ตลอดระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยยังเป็นปัญหาใหญ่มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สินบน หรือเรียกรับสินบนจากภาคธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ในอดีตก็เคยมีคดีใหญ่ที่มีลักษณะของสินบนข้ามชาติ เช่น คดีสินบนเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ หรือแม้แต่คดีการจัดงานเทศกาลภาพยนต์นานาชาติกรุงเทพฯ ที่มีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแลกกับผลประโยชน์
รายการ SPOTLIGHT Anti Corruption Season 3 พาไปเจาะลึกถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชันรูปแบบการให้สินบนข้ามชาติ เราจะขจัดความเสี่ยงสำคัญนี้อย่างไร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติให้กลับมาประเทศไทย
การเรียกรับสินบนจากบริษัทต่างชาติเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่บริษัทต่างชาติใช้พิจารณาในการเลือกลงทุนในประเทศไทย เพราะเมื่อมีการจ่ายสิบบนก็เท่ากับว่ามีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่ตัวบริษัทต่างชาติเองจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายที่รุนแรงจากประเทศแม่ ซึ่งนอกจากจะต้องจ่ายค่าปรับจำนวนมหาศาลแล้ว ยังทำให้สูญเสียภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในการดำเนินธุรกิจอีกด้วย
หากย้อนมองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยพบการทุจริตกรณีการให้สินบนของบริษัทต่างชาติที่เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นลักษณะการเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน เช่น บริษัทผู้ขายจะมีเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทนส่งคืนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการซื้อ ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่รัฐนั่นเอง ปัจจุบัน เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับและการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐผ่านช่องทางที่หลากหลายขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ยกตัวอย่างคดีสินบนข้ามชาติเมื่อปีที่ผ่านมา คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐอเมริกา ได้มีคำสั่งให้ บริษัท เดียร์ แอนด์ คอมพานี หรือ “จอห์นเดียร์” ผู้ผลิตรถแทรกเตอร์รายใหญ่ของสหรัฐฯ จ่ายเงินประมาณ 10 ล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นการยุติการดำเนินการตรวจสอบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการกระทำทุจริตในต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา
ซึ่งตามข้อกล่าวหาได้ระบุว่าช่วงประมาณปี 2560 – 2563 บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกในประเทศไทยของจอห์นเดียร์ ได้มีการจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐของไทย เพื่อแลกกับสัญญาการจัดซื้อเครื่องจักรขนาดใหญ่ ตามข้อกล่าวหายังระบุด้วยว่า บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐของไทยในหลากหลายรูปแบบ เช่น เงินสด เงินค่าที่ปรึกษา การเลี้ยงอาหาร การพาไปท่องเที่ยวในประเทศโซนยุโรป โดยอ้างว่าไปดูงาน รวมทั้งการให้ความบันเทิงในสถานอาบอบนวด เป็นต้น
นายพรหเมศร์ เบ็ญจรงค์กิจ ผู้อำนวยการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย หรือ CAC กล่าวว่าจากกรณีของบริษัทจอห์นเดียร์ในสหรัฐฯ และบริษัทลูกคือ บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐของไทยนั้น เป็นตัวอย่างของปัญหาการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่นักลงทุนต่างชาติถูกเรียกรับสินบน
ขณะเดียวกัน กรณีการขอใบอนุญาตก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันเขาเชื่อว่ามีนักธุรกิจต่างชาติถูกเรียกสินบนมากกว่านักธุรกิจไทย เนื่องจากปัญหากระบวนการให้บริการของภาครัฐนั้นไม่สะดวก จึงทำให้เกิดความพยายามในการหลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยใช้ตัวแทนในการให้สินบน ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ CAC ระบุว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและแถบยุโรปนั้น จะให้ความสำคัญต่อการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมาก เนื่องจากมีกฎหมายระหว่างประเทศในการให้สินบนที่เข้มงวดและจริงจัง
ทั้งนี้ หากเจาะลึกถึงไส้ในของดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI กรณีการติดสินบนในไทยจะพบว่า 3 แหล่งข้อมูลจาก 9 แหล่งข้อมูลหลักของดัชนี CPI ในปี 2567 ระดับคะแนน “ลดลง” ในทุกมิติ ซึ่งเรื่องนี้ผู้อำนวยการ CAC ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติยังเชื่อว่าจะต้องมีการให้สินบน และมีการทุจริตคอร์รัปชันในไทยอีกแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินสินบนในการนำเข้าส่งออก การเข้าถึงสาธารณูปโภค การประเมินภาษี การได้รับสัมปทาน การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และการนำเงินงบประมาณภาครัฐไปให้กับบริษัทหรือกลุ่มบุคคลเพื่อการคอร์รัปชัน รวมถึงความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ และการออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจบางธุรกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของ CAC นั้น คุณพรหเมศร์ได้เสนอทางออกเชิงสร้างสรรค์ “แบบ 3 เข้า” เพื่อเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาระยะยาว ได้แก่ (1) ทำให้ภาคเอกชนและประชาชนมี “ความเข้าใจ” เรื่องผลกระทบของคอร์รัปชัน ด้วยการให้ความรู้และแนวทางป้องกัน (2) “การเข้าถึง” แหล่งข้อมูล ช่องทางการแจ้งเบาะแสร้องเรียนที่ถูกต้อง และ (3) “การเข้าร่วม” โดย CAC ได้พยายามดึงพนักงานของบริษัทและประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ CAC ยังมีโครงการ “เรียกรับ เราร้อง” ซึ่งร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ที่สนับสนุนให้พนักงานของบริษัทมีความรู้ความเข้าใจเรื่องช่องทางแจ้งเบาะแสและร้องเรียนอีกด้วย
ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบของการจ่ายสินบนของบริษัทข้ามชาติ นอกเหนือจากจะส่งผลเสียที่ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจสูงขึ้นแล้ว ยังเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย ลดความเชื่อมั่นของบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งถ้าหากว่าคนไทยอย่างเราอยากจะให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้ ก็คงต้องช่วยกันลดการคอร์รัปชันจ่ายสินบนของ บริษัทข้ามชาติให้หมดไป ซึ่งคนไทยทุกคนสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตาได้เช่นเดียวกัน
Advertisement