20 กุมภาพันธ์ ครบรอบ 68 ปี ถนนมิตรภาพ ถนนสายประวัติศาสตร์ เชื่อมสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน ไทย-สหรัฐอเมริกา
ถนนมิตรภาพ เป็นชื่อเรียกของ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 หรือ ทางหลวงสายสระบุรี–สะพานมิตรภาพจังหวัดหนองคาย (เขตแดนไทย/ลาว) เป็นหนึ่งในทางหลวงสายประธานทั้งสี่ของประเทศไทย โดยเริ่มต้นที่จังหวัดสระบุรี มุ่งเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย มีระยะทางทั้งสิ้น 509 กิโลเมตร และเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเอเชียสาย 12
คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ตั้งชื่อถนนช่วงสระบุรี–ปากช่อง–นครราชสีมาว่า "ถนนสุดบรรทัด" และในช่วงนครราชสีมา–ขอนแก่น–อุดรธานี–หนองคายได้รับการตั้งชื่อถนนว่า "ถนนเจนจบทิศ" เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ก่อนที่จะได้รับการสนันสนุนการก่อสร้างจากสหรัฐ ซึ่งเริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2498 จากสระบุรีจนถึงนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 148 กิโลเมตร
ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ให้ถนนเส้นนี้ว่า "ถนนมิตรภาพ" เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เพื่อแสดงถึงมิตรภาพของประเทศไทยกับสหรัฐในการก่อสร้างถนนร่วมกัน เนื่องจากถนนมิตรภาพเป็นทางหลวงที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางสหรัฐในด้านงบประมาณการก่อสร้าง เทคนิควิชาการในการก่อสร้าง นับเป็นทางหลวงสายแรกที่ก่อสร้างถูกต้องตามแบบมาตรฐานการก่อสร้างทางหลวงทุกขั้นตอน และเป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทยที่มีผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟอลต์คอนกรีต โดยมีพิธีมอบถนนให้ประเทศไทย ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2501
ต่อมาได้สร้างช่วงต่อจากนครราชสีมาจนถึงหนองคายในปี พ.ศ. 2504 ระยะทาง 360 กิโลเมตร สายนี้รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐ (USOM) พร้อมทั้งได้จ้างผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันมาช่วยให้คำแนะนำด้วย ส่วนการออกแบบและการก่อสร้างอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมทางหลวง ส่วนใหญ่สร้างทับแนวถนนที่มีอยู่เดิม ยกเว้นช่วงนครราชสีมา–บ้านไผ่ ที่แนวถนนเดิมคดเคี้ยวและอยู่ในสภาพชำรุด จึงสร้างแนวถนนขึ้นใหม่ เพราะย่นระยะทางลงกว่า 30 กิโลเมตร (ปัจจุบันเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 207 และ 2440) สายนี้เริ่มเปิดใช้เมื่อ 28 มกราคม พ.ศ. 2508
หลักกิโลเมตรของถนนมิตรภาพ ปัจจุบันเริ่มต้นกิโลเมตรที่ 0 ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งเดิมจะนับกิโลเมตรที่ 0 จากกรุงเทพมหานครตามหลักกิโลเมตรของถนนพหลโยธิน ถนนมิตรภาพตลอดสาย มีระยะทางทั้งสิ้น 509 กิโลเมตร แต่ถ้าหากนับเลขหลักกิโลเมตรตามถนนพหลโยธินจากกรุงเทพมหานครขึ้นมา จะมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 615 กิโลเมตร ปัจจุบันถนนมิตรภาพตลอดสาย (รวมทั้งส่วนที่ไปสะพานมิตรภาพไทย-ลาวด้วย) ถูกกำหนดให้เป็นทางหลวงเอเชียสาย 12
ถนนมิตรภาพ เป็นทางหลวงสายประธานสายเดียวที่ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งแยกมาจากถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 106+615 ที่ทางแยกต่างระดับมิตรภาพ ตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี (ระยะทาง 35.772 กม.) มุ่งเข้าสู่จังหวัดนครราชสีมา (ระยะทาง 215.527 กม.) ต่อด้วยจังหวัดขอนแก่น (ระยะทาง 138 กม.) จังหวัดอุดรธานี (ระยะทาง 97.5 กม.) และเข้าสู่จังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดสุดท้าย (ระยะทาง 22.807 กม.)
เดิมทีถนนมิตรภาพเป็นถนนแบบ 2 ช่องทางจราจรเท่านั้น แต่ปัจจุบันเป็นถนนแบบ 4-10 ช่องทางจราจร โดยเริ่มมีการขยายถนนเป็นถนนแบบ 4 ช่องทางจราจรเมื่อสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยในช่วงตั้งแต่ทางแยกต่างระดับมิตรภาพ-ทางรถไฟสายตะวันออก ทางแยกต่างระดับตาลเดี่ยว-ทับกวาง หน้าโรงงานปูนซีเมนต์นครหลวงบางช่วง ทางแยกต่างระดับสีคิ้ว-ตัวเมืองนครราชสีมา ในเมืองนครราชสีมาบางช่วง และในเขตเทศบาลนครขอนแก่นบางช่วงเป็นถนนขนาด 10 ช่องจราจร
การก่อสร้างถนนมิตรภาพก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นแก่ความเจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจและสังคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ยังพัฒนาความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศลาวอีกด้วย ดังคำกล่าวของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวไว้เมื่อปี พ.ศ.2508 ว่า
"ถนนหนทางมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ในท้องถิ่นใดก็ตามที่มีถนนไปถึง ความเจริญของท้องที่ การเพิ่มพูนขยายตัวของการทำมาหากินและรายได้ของประชาชนก็ย่อมจะบังเกิดเป็นเงาตามตัวมาด้วย ทางหลวงสายนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อมวลชนและทรัพยากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างมาก เพราะจะช่วยเชื่อมชุมนุมชน ไร่นา และตลาดในท้องที่สำคัญๆ หลายแห่ง ให้ใกล้ชิดติดต่อกัน และจะเปิดทางเพื่อการพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ดังเช่นที่ประจักษ์อยู่แล้ว ในความเจริญทางเศรษฐกิจที่บังเกิดขึ้นกับอาณาบริเวณถนนมิตรภาพในเวลาอันไม่นานมานี้"
ปัจจุบัน ถนนมิตรภาพ ยังคงเป็นเส้นทางสำคัญในการคมนาคม พี่น้องชาวอีสานยังคงใช้เส้นทางนี้ในการกลับบ้านเกิดเมืองนอน และยังเป็นเส้นทางที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่ง 4 จังหวัดที่ถนนมิตรภาพพาดผ่านถือครองมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 720,000 ล้านบาทต่อปี สมกับที่เป็น "ประตูสู่อีสาน " อย่างแท้จริง
Advertisement