ๆ คือการใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท
Advertisement