วันที่ 25 เม.ย. 68 รศ.นพ.สุภนิติ์ นิวาตวงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย แถลงข่าวกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลราคาการซื้อขายอวัยวะ เช่น ปอด 1 ข้าง ราคา 9.2 ล้านบาท ไต 1 ข้าง ราคา 4.7 ล้านบาท เลือดลิตรละ 2.1 หมื่นบาท เป็นต้น จนชาวเน็ตเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามว่า ตลาดมืดขายอวัยวะจริงหรือไม่นั้น
รศ.นพ.สุภนิติ์ ยืนยันว่า ตลาดมืดขายอวัยวะดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องจริง โดยอวัยวะที่มีการใช้ปลูกถ่ายในประเทศไทยนั้น จะมาจากการบริจาคจากผู้ที่มีความประสงค์จะบริจาค เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งมาจาก 2 กรณี คือ 1.รับบริจาคมาจากญาติที่ยังมีชีวิต และ 2.การแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะหลังจากผู้บริจาคเสียชีวิต ผ่านศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้ที่ยังรอคอยการรับบริจาคอวัยวะ เพื่อปลูกถ่ายประมาณ 7,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นไต เพราะเป็นอวัยวะที่สามารถรอได้ด้วยการฟอกเลือด ส่วนอวัยวะอื่น เช่น ตับ หัวใจ อวัยวะอื่นที่ไม่สามารถใช้เครื่องพยุงร่างกายได้ ก็จะรอไม่นานแล้วเสียชีวิตไป
“ในการรับบริจาคอวัยวะนั้น ไม่มีการให้มูลค่า หรือค่าตอบแทนอวัยวะ แม้จะเป็นญาติของผู้ป่วย หรือเป็นคนอื่นที่มีความต้องการบริจาค เนื่องจากการให้ค่าตอบแทนจะเป็นข้อเสีย คือ คนไม่บริจาคอวัยวะ จะกลายเป็นว่าคนมีเงินก็ซื้อได้ คนก็ยิ่งหันหลังให้กับการบริจาค”
รศ.นพ.สุภนิติ์ กล่าวว่า ตนเข้าใจผู้ที่ต้องรอรับบริจาคอวัยวะ แต่การซื้อขายอวัยวะนั้นเป็นเรื่องที่สังคมไทย และสังคมโลกยอมรับไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์อนามัยโลก สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะนานาชาติ องค์การวิชาชีพแพทย์ ต่างเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะคนที่ขายอวัยวะเอง ก็อาจถูกหลอกมาอีกทีว่าตัดอวัยวะออกไปแล้ว ก็ยังปลอดภัย แต่ปรากฎว่าให้ไปแล้วตัวเองกลับต้องป่วย ไม่ได้รับการดูแลหลังจากนั้น เพราะคนที่ให้อวัยวะกับผู้อื่นไป จำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพต่อเนื่อง หรือแม้ว่าอาจไม่ได้รับค่าตอบแทนตามตกลงจริงๆ
“ในประเทศไทยมีกฎหมายที่ออกโดยแพทยสภาว่า ห้ามแพทย์ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ และมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มีโทษทั้งจำคุกและปรับสูงมาก ฉะนั้นเรื่องที่มีราคาซื้อขายอวัยวะ ไม่ใช่ในประเทศไทย แต่มีจริงก็คงไม่ใช่ในประเทศไทย เพราะก็มีรายงานข้อมูลเรื่องนี้ตามข่าวต่างประเทศอยู่บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องในอดีต”
เมื่อถามย้ำว่า ประเทศไทยยังไม่มีรายงานเรื่องการซื้อขายอวัยวะหรือไม่ รศ.นพ.สุภนิติ์ กล่าวว่า แพทยสภากำหนดให้การปลูกถ่ายอวัยวะต้องทำในโรงพยาบาลที่เป็นสมาชิกของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยเท่านั้น ต้องเป็น รพ. ขนาดใหญ่ที่ผ่านการตรวจศักยภาพ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับ
“เรื่องที่เราเคยได้ยินกันว่า มีคนไปเที่ยวผับแล้วถูกจับไปตัดอวัยวะ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะการเอาอวัยวะออกต้องทำในห้องผ่าตัด ต้องมีคนเกี่ยวข้องที่ทำงานหลายคน และหลังจากเอาออกมาแล้ว ก็ไม่สามารถเอาไปแช่ไว้ในตู้เย็นได้ เพราะต้องปลูกถ่ายทันที ผ่านกระบวนการตรวจสอบความเข้ากันได้ของอวัยวะ ซึ่งต้องทำในห้องปฏิบัติการ เมื่อให้และรับอวัยวะแล้วต้องกินยากดภูมิที่มีความอันตรายด้วย ดังนั้น ถ้ามีเรื่องเช่นนี้จริง ต้องมีข้อมูล มีหลักฐานออกมาบ้างแล้ว” รศ.นพ.สุภนิติ์ กล่าว
เมื่อถามว่า สภากาชาดไทย จะต้องดำเนินการอะไรกับผู้ที่นำข้อมูลดังกล่าวมาเปิดเผยหรือไม่ รศ.นพ.สุภนิติ์ กล่าวว่า เราไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น แต่ต้องการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนรับทราบ และยังรณรงค์ให้ประชาชนร่วมแสดงความจำนงเพื่อบริจาคอวัยวะผ่านศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
ขณะที่คุณอมรรัตน์ สุริยะบุญ ซึ่งเป็นคุณครูสอนอยู่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองเดินทางมาบริจาค อวัยวะ ร่างกายและก็ดวงตา เพราะคิดว่าอย่างน้อยตอนที่เราเสียชีวิตไปนั้น อวัยวะและร่างกายทุกส่วน ก็จะส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการ วันนี้ก็ตั้งใจมากับเพื่อน เพื่อที่จะบริจาคเช่นเดียวกัน ส่วนตามสื่อต่างๆ ที่บอกว่าซื้อขายอวัยวะอันนั้นคิดว่าไม่น่าเป็นความจริง อาจจะเป็นแค่ข่าวลือ ก็เลยไม่ได้ให้ความสำคัญ หากท่านใดจะบริจาคอวัยวะร่างกาย ก็ติดต่อมาที่สภากาชาดไทยได้เลยดั่งกับตนเองที่ก็ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการบริจาคเช่นเดียวกันเลยเดินทางมาบริจาคด้วยตนเอง
Advertisement