“สมศักดิ์” ปาฐถกาพิเศษ ชูหัวใจการแพทย์ฉุกเฉิน ทันเหตุการณ์ รวดเร็ว มีประสิทธิพภาพ ลดพิการ – เสียชีวิต สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน นักท่องเที่ยว หวังยกระดับกู้ชีพทางเฮลิคอปเตอร์เทียบมาตรฐานสากล หนุนพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ศักยภาพของบุคลากร
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 16 ประจําปี 2567 “ก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคตการแพทย์ฉุกเฉินไทย ด้วยการวิจัยและนวัตกรรม” National EMS Forum 2024: Moving forward to the future with EMS research and innovation” พร้อมมอบเข็มเชิดชูเกียรติประเภทกิตติมศักดิ์และประเภทสมนาคุณ ปีกกิตติมศักดิ์เฮลิคอปเตอร์การแพทย์ฉุกเฉิน (Executive HEMSThai Sky Doctor) และรางวัลการแข่งขันการบริหารจัดการสถานการณ์จําลองเสมือนจริงด้านการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 1 โดยมี เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ศ.ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผู้บริหารหน่วยงานจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมงาน ทั้งนี้ เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ ได้ถือโอกาสมอบปีกกิตติมศักดิ์เฮลิคอร์ปเตอร์การแพทย์ฉุกเฉินให้กับนายสมศักดิ์ด้วย
นายสมศักดิ์ กล่าวเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษหัวข้อ“การแพทย์ฉุกเฉินไทย เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประชาชน”ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีความไม่แน่นอนสูง เช่น การแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ ภาวะอุทกภัยรุนแรง รวมทั้งอุบัติเหตุใหญ่ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องมี ระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ดี มีมาตรฐานสากล สามารถตอบสนองต่อการเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือสาธารณภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ อย่างรวดเร็ว ครอบคลุม มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถรักษาผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ในช่วงก่อนถึงโรงพยาบาล ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ จากการเสียชีวิตหรือความพิการแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่น ให้แก่นักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจต่างชาติ ที่เข้ามาเยี่ยมเยียนประเทศอีกด้วย
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้เป็นไปตามที่คาดหวัง เราต้องทำให้ประชาชนมีความปลอดภัย และรู้เท่าทันต่อภาวะฉุกเฉิน มีบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ครอบคลุมและทั่วถึง ทั้งทางบก ทางน้ำ และอากาศ โดยเฉพาะทางเฮลิคอปเตอร์การแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานสากล สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ มีการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร รวมทั้งเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การยกระดับการแพทย์ฉุกเฉินให้บรรลุผลสำเร็จจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือ ในการขับเคลื่อนดำเนินงาน จากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเชื่อว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาศักยภาพ และความเชี่ยวชาญเฉพาะของการบริหารจัดการ ทั้งเชิงวิชาการและภาคปฏิบัติ ผ่านการนำเสนอผลงานวิจัย นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถนำองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับ ไปพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศให้ดีขึ้นได้
จากนั้นนายสมศักดิ์ ได้เดินเยี่ยมบูธนิทรรศการที่นำมาจัดแสดงภายในงาน พร้อมชมการสาธิตวิธีทำ CPR เพื่อชีวิตฉุกในภาวะฉุกเฉินด้วย
Advertisement