Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เลขาฯ ป.ป.ช. เผยคดี 44สส. แก้ มาตรา112 จบในครึ่งปีนี้หรือไม่

เลขาฯ ป.ป.ช. เผยคดี 44สส. แก้ มาตรา112 จบในครึ่งปีนี้หรือไม่

21 มี.ค. 68
11:02 น.
แชร์

เลขาฯ ป.ป.ช. เผยคดี 44สส. แก้ มาตรา112 จบในครึ่งปีนี้หรือไม่ หลังขั้นตอนมาถึงช่วงท้ายๆ แล้ว ยันพิจารณาพฤติการณ์เป็นรายบุคคล 

วันที่  21 มี.ค. 68 นาย สาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา 44 สส.อดีต พรรคก้าวไกล กระทำการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 ว่า 

ตามกระบวนการหลังแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว จะเริ่มต้นจากการเชิญมารับทราบข้อกล่าวหา โดยจะกำหนดวัน เวลา สถานที่ ซึ่งปกติแล้วจะใช้ที่สำนักงาน ป.ป.ช.  สาเหตุที่เราเชิญมา เพื่อที่จะต้องการให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาที่ชัดเจน มีประเด็นที่ไม่เข้าใจในส่วนไหน สามารถสอบถามได้ จากนั้นทางคณะไต่สวนจะแจ้งข้อกล่าวหาไป 1 ฉบับ และจะกำหนดเวลาให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา สำหรับบุคคลที่ไม่ได้มาจะส่งบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของผู้ถูกกล่าวหา 

ส่วนคดีนี้เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเชิญมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ปรากฏว่า มีบางรายมา บางรายไม่ได้มา โดยในรายที่ไม่ได้มามีการส่งบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ปัจจุบันการดำเนินการยังอยู่ในขั้นตอนนี้อยู่ ทั้งนี้บุคคลที่ไม่ได้มารับข้อกล่าวหาด้วยตัวเองมีจำนวนมากกว่าบุคคลที่มารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อเราส่งไปที่อยู่ตามทะเบียนบ้านถือว่าเขารับทราบแล้ว 

นายสาโรจน์ กล่าวว่า โดยตามระเบียบของ ป.ป.ช. ทำได้ 2 อย่างคือ มารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง และส่งไปที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ซึ่งถ้ามารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตัวเองจะเป็นประโยชน์มากกว่า สามารถสอบถามประเด็นที่ถูกกล่าวหาได้ว่าหมายถึงอะไร จะต้องดำเนินการอย่างไร มีสิทธิ์อะไรบ้าง ส่วนการส่งไปที่อยู่ตามทะเบียนบ้านจะมีรายละเอียดและแจ้งสิทธิ์ไปครบถ้วนเช่นกัน เพียงแต่เขาจะไม่มีโอกาสสอบถามในประเด็นที่สงสัย ส่วนระยะเวลาในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น ตามระเบียบ ป.ป.ช. ภายใน 15 วันนับแต่วันรับทราบ ถ้ามารับทราบด้วยตัวเองจะมีวันที่รับทราบชัดเจนคือ วันที่มารับทราบข้อกล่าวหา ถ้าส่งทางไปรษณีย์คือ วันที่ปรากฏหลักฐานว่าไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับได้ส่งถึงผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ซึ่งจะนับไป 15 วันเช่นกัน 

เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ในการชี้แจงข้อกล่าวหา 15 วัน เป็นช่วงระยะเวลาในการให้โอกาสชี้แจง หากผู้ถูกกล่าวหารายใดมีเหตุผลความจำเป็นสามารถขยายเพิ่มได้อีก 15 วัน หลังจากครบระยะเวลาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว ขั้นตอนต่อไปพนักงานเจ้าหน้าที่จะมาพิจารณาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากับคำแก้ข้อกล่าวหาว่าจะสามารถวินิจฉัยได้หรือไม่ เพียงใด หรือจะต้องไปรวบรวมพยานหลักฐานตามที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้าง เพราะเขามีสิทธิ์อ้างพยานบุคคล เอกสาร หลักฐาน เพิ่มเติมได้ หากพนักงานไต่สวนเห็นว่ามีเหตุจำเป็นเพื่อความยุติธรรมก็ดำเนินการ เมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อยก็เป็นขั้นตอนการสรุปสำนวน คณะไต่สวนจะสรุปสำนวนเพื่อทำความเห็นเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา 

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมาถึงขั้นตอนชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว แสดงว่าภายในปีนี้อาจจบได้ นายสาโรจน์ กล่าวว่า จะภายในปีนี้หรือภายในครึ่งปีนี้ ขึ้นอยู่กับความครบถ้วนสมบูรณ์ของการไต่สวน ถ้าดูตามขั้นตอนการดำเนินการไต่สวนถือว่าดำเนินการมาในขั้นตอนท้ายๆ แล้ว คือขั้นตอนให้โอกาสแก้ข้อกล่าวหาแล้ว ต่อไปเป็นเรื่องของการสรุปสำนวนเพื่อพิจารณา อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขั้นตอนชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 

เมื่อถามว่า คดีนี้พิจารณาเป็นรายบุคคล หรือรวมกันทั้งหมด นายสาโรจน์ กล่าวว่า หลักในการพิจารณาพฤติการณ์การกระทำความผิด ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล เว้นแต่ว่ามีพฤติการณ์ในส่วนไหนที่เป็นการร่วม ซึ่งคือการกระทำอันเดียวกัน เป็นหลักทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ หลักในการพิจารณาสำนวนต้องพิจารณาพฤติการณ์การกระทำความผิด ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม ไม่ได้เป็นการพิจารณาในภาพรวม ไม่ใช่แบบนั้น เรื่องสอบสวนทางอาญาและจริยธรรมจะคล้ายๆ กัน 

เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การไต่สวนเรื่องนี้เป็นประเด็นเรื่องฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง พฤติการณ์ของบุคคลใดเข้าลักษณะการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงข้อใด หรือเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรม แต่ไม่ร้ายแรง หลักจะมีอยู่แค่นี้ เพราะไม่ใช่เรื่องทางอาญา 

เมื่อถามว่า จะต้องนำการแสดงความเห็นผ่านสื่อ หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้ที่ร่วมแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมาร่วมพิจารณาด้วยหรือไม่ นายสาโรจน์ กล่าวว่า พฤติการณ์ พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์เป็นหลักการจะต้องมาประกอบการพิจารณาอยู่แล้ว ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ไต่สวน เป็นหลักการทั่วไปที่พนักงานไต่สวนต้องนำมาประกอบการพิจารณาอยู่แล้ว 

เมื่อถามอีกว่า หากมีการชี้มูลและมีการส่งฟ้อง จะต้องแยกเป็นรายบุคคลหรือไม่ นายสาโรจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นสำนวนเดียวกัน แม้พิจารณาเป็นรายบุคคล แต่อยู่ในสำนวนเดียวกัน ไม่ได้แยกเป็น 1 คน 1 คดี เป็นคดีเรื่องเดียวกันว่าใครผิด ใครไม่ผิด

Advertisement

แชร์
เลขาฯ ป.ป.ช. เผยคดี 44สส. แก้ มาตรา112 จบในครึ่งปีนี้หรือไม่