กระแสของรถยนต์ไฟฟ้ายังไงก็มา! ล่าสุดข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า เทสล่า มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยแล้ว ตั้งแต่ 25 เมายนที่ผ่านมา คาดว่าจะมีการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาขายในไทยเอง
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าเทสล่าจดทะเบีบนจัดตั้งธุรกิจในไทยภายใต้ชื่อ บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายนที่่ผ่านมาโดยมีทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท วัตถุประสงค์จดทะเบียน คือ ประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้งและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน มีรายชื่อคณะกรรมการ 3 ท่าน คือ นายเดวิด จอน ไฟน์สไตน์ / นายไวภา ตเนชา / นายยารอน ไคลน์/
แหล่งข่าวในวงการรถยนต์มองว่า การที่เทสล่า จัดตั้งบริษัทในไทยอย่างเป็นทางการ นั่นแปลว่าเทสล่าต้องการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยด้วยตัวเอง ตามนโยบายที่เทสล่าไม่มีตัวแทนจำหน่าย หรือ ดีลเลอร์ อย่างเป็นทางการอยู่แล้ว ดังนั้นอาจจะมีผลกระทบไปยังตลาดเกรย์ มาร์เก็ต หรือ ผู้นำเข้าอิสระที่นำเทสล่าเข้ามาขายในไทย
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอติดตามกันต่อไปว่าราคาของรถเทสล่าที่ทางบริษัทขายเอง จะแตกต่าง หรือ ดึงดูดผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน ซึ่งปัจจุบันภาครัฐของไทยมีการส่งเสริมในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ โดยลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่เข้ามาทั้งคัน ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท จะลดภาษี 40% และราคาขายปลีก 2-7 ล้านบาทขนาดแบตเตอรี่ 30kWh ขึ้นไป ลดภาษีนำเข้า 20%
นอกจากนี้คงต้องรอดูอีกว่า รถที่บริษัท เทสล่า ประเทศไทย จะนำเข้ามาขายในบ้านเราจะเป็นรถจะประเทศไหน โดยประเมินว่า โรงงานผลิตรถเทสล่าที่ใกล้ไทยมากที่สุด คือ ประเทศจีน จึงมีการตั้งข้อสังเกตุว่า รถยนต์เทสล่าที่มาขายในไทยไม่น่าเป็นรถเทสล่าจากสหรัฐอเมริกา แต่จะเป็นรถจากจีนหรือไม่ต้องติดตามดูกันต่อไป
ขณะที่ผู้นำเข้าอิสระที่นำเทสล่ามาขาย ราคาแต่ละเจ้าจะไม่แตกต่างกันมากนัก และมีการนำเข้ามาในหลากหลายสเป็ค และจากหลากหลายประเทศ เพราะต้องมีการเลือกรถที่เป็นพวงมาลัยขวา และผู้นำเข้าอิสระบางราย มีการส่งพนักงานไปอบรมเพื่อแลลูกค้าเทสล่าที่ซื้อรถไปด้วย
ข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก เกี่ยวกับรถยนต์จดทะเบียนสะสม ประเภทรถยนต์ไม่เกิน 7 ที่นั่งจำแนกตามยี่ห้อในประเทศไทย อัพเดทสุดถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 พบว่า มีรถยนต์ยี่ห้อ เทสล่า อยู่ในเมืองไทยทั้งสิ้น 488 คัน อยู่ในกรุงเทพ 438 คัน และอยู่ในภูมิภาคอีก 50 คัน ส่วนรุ่นรถเทสล่าที่ขายดีในไทยคือ Model 3
.
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมของรายชื่อกรรมการทั้ง 3 ท่านในบริษัทเทสล่า ประเทศไทยนั้นพบว่า
นายเดวิด จอน ไฟน์สไตน์ ปัจจุบันเป็นผู้บริหารระดับสูงของ Tesla ในตำแหน่ง Global Senior Director – Trade Market Access และเคยได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการของ Tesla อินเดียเมื่อเดือนมกราคม ปี 2021
นายไวภา ตเนชา ผู้บริหารระดับสูงด้านการเงิน (Chief Accounting Officer) และเคยเป็นผู้อำนวยการของ Tesla India Motors and Energy Private Limited ในช่วงมกราคม 2021 เช่นกัน
ยารอน ไคลน์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บริหารด้านทรัพย์สินของ Tesla และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของบริษัทลูกอย่าง Tesla Energy Operations