จากกรณีเกิดเหตุ แผ่นดินไหว ศูนย์กลางในประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 ก.ม. เมื่อเวลา 13.20 น. วันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้หลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และ กทม. ที่เกิดเหตุการณ์ตึกของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่กำลังก่อสร้างเกิดถล่มลงมา เป็นเหตุทำให้มีคนงาน และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ขณะที่สังคมวิพาษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงปัญหาระบบการแจ้งเตือนภัยของไทยที่เป็นไปด้วยความล่าช้า
ต่อมาวันที่ 29 มี.ค. 68 นาย ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวถึงการแจ้งเตือนหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ล่าช้าว่า เกิดเหตุแผ่นดินไหวเวลาประมาณ 13.20 น. ทาง ปภ.ได้ส่งข้อมูลมาให้ กสทช. เวลาประมาณ 14.44 น. จากนั้นเวลา 14.45 น. เราเริ่มส่ง SMS แต่ SMS มีข้อจำกัด เพราะศูนย์ของคอลเซ็นเตอร์ที่จะส่งข้อความก็อยู่บนตึกเช่นกัน เมื่อแผ่นดินไหวก็ต้องลงจากตึก
อีกทั้งทางเทคนิคการส่ง SMS จะส่งได้ครั้งละไม่เกิน 2 แสนเบอร์ โดยต้องขีดวงพื้นที่ที่จะส่งก่อน ถึงจะส่งได้ 2 แสนเบอร์ โดยแต่ละค่ายมือถือมีลูกค้าประมาณ 50 ล้านเลขหมาย จึงต้องใช้เวลา ซึ่งจะไม่เหมือนระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติที่ กสทช.กำลังทำ เมื่อส่งข้อความจะได้พร้อมกันทั้งหมด แต่ตอนนี้ยังใช้ระบบเดิมที่ต้องส่งทีละเบอร์ และใช้เวลานานกว่า
“ระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติจะทำแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ของปี 2568 หรือประมาณเดือน มิ.ย.68 หากทำระบบเสร็จ ปภ.จะเป็นผู้ส่งข้อความได้เลย เราพร้อมจะกระจายสัญญาณให้อยู่แล้ว ตอนนี้จึงต้องใช้แผนสำรองด้วยการส่ง SMS แทน”
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า หากเกิดเหตุใหญ่ขึ้นอีก เรามีแผนสำรองด้วยการให้ใช้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจให้เตรียมตัว 24 ชม. เพื่อเตรียมพร้อมในกรณีเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก นอกจากนี้มีศูนย์สายลม วิทยุสมัครเล่น ให้ช่วยแจ้งเตือน และยังมี SMS ชั่วคราวที่จะช่วยส่งข้อความให้ก่อนในช่วงที่ ปภ.ยังทำระบบไม่แล้วเสร็จ
Advertisement