Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ทุจริตสะพัด ความเชื่อมั่นต่างชาติทรุด

ทุจริตสะพัด ความเชื่อมั่นต่างชาติทรุด

19 เม.ย. 68
13:44 น.
แชร์

ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจไทยที่ซบเซาตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา มีอีกหนึ่งตัวเลขที่เป็นการตอกย้ำสภาพเศรษฐกิจไทย นั่นก็คือ “ดัชนีการรับรู้การทุจริต” สำหรับประเทศไทยมีคะแนนในปี 2567 อยู่ที่ 34 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งลดลงจากปี 2566 จำนวน 1 คะแนน สะท้อนภาพของการทุจริตคอร์รัปชันในไทยที่กำลังย่ำแย่ลง

รายการ SPOTLIGHT Anti Corruption Season 3 ในตอนนี้ พาทุกคนไปเจาะลึกปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แล้วเราจะสามารถยกระดับคะแนน CPI ของประเทศให้ดีขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่

CPI กระจกสะท้อนภาพลักษณ์ไทยในเวทีโลก

CPI หรือ “ดัชนีการรับรู้การทุจริต” ถูกสำรวจโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ซึ่งหลายคนเปรียบดัชนีนี้เป็นกระจกสะท้อนภาพลักษณ์ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ขณะที่นักลงทุนก็ใช้ดัชนีนี้ในการประเมินความเสี่ยง และความน่าสนใจลงทุนของประเทศนั้น ๆ เนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชัน ถือเป็น “ต้นทุน” หนึ่งในการประกอบธุรกิจ

การคอร์รัปชันในไทยเกิดขึ้นในหลากหลายกรณี อาทิ ระบบอุปถัมภ์ การรับสินบน ไปจนถึงกรณีข้าราชการระดับสูงเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย ล้วนส่งผลให้คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของไทยลดลง และกระทบต่อภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศ ไปจนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

นายพรหเมศร์ เบ็ญจรงค์กิจ ผู้อำนวยการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) บอกว่าหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติคำนึงถึงคือเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เนื่องจากถูกมองว่าเป็นต้นทุนหนึ่งในการลงทุน ขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับความเสี่ยงด้านภาพลักษณ์ และบทลงโทษจากประเทศแม่ที่กฎหมายมีความเข้มงวดด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ CAC มองว่าเรื่องนี้ไม่ได้กระทบเพียงภาพลักษณ์ของไทยที่เสียหายเท่านั้น แต่หากภาครัฐยังดำเนินการแก้ไขในรูปแบบเดิม ๆ และไม่มีแผนการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม อาจทำให้ระดับคะแนน CPI ของไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ซ้ำร้ายอาจย่ำแย่ลงไปอีก ทั้งจากการขาดความร่วมมือของภาคเอกชนในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และภาคประชาสังคมที่อ่อนแอลงเรื่อย ๆ จากการขาดการสนับสนุนในการแจ้งเบาะแส

ป.ป.ช. แนะหน่วยงานลดความซับซ้อน - ซ้ำซ้อน

นายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยอมรับว่าสถานการณ์การทุจริตด้านการลงทุนในไทยยังมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากกระบวนการลงทุนในประเทศไทยมีทั้งความซับซ้อนและซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงาน ความไม่ชัดเจนของขั้นตอนและกระบวนการ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่โปร่งใส ขณะที่กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุนยังล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับบริบททางการค้าในปัจจุบัน ทำให้รูปแบบการคอร์รัปชันส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการขออนุมัติอนุญาต

รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้ให้เห็นว่าในมุมมองของนักลงทุนไทยและต่างชาตินั้น การให้บริการของหน่วยงานภาครัฐยังมีความล่าช้า ทั้งการใช้เอกสารจำนวนมาก และการต้องติดต่อหลายหน่วยงาน อาจกลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อแลกกับการให้บริการที่รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมองว่าการจ่ายสินบนนั้นคุ้มค่า เพื่อแลกกับเวลาและโอกาสที่เสียไปจากการรอคอย

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ภาครัฐซึ่งเป็นผู้ให้บริการขาดคุณธรรมจริยธรรมในการปฏิบัติงาน เมื่อประกอบกับผู้ขอรับบริการภาคเอกชนบางกลุ่มขาดจริยธรรมในการทำธุรกิจ ระบบอุปภัมภ์ ระบบอิทธิพลในหน่วยงานรัฐ ทำให้เกิดสภาวะเต็มใจยินยอมร่วมกันทุจริต ซึ่งทำให้การแก้ไขตรวจสอบเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น และส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ท้ายที่สุด คือผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้ความเห็นว่าความโปร่งใสของระบบราชการมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะเรื่องความง่ายในการเข้ามาประกอบธุรกิจ (Ease of Doing business) ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติอยากเข้ามาลงทุนมากขึ้น อาทิ การเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีกฎหมายพิเศษที่ทำให้การขอจัดตั้งโรงงาน และการขออนุญาตต่าง ๆ ใช้เวลาน้อยกว่าปกติ

ทางด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่าหากประเทศไทยเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล คือมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับการทำงานก็จะช่วยสร้างความโปร่งใสในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนได้ รวมถึงการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ง่ายขึ้นก็จะสามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้เช่นกัน พร้อมกันนี้ยังได้ยกตัวอย่างจีนและเวียดนามที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ไปจนถึงการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้แก่คนรุ่นใหม่

แนวทางลดทุจริต ฟื้นความเชื่อมั่นต่างชาติ

สำหรับแนวทางในการลดคอร์รัปชันในภาคธุรกิจเพื่อสร้างความโปร่งใสและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาตินั้น รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่ามาตรการลดสินบนในกระบวนการอนุมัติอนุญาตเกี่ยวกับการค้าและการลงทุน จะเป็นมาตรการสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้การลงทุนเกิดความสะดวก โปร่งใส และตรวจสอบได้ อาทิ การนำระบบ IT มาใช้กับการขอใบอนุญาตต่าง ๆ เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ รวมทั้งการจัดทำศูนย์กลางใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว

นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. กำลังเตรียมลงพื้นที่ไปพบปะและรับรู้ปัญหาต่าง ๆ ของนักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในนิคมอุสาหกรรม เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อนำปัญหาและข้อเสนอแนะมาจัดสร้าง “โมเดลต้นแบบ” การให้บริการการขออนุมัติอนุญาตที่มีจัดการที่ดี เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ และลดปัญหาทุจริตในขั้นตอนการขอรับการลงทุนในอนาคต ไม่เพียงเท่านั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ยังกำลังดำเนินการเปิดช่องทางสื่อสาร และการแจ้งเบาะแสให้กับนักธุรกิจต่างชาติที่พบปัญหาทุจริตผ่านศูนย์ CDC อีกด้วย

Advertisement

แชร์
ทุจริตสะพัด ความเชื่อมั่นต่างชาติทรุด