Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
การจัดเก็บรายได้เข้าอุทยานแห่งชาติ ช่องโหว่เอื้อทุจริต

การจัดเก็บรายได้เข้าอุทยานแห่งชาติ ช่องโหว่เอื้อทุจริต

4 เม.ย. 68
13:54 น.
แชร์

ปัญหาการจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงอุทยานแห่งชาติถูกซุกไว้ใต้พรมมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งมีหน่วยงานภายนอกเข้าไปตรวจสอบเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ของอำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ และพบว่าตัวเลขการนำส่งเงินรายได้สูงผิดปกติหลายเท่าตัว ซึ่งแตกต่างจากก่อนการตรวจสอบอย่างมีนัยสำคัญ

การนำเรื่องนี้ออกมาตีแผ่ได้สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับสังคมไทย ประกอบกับการนำเสนอข่าวของสื่ออย่างต่อเนื่อง ทำให้ต่อมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพิ่มความเข้มงวดในการจัดเก็บเงินรายได้ ส่งผลให้ตัวเลขเงินรายได้ของอุทยานฯ หลายแห่ง โดยเฉพาะอุทยานฯ ทางทะเล มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งที่ก่อนการตรวจสอบ บางแห่งมีการบันทึกตัวเลขนักท่องเที่ยวเฉลี่ยเดือนละไม่ถึง 5,000 คน ก็ขยับขึ้นเป็นเดือนละกว่า 100,000 คน ขณะที่ภาพรวมของอุทยานแห่งชาติทั้งหมดในประเทศไทยสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี จากอดีตเก็บได้แค่ 600 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น

SPOTLIGHT Anti Corruption Season 3 จะพาทุกคนไปติดตามความคืบหน้าในการอุดรูรั่วของการจัดเก็บเงินรายได้อุทยานแห่งชาติ ว่าภายหลังปี 2562 ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้นำเสนอมาตรการป้องกันการทุจริต วันนี้เวลาผ่านไปกว่า 6 ปีแล้ว แต่ทำไมยังมีการฉีกตั๋วและการรับเงินสดผ่านมือของเจ้าหน้าที่ อะไรคืออุปสรรคและข้อจำกัดของระบบ E-Ticket ที่ยังทำไม่ได้ 100% ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน

การนำส่งเงินรายได้ที่ผิดปกติ

ความผิดปกติในการจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงอุทยานแห่งชาติเริ่มเผยออกมาในช่วงปี 2556 - 2557 เมื่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีขบวนการเวียนเทียนขายบัตรเข้าชม และมีเจ้าหน้าที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อทำให้เกิดการจ่ายค่าบัตรเข้าชมฯ น้อยกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจริง รวมไปถึงการออกบัตรนอกระบบและบัตรปลอม

ต่อมาในปี 2558 คณะทำงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเล สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลที่ชี้จุดสังเกตว่าเงินรายได้ของอุทยานฯ อาจมีการรั่วไหล จนกระทั่งในปี 2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแก้ไขปัญหานี้ทั้งระบบ โดยเสนอมาตรการป้องกันทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติไปยังคณะรัฐมนตรี

และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่ ป.ป.ช. เสนอ โดยให้มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาและดำเนินการใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานฯ (2) การพิจารณาและอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงอุทยานฯ และ (3) การบริหารจัดการ ทั้งนี้ เฉพาะปัญหาการจัดเก็บเงินรายได้ที่เสี่ยงต่อการทุจริตนั้น ป.ป.ช. เสนอให้ทำระบบ E-Ticket และพัฒนาระบบซื้อบัตรเข้าชมล่วงหน้าแบบออนไลน์ เพื่อลดจำนวนเงินสดที่ต้องผ่านมือเจ้าหน้าที่อุทยานฯ

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์กับรายการ SPOTLIGHT Anti Corruption ว่านับตั้งแต่ปี 2562 ที่ ป.ป.ช. ให้ข้อเสนอแนะ ทางกรมอุทยานฯ เริ่มมีการตรวจสอบกระบวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและรายได้ต่าง ๆ แล้ว จนกระทั่งในช่วงเวลาที่เขาเข้ามารับตำแหน่งรักษาการณ์อธิบดีกรมอุทยานฯ จึงได้มีการเร่งรัดให้เป็นระบบ E-Nation Park

สำหรับระบบ E Ticket ยังอยู่ในระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งตั้งเป้าว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2569 และสามารถใช้งานได้ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติทั้ง 156 แห่ง โดยระบบ E Ticket จะเป็นระบบการจัดเก็บตั๋วผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีระบบที่โปร่งใสในการตรวจสอบทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เป็นการป้องกันการกระทำการที่มิชอบได้ ปัจจุบัน มีการนำร่องระบบ E Ticket แล้วในอุทยานแห่งชาติ 6 แห่ง

“เราจะไปใช้เฉพาะในพื้นที่ที่ที่มีปัญหาเรื่องการจัดเก็บที่ค่อนข้างยาก อย่างเช่นอุทยานแห่งชาติทางทะเล อุทยานแห่งชาติทางบก เราไม่ค่อยมีปัญหาเพราะว่าอุทยานแห่งชาติทางบกเนี่ยจะมีประตู มีถนนเข้าไปชัดเจน แล้วก็มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต เหล่านี้สามารถเราเช็คเราตรวจสอบได้ แต่บางที่ที่เป็นอุทยานทางทะเล มันไม่มีประตูเข้าเพราะบางทีนักท่องเที่ยวเข้ามาทางเรือ หรือมาจากพื้นที่จังหวัดอื่นบ้าง มาจากพื้นที่รอบ ๆ ซึ่งสามารถเข้าได้ถึงทุกพื้นที่ ก็เลยจำเป็นต้องมีการจัดเก็บแบบ Manual ไปด้วยผสมกัน ในระหว่างนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องตรวจสอบแบบเข้ม และเราก็ต้องมีชุดเฉพาะกิจจากส่วนกลางไปคอยตรวจสอบ ไปลงพื้นที่ตรวจสอบในทางลับว่ามีการจัดเก็บยังไง บางทีก็ไปแฝงตัวเป็นนักท่องเที่ยวบ้าง เพื่อที่จะป้องกันการทุจริต หรือการที่จะทำโดยไม่ชอบ” นายอรรถพลกล่าว

สำหรับอุทยานแห่งชาติบางแห่ง โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่มีปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึงนั้น อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่าได้มีการประสานงานกับ กสทช. ในการติดตั้งเสาสัญญาณเพิ่มแล้วเพื่อรองรับระบบ E-Ticket รวมถึงระบบการจองตั๋ว และการสแกนตรวจสอบก่อนเข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บรายได้ จากอดีตฉีกตั๋ว 100% ค่อย ๆ ขยับมาใช้ระบบผสมผสาน ทั้ง E-Ticket, การขายบัตรผ่านตู้ KIOSK และเงินสด ที่มีการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ และหลังจากช่วงโควิดเป็นต้นมา นักท่องเที่ยวก็กลับเข้ามาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น ทำให้การจัดเก็บรายได้ปี 2567 เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2566 เกือบ 20% และล่าสุด ช่วงเดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 กรมอุทยานฯ จัดเก็บเงินรายได้ได้มากขึ้นเกือบ 8% หรือประมาณ 1,200 ล้านบาทแล้ว เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ปัจจุบัน ระบบ E-Ticket อยู่ในขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้าง โดยกรมอุทยานฯ ตั้งเป้าเร่งผลักดันให้แล้วเสร็จครบทุกอุทยานฯ ภายในปี 2569 ซึ่งจากการติดตามและประเมินผลมาตรการนี้ของ ป.ป.ช. พบว่าระบบ E-Ticket ยังมีความล่าช้า เนื่องจากกรมอุทยานฯ ต้องการปรับปรุงระบบ E-Ticket เพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้งานได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น จึงได้มีการประสานงานกับมหาวิทยาลัย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาระบบ ขณะเดียวกัน ส่วนหนึ่งของความล่าช้ายังมาจากระเบียบเกี่ยวกับการจัดเก็บเงินรายได้เดิมที่ไม่ได้กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กรมอุทยานฯ ได้ทำตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. แล้ว นั่นก็คือการจัดทำระบบรายงานผลจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้า - ออกอุทยานฯ แบบเรียลไทม์ ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานอุทยานฯ

หลายปีที่ผ่านมา มีการหารือระหว่าง ป.ป.ช. และกรมอุทยานฯ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติมาโดยตลอด โดยทีมงาน SPOTLIGHT พบว่ามีข้อเสนอที่น่าสนใจ อาทิ การปรับปรุงแก้ไขระเบียบของกรมอุทยานฯ ที่อนุญาตแต่ละอุทยานฯ สามารถเปิดบัญชีธนาคารเป็นของตนเอง เพื่อรองรับการจัดเก็บเงินรายได้ โดยให้นักท่องเที่ยวสามารถสแกน QR Code ชำระเงินได้ทันที เพื่อลดปัญหาการรับเงินสด และอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว

สำหรับมุมมองจากภาคเอกชนนั้น ดร.ปริญญา หอมเอนก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด แสดงความเห็นว่าการแก้ไขปัญหาการจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงอุทยานแห่งชาตินั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานระบบ E-Ticket หรือการสแกน QR Code เพื่อชำระเงินนั้น ควรมีการนำร่องในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบางส่วนก่อน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ข้อดีข้อเสียในการใช้งาน รวมไปถึงการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

ขณะที่มุมมองอีกด้านหนึ่ง นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค แสดงความคิดเห็นว่าการสแกน QR Code เพื่อชำระเงินนั้นเป็นเรื่องที่สะดวกกว่า เนื่องจากเป็นระบบที่ประชาชนคุ้นเคย คนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาสัญญาณอินเตอร์เน็ตนั้น เป็นเรื่องที่ กสทช. ต้องเข้ามามีส่วนร่วม และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

แล้วประเทศอื่น ๆ ที่มีปัญหาทุจริตการจัดเก็บเงินรายได้จากแหล่งท่องเที่ยว พวกเขาแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร จากการค้นหาข้อมูล ทีมงาน SPOTLIGHT พบว่าประเทศเคนยามีการนำเทคโนโลยีมาใช้ออกบัตรท่องเที่ยว Safari Card ซึ่งมีการระบุ ชื่อ - สกุล สถานภาพ เพศ อายุ ที่อยู่ ยานพาหนะ ซึ่งบริษัททัวร์จะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้ถูกต้องครบถ้วนตามจำนวนคน และวันที่เข้าเยี่ยมชม เพื่อป้องกันการรั่วไหลของเงินรายได้ และลดความเสี่ยงจากการจ่ายเงินสด

ขณะที่อุทยานฯ ในสหรัฐ ญี่ปุ่น เนปาล ไปจนถึงปราสาทนครวัดของกัมพูชา เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามารับสัมปทาน และทำหน้าที่จัดเก็บรายได้เข้าอุทยานฯ แทนภาครัฐ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. เคยให้ความเห็นถึงการจัดเก็บรายได้เข้าอุทยานฯ ระยะต่อไปด้วยว่า ควรพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน เพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการภาครัฐ เพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนลดปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่

Advertisement

แชร์
การจัดเก็บรายได้เข้าอุทยานแห่งชาติ ช่องโหว่เอื้อทุจริต