ทีมนักวิจัยชาวจีนได้ค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาว ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่มนุษย์ เนื่องจากใช้ตัวรับในร่างกายมนุษย์แบบเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโควิด-19 โดยไวรัสชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ใหม่ของ HKU5 ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในค้างคาวพันธุ์ Japanese pipistrelle ที่พบในฮ่องกง
ทีมนักวิจัยชาวจีนได้ค้นพบไวรัสโคโรนาในค้างคาวสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน เนื่องจากไวรัสชนิดนี้ใช้ตัวรับในมนุษย์แบบเดียวกันกับไวรัสที่ทำให้เกิดโควิด-19
สำหรับการค้นพบล่าสุดระบุว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ HKU5 ซึ่งถูกตรวจพบครั้งแรกในค้างคาวพันธุ์ Japanese pipistrelle ที่พบในฮ่องกง
โดยไวรัสชนิดใหม่นี้จัดอยู่ในวงศ์ย่อย merbecovirus ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเมอร์ส หรือ โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome) สิ่งที่น่ากังวลคือ ไวรัสชนิดนี้สามารถจับกับตัวรับเอนไซม์แปลงแองจิโอเทนซิน (ACE2) ของมนุษย์ ซึ่งเป็นตัวรับเดียวกับที่ไวรัส SARS-CoV-2 ใช้ในการแพร่เชื้อเข้าสู่เซลล์ นี่อาจบ่งบอกถึงศักยภาพในการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนในลักษณะเดียวกับโควิด-19
การศึกษานี้นำโดยสือ เจิ้งลี่ นักไวรัสวิทยาชั้นนำที่ได้รับฉายาว่า Batwoman เนื่องจากเชี่ยวชาญในงานวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาในค้างคาว โดยดำเนินการที่ห้องปฏิบัติการกวางโจว ร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์กวางโจว มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น และ สถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น
สือ เจิ้งลี่ เป็นที่รู้จักกันดีจากการที่เธอทำงานในสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ซึ่งเคยตกเป็นที่ถกเถียงว่าเป็นต้นกำเนิดของไวรัสโควิด-19 หรือไม่ โดยมีทฤษฎีหนึ่งเสนอว่า ไวรัสอาจหลุดมาจากห้องปฏิบัติการในเมืองอู่ฮั่น อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับต้นกำเนิดของไวรัส แต่บางงานศึกษาก็เสนอว่า ไวรัสดังกล่าวอาจจะมีต้นกำเนิดในค้างคาว และแพร่เข้าสู่มนุษย์ผ่านสัตว์พาหะ
อย่างไรก็ตาม สือ เจิ้งลี่ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าสถาบันของเธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัส และการค้นพบไวรัสโคโรนาในค้างคาวพันธุ์ใหม่ของสือก็ไม่ใช่ครั้งแรก โดยเมื่อปี 2021 เธอก็เคยค้นพบไวรัสลักษณะนี้มาแล้ว