หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารของกระทรวง เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ว่า ในที่ประชุมผู้แทนจากสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) ได้รายงานว่า เตรียมจัดทำประกาศยกเว้นการแต่งกายเครื่องแบบเครื่องแบบลูกเสือสำหรับสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ หวังลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
ทั้งนี้ ในระหว่างรอกฎกระทรวงฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้ ทางสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ โดยนายวรัท พฤษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ได้ทำหนังสือ เรื่องแนวปฏิบัติการแต่งกายเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ในสถานศึกษา ถึงผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดทุกจังหวัด, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกาษเอกชน, ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้
ระบุว่า ตามที่ การแต่งเครื่องแบบของลูกเสือ ได้มีการกำหนดลักษณะชนิดและประเภทของเครื่องแบบลูกเสือ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2510) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507 ประกอบกับคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 ได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายลูกเสือ พ.ศ. ....
เพื่อกำหนดให้การแต่งกายลูกเสือ มีความยืนหยุ่น คล่องตัว เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ต่าง ๆ โดยเน้นความประหยัด คุ้มค่า แต่ยังคงไว้ซึ่งอุดมการณ์ ธรรมเนียมปฏิบัติ และพิธีการของลูกเสือ ซึ่งอยู่ในระหว่างกระบวนการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา นั้น
เพื่อให้การดำเนินงานของสถานศึกษามีความชัดเจน ในระหว่างที่กฎกระทรวง ว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายลูกเสือ พ.ศ. .... ยังไม่ประกาศใช้ จึงขอซักซ้อมความเข้าใจในการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ดังนี้
1. การแต่งเครื่องแบบลูกเสือตามตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2510) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507 ประกอบด้วย หมวก เสื้อ กางเกง/กระโปรง ผ้าผูกคอ เข็มชัด ถุงเท้า รองเท้า และเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบ ให้ใช้สำหรับงานพิธีเข้าประจำกองลูกเสือ งานพิธีของลูกเสือ หรืองานพิธีอื่น ๆ ที่สถานศึกษา จังหวัด สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น และในการฝึกอบรมหรืออยู่ค่ายพักแรม
2. การแต่งเครื่องแบบลูกเสือสำรองแบบลำลอง และเครื่องแบบลูกเสือสามัญแบบลำลอง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507 ซึ่งประกอบด้วยเครื่องแบบนักเรียน, ผ้าผูกคอ, เครื่องหมายลูกเสือ ใช้สำหรับการฝึกอบรม การอยู่ค่ายพักแรม เท่านั้น และการแต่งเครื่องแบบลำลอง อนุโลมให้ใช้ชุดพลศึกษาได้
3. การแต่งเครื่องแบบลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญแบบลำลอง อนุโลมให้แต่งเครื่องแบบตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507
ในการนี้ การจัดกิจกรรมฝึกอบรมลูกเสือ เนตรนารี ที่เป็นกิจกรรมกลางแจ้ง ให้สถานศึกษาพิจารณาปรับรูปแบบลักษณะการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และสภาพอากาศ และกำหนดการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ตามข้อ 1-3 ได้ตามความเหมาะสม
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ำว่า กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้มีนโยบายยกเลิกเครื่องแบบลูกเสือเนตรนารี โดยตามระเบียบใหม่นี้ จะมีชุดให้เลือกใส่มากขึ้น ทั้งชุดแบบทางการ และชุดลำลอง ดังนั้น โรงเรียนจะสามารถพิจารณาว่าจะให้นักเรียนใส่ชุดลำลอง หรือชุดลูกเสือปกติ ทั้งนี้ หากโรงเรียนไหนที่มีอุปสรรคเรื่องสภาพอากาศ หรือความพร้อมของผู้ปกครอง สามารถใส่ชุดลำลองได้ (ใส่ผ้าผูกคอ วอกเกิ้ล และหมวกลูกเสือ กับชุดนักเรียน ชุดพลศึกษา หรือชุดพื้นเมือง)
ขึ้นอยู่กับโรงเรียนเป็นผู้ตัดสินใจ เนื่องจากไม่สามารถบังคับได้ ยืนยันว่า มีหลายโรงเรียนที่อยากใส่ชุดลูกเสือเนตรนารีคงเดิม นอกจากนี้ กฤษฎีกาใกล้จะพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงเสร็จแล้ว ซึ่งหลังจากพิจารณาเสร็จแล้วกก็จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนประกาศใช้ แต่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศไปก่อนแล้ว เพราะตอนนี้ใกล้จะเปิดภาคเรียน เกรงว่าหากประกาศทีหลังจะเกิดกระแสสังคม ซึ่งกฤษฎีกา ยืนยันว่า ไม่มีปัญหา ที่จะเพิ่มทางเลือกการแต่งกายชุดลูกเสือเนตรนารี
Advertisement