จุฬาฯ เปิดผลสำรวจระบบคุณวุฒิวิชาชีพโดย สคช. สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมประเทศกว่า 550 ล้านบาท ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพสร้างโอกาสการได้งานเร็วขึ้นถึง 2 เดือน
นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึงผลสำรวจความพึงพอใจ ความเชื่อมั่นต่อระบบคุณวุฒิวิชาชีพ และการประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมจากการนำมาตรฐานอาชีพไปใช้ประโยชน์ ประจำปี 2567 โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จาก 695 ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 84.23 พึงพอใจต่อการให้บริการของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และร้อยละ 85.08 มีความเชื่อมั่นต่อผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานของ สคช. โดยร้อยละ 86.43 เชื่อมั่นในองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ และกระบวนการประเมิน ร้อยละ 86 เชื่อมั่นในตัวผู้ที่ผ่านการประเมินด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ และร้อยละ 85.70 เชื่อมั่นต่อการดำเนินงานที่เปิดเผยและโปร่งใส
นอกจากนี้ ผลการประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมจากการนำมาตรฐานอาชีพไปใช้ประโยชน์ พบว่ากลุ่มตัวอย่างจากจำนวนผู้ที่ผ่านการประเมินในปี 2567 จำนวน 29,035 คน และนำหนังสือรับรองสมรรถนะไปใช้ประกอบการสมัครงาน มีโอกาสได้งานเร็วขึ้นเฉลี่ยถึง 2 เดือน และได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยเดือนละ 25,000 บาท/คน/เดือน ขณะเดียวกันร้อยละ 32.84 ของผู้ที่ผ่านการประเมินในปี 2567 มีค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 17,119 บาท/คน/ปี จากการนำหนังสือรับรองสมรรถนะ ไปใช้ขอปรับเงินเดือน
การสำรวจยังพบว่าระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ช่วยให้ผู้ประกอบการร้อยละ 40 ที่นำมาตรฐานอาชีพไปใช้ประโยชน์สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาบุคลากรเฉลี่ย 1,000 บาท/คน/ปี เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าเพิ่มและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม จะพบว่าระบบคุณวุฒิวิชาชีพช่วยสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Benefit) รวมมูลค่า 555.94 ล้านบาท
นางสาวจุลลดา ยังเชิญชวนให้คนไทยทุกคนมาร่วมกันใช้ประโยชน์จากระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพราะผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้แล้วเท่านั้น และมูลค่าที่เกิดขึ้นทางสังคมทั้งการช่วยสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานและการประกอบอาชีพ เพิ่มความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากผู้ที่เกี่ยวข้องและคนในสายอาชีพเดียวกัน ที่สำคัญไปกว่านั้นคือความเชื่อมั่นต่อลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ในขณะที่สถานประกอบการเองยังสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการพัฒนาบุคลากร ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งจากกระบวนการผลิต และการพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ให้กับบุคลากร และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเป็นอย่างมากทั้งการสร้างโอกาส การยกระดับคุณภาพกำลังคนของประเทศ ถ้าคนไทยให้การยอมรับและใช้ประโยชน์จากระบบคุณวุฒิวิชาชีพ
Advertisement