สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ขอโทษประชาชน แม้ทำเต็มที่แต่จัดหาวัคซีนได้ล่าช้า ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ เหตุไวรัสกลายพันธุ์ทำระบาดหนักเกินคาดหมาย ยันเร่งรัดหาเพิ่มต่อเนื่อง โดยล่าสุดเริ่มเจรจาเข้าโคแวกซ์ (COVAX) แล้ว
วันที่ 21 ก.ค. 2564 นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมแถลงที่กระทรวงสาธารณสุข โดยชี้แจงว่า ในส่วนของสถาบันวัคซีนฯ ทำหน้าที่เจรจาจัดหา พยายามติดต่อประสานงานผู้ผลิตวัคซีนทั้งที่มีวัคซีนแล้วและอยู่ระหว่างวิจัยตั้งแต่ช่วงส.ค. ปี 2563 และพยายามหาช่องทางจองซื้อล่วงหน้าแม้ว่าวัคซีนจะอยู่ระหว่างการวิจัย จนได้มีการออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ตามพรบ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ มาตรา18 (4) ที่จะเปิดให้สถาบันฯ ทำหน้าที่ในการจองวัคซีนล่วงหน้าที่อยู่ระหว่างการวิจัยได้ เป็นที่มาที่สามารถจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่เป็นการจองล่วงหน้าตั้งแต่เริ่มต้น และจำนวนวัคซีนที่ได้จำนวน 61 ล้านโดส เป็นการจองล่วงหน้าที่มีการเจรจาตั้งแต่ ส.ค.-ก.ย. และจองวัคซีนเสร็จสิ้นเดือน พ.ย.63 และจองซื้อเพิ่มเติม จนครบ 61 ล้านโดสในต้นปี 2564
ในแต่ละครั้งการที่จะเสนอในการจัดหาวัคซีนใดๆ ก็ตาม เมื่อมีข้อมูลจากการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีน จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงานและคณะกรรมการจัดหาวัคซีน ที่มีปลัด สธ.เป็นประธาน เป็นกลไกด้านการบริหารที่มีอยู่ให้เกิดการตัดสินใจในเชิงบริหาร เพราะว่าไม่สามรถดำเนินการได้โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ต้องปรึกษาทั้งผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานที่รับผิดชอบ เป็นการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ ถึงแม้ว่ากรมควบคุมโรค และสถาบันฯ จะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาวัคซีนร่วมกัน แต่การตัดสินใจต้องนำเข้าสู่การประชุมคณะทำงานและคณะกรรมการแต่ละชุดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะมีความเกี่ยวพันทั้งเรื่องภาระงบประมาณ และความผูกพันด้านสัญญาที่ไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการได้ตามลำพัง ในการลงนามในส่วนใดก็จะมีการปรึกษาหน่วยงานทางด้านกฎหมายของประเทศด้วย
“เป็นที่มาที่เกิดความรับรู้ว่าการดำเนินการที่เราจัดหาวัคซีนอาจจะไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของข้อจำกัดที่มี แต่ก็ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชนที่ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติแม้ว่าจะได้พยายามเต็มที่ ก็ยังจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด การระบาดของโรคโควิด-19 เราไม่เคยประสบพบเจอกันมาก่อน รวมถึงสถานการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัส ก็ไม่ใช่เรื่องเราที่จะคาดหมายได้ล่วงหน้า เกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดการระบาดของโรครวดเร็วและรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมาก่อนในช่วงปีที่แล้ว ทำให้การจัดหาวัคซีนไม่ทันต่อสถานการณ์ ก็ต้องกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง”
สำหรับสิ่งที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จะดำเนินการต่อไปมี 4 เรื่องหลัก ๆ ดังนี้
1 การจัดหาวัคซีน
1.1 เร่งรัดเจรจาการจัดหาวัคซีน โดยพิจารณาดำเนินการกับผู้ผลิตวัคชีนที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง (2nd Generation) ที่สามารถครอบคลุมไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ (Variants of concern) ได้ โดยให้มีเป้าหมายการส่งมอบได้ภายในไตรมาส 1 ของปี 2565
2 การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต
2.1 เร่งรัดการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้วย Platform อื่นๆ นอกเหนือจาก Viral vector เช่น Inactivated Platform หรือ mRNA Platform หรือ Protein subunit เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้กระทรวงการต่างประเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญ
3 การวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ
3.1 สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส รวมทั้งกำหนดแนวทางการขึ้นทะเบียนสำหรับวัคซีนที่วิจัยพัฒนาในประเทศ ทั้ง mRNA ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม, วัคซีนของบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และวัคซีนของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จํากัด โดยในส่วนของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและองค์การเภสัชกรรม เริ่มทำการทดสอบในคนแล้ว
3.2 แสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการทดสอบวัคชีนในมนุษย์ระยะที่ 3 เช่น ประเทศอินเดีย
4 ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
4.1 สนับสนุนการศึกษาภูมิคุ้มกันระยะยาวของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้วัคซีนเข็มที่ 3 ในประชากรไทย
4.2 ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไวรัสกลายพันธุ์ในปี 2565 อย่างใกล้ชิด
4.3 ติดตามความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม เพื่อพิจารณาการจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและหญิงตั้งครรภ์
นอกจากนี้ ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า เรายังอยู่ในการเข้าร่วมกับโครงการโคแวกซ์ (COVAX) เพียงแต่ยังไม่ได้ลงนามในการทำความร่วมมือการจัดหาวันซีนร่วมกันผ่านโครงการโคแวกซ์ ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้เตรียมการเริ่มเจรจา โดยประสานงานไปที่องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (Gavi) เพื่อขอเจรจาจัดหาวัคซีนร่วมกับโคแวกซ์ โดยมีเป้าหมายของการได้รับวัคซีนในปี 2565 เพิ่มเติม หากมีข้อสรุปชัดเจนจะเสนอผ่านคณะทำงานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องต่อไป
ในส่วนคำถามว่าจะสามารถจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้หรือไม่นั้น ทางสถาบันฯ กำลังเร่งเจรจากับผู้ผลิตที่มีประสิทภาพไม่ว่าจะได้แพลตฟอร์มใด ที่ได้เจรจาอยู่มีหลายส่วน ทั้งวัคซีน mRNA หรือวัคซีนโปรตีนซับยูนิต แต่เนื่องจากว่ายังไม่มีข้อสรุปได้ว่าจะได้เท่าไหร่เมื่อไหร่ จึงขอเวลาในการทำงาน ยืนยันว่าสถาบันวัคซีนจะดำเนินการเต็มที่ต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สธ.หารือนำเข้า วัคซีน 120 ล้านโดสรองรับการกลายพันธุ์ปี 65
- สธ.สรุปจัดหา วัคซีน 100 ล้านโดสปี 64 แอสตร้าฯ 61 ซิโนแวค 19 ไฟเซอร์ 20 ล้าน
- ไทยคู่ฟ้า เผยผลทดสอบซิโนแวค 2 เข็มกับคนไทย ป้องกันสายพันธุ์อัลฟา 90% และเดลตา 75%
Advertisement