นาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ถึงความฮอตของอาจารย์หนุ่มบุคลิกดี พูดจาฉะฉานสุขุม ไพเราะ แถมยังเป็นนักอาชญาวิทยา "ดร. ตฤณห์ โพธิ์รักษา" ที่มักถูกรับเชิญให้ไปออกรายการดังบ่อยครั้ง เพื่อให้ความเห็นในทางคดี พฤติกรรมผู้ต้องหา ผู้ถูกกระทำ บุคคลในข่าว หรือวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นดรามาของสังคม อมรินทร์ทีวี ออนไลน์ ของัดเแฟ้มประวัติและผลงานของ "ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา" นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมอาชญากร ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
"อ.ตฤณห์" มีชื่อเล่น "ตอง" จบปริญญาเอก ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม คณะรัฐศาสตร์ รั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต อาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรม จาก University of Portsmouth สหราชอาณาจักร และ ปริญญาตรี สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต สาขาการวิจัยทางสังคม สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"อ.ตฤณห์" เกิดมาในครอบครัวของตำรวจ คุณปู่ คุณพ่อ เป็นตำรวจ จึงมีความใฝ่ฝันว่าเติบโตขึ้นอยากเป็นตำรวจบ้าง อยากมีแอคชันจับผู้ร้าย ช่วยเหลือประชาชน สมัยเรียนปริญญาตรีเคยเข้าไปในเรือนจำ แต่ไม่ใช่เพราะทำผิดต้องโทษคดรอะไร แต่เข้าไปทำวิจัยเกี่ยวกับผู้ต้องขัง เพราะมีความสงสัยมาโดยตลอดว่า ต้นเหตุของการกระทำผิดของ "ผู้ร้าย" คืออะไร ทำไปทำไม และบางคนทำไมยอมกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
พอจบปริญญาตรี เจ้าตัวสมัครเข้ารับราชการตำรวจ จากนั้นจึงขอลาราชการเพื่อไปศึกษาต่อปริญญาโทที่อังกฤษ ใน University of Portsmouth สถาบันอาชญาวิทยาที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป มีตำรวจหลากหลายประเทศมาร่ำเรียนที่นี่ เพื่อศึกษาศาสตร์ของ "อาชญาวิทยา" โดยเฉพาะ โดยใช้เวลา 1 ปี ก็กลับมาชดใช้เวลาราชการ จากนั้นไม่นานจึงขอลาออกจากเส้นทางตำรวจ เพราะคิดว่ายังไม่ใช่หนทางที่แท้จริงสำหรับตัวเองนัก
จากนั้นจึงเลือกต่อยอดไปให้สุด ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอก ในสาขาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ออกมามากมายหลายเรื่อง ทั่งที่ทำวิจัยเดี่ยวและร่วมวิจัยกับบุคคลอื่น เช่น วิเคราะห์มุมมองเชิงจิตวิทยาและสังคมวิทยาของฆาตกรต่อเนื่อง, อิทธิพลของสื่อที่มีผลต่อพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กและเยาวชน, วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ต้องขังหญิงกระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติด, ปัจจัยในการฆ่าของฆาตกรต่อเนื่องหญิง, รูปแบบอาชญากรรม และปัจจัยที่มีผลต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม และเรื่องล่าสุด การหลอกลวงทางดิจิทัล การสำรวจช่องโหว่ทางสังคมต่อการถูกหลอกลวง และการฉ้อโกงออนไลน์
ปัจจุบันนอกจากจะเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ (สาขาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม) คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้ว ยังเป็นอาจารย์พิเศษภายนอก ถ่ายทอดความรู้ด้านอาชญาวิทยา และงานยุติธรรมให้กับนักศึกษา คณะบุคคล และหน่วยงานภายนอก และยังถูกรับเชิญในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญในบางคดีสำคัญอีกด้วย
Advertisement