นายอนุทิน ระบุว่า กรมควบคุมโรค สธ. และ สปสช. กำหนดเป้าหมายฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้แก่ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 6.2 ล้านโดส รณรงค์เริ่มฉีดวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นมา แต่สถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ข้อมูล ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2564 มีผู้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เพียง 1,739,633 โดส หรือร้อยละ 28.05 เฉลี่ย 27,182 โดสต่อวัน
ทั้งนี้ สปสช. ได้ทำหนังสือเพื่อขอความเห็นทางวิชาการจากกรมควบคุมโรค ในการเพิ่มเติมกลุ่มเสี่ยงอื่นเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกรมควบคุมโรคพิจารณาขยายเพิ่มเติมในประชากร 3 กลุ่ม คือ 1.บุคลากรหรือผู้ปฏิบัติงานที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 2.กลุ่มที่อยู่สถานที่มีการรวมตัวของประชากรจำนวนมาก เสี่ยงต่อการระบาด และ 3กลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
สำหรับ 3 กลุ่มนี้ ให้เข้ารับบริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 พร้อมขยายระยะเวลารับบริการ จากเดิมกำหนดระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ขยายจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
ขณะที่ รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข กล่าวว่า การขยายระยะเวลาการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อให้ครอบคลุมตามแผนและเป้าหมาย ป้องกันการเกิดโรคที่รุนแรงและเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน ลดความสับสนในการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษา ระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดขณะนี้
สปสช.ประสานกับหน่วยบริการ ในการจัดรณรงค์เชิงรุกร่วมกับการให้บริการวัคซีนโควิด-19 พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายถึงการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนใดก่อนก็ได้ โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทั้งยังสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ระหว่างการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ได้ เพื่อเร่งรัดการสร้างภูมิคุ้มกันโรค และให้ลงทะเบียนผ่านระบบ เป๋าตัง หรือระบบ Hospital Portal หรือการลงทะเบียนเข้ารับบริการตามที่หน่วยบริการกำหนด เพื่อเว้นระยะห่าง และลดความแออัดในการเข้ารับบริการวัคซีน
ในส่วนของประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงเดิม ที่มีสิทธิรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้
1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
3.ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน)
4.ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
และ 7.โรคอ้วน (มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
อย่างไรก็ตาม ประชาชนอีก 3 กลุ่ม ที่บอร์ด สปสช.มีมติขยายเพิ่ม คือ
1.บุคลากรหรือผู้ปฏิบัติงานที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19
2.กลุ่มที่อยู่สถานที่มีการรวมตัวของประชากรจำนวนมาก เสี่ยงต่อการระบาด
3.กลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ขึ้นกับสถานการณ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อัปเดต 9 จุดตรวจโควิดฟรี กทม. ใช้ชุดตรวจ ATK รู้ผล 30 นาที
- แจก ชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด ให้ปชช.กลุ่มเสี่ยงฟรี 2 ช่องทางเริ่ม 16 ก.ย. นี้
- ระยอง ยืนยันคำสั่ง สถานประกอบการทุกประเภท ต้องสุ่มตรวจ ATK พนักงาน ทุกสัปดาห์
Advertisement