ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด-19 คำว่า ‘burnout syndrome’ หรือ ‘ภาวะหมดไฟ’ กลายเป็นคำที่พูดถึงทั่วไป เพราะหลายๆ คนที่ต้องกักตัวทำงานที่บ้านไม่สามารถแยกเวลาส่วนตัวออกจากเวลาทำงานได้เหมือนเก่า พร้อมเกิดความเครียดจากสถานการณ์รอบตัวจนหมดกำลังใจทำงาน และไม่สามารถทำงานอย่างเต็มที่ได้เหมือนที่เคยทำได้ ซึ่งถ้าเป็นไปตามหลักเหตุผล คนน่าจะหายจากอาการนี้ได้เมื่อสถานการณ์กลับไปเป็นปกติ
อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานดังกล่าวอาจไม่เป็นจริงเสียแล้ว เพราะจากการสำรวจของ Future Forum ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยที่สนับสนุนโดย Slack Technologies ของ Salesforce ในปัจจุบันมากกว่า 40% ของพนักงานออฟฟิศทั่วโลกรู้สึกหมดไฟกับการทำงานในตอนนี้ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าที่พบในช่วงที่มีการระบาดของโควิดเสียอีก
โดยจากการรายงานของ Bloomberg สาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานเกิดอาการหมดไฟในปัจจุบันก็คือ
ซึ่งจากข้อมูลเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ผู้คนจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตเหมือนในช่วงก่อนโควิดได้แล้ว สถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นนัก เพราะในปัจจุบันระบบเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงได้รับอาฟเตอร์ช็อกจากมาตรการทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด อย่างภาวะเงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่วนหนึ่งจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นการบริโภค การฟื้นของภาคการผลิตที่ไม่ทันการณ์ และสงครามระหว่างรัสเซียยูเครนซึ่งเป็นปัจจัยไม่คาดฝันที่เข้ามาทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกอ่อนแอมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ จากการสำรวจเดียวกัน พนักงานในสหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส ที่ Future Forum เข้าไปทำการสำรวจเป็นประจำทุกไตรมาสยังกล่าวอีกด้วยว่า หลังจากปรับตัวให้ชินกับการทำงานที่บ้าน หรือนอกสถานที่ได้แล้ว พวกเขากลับพบว่าตัวเองชอบทำงานนอกออฟฟิศมากกว่า เพราะรู้สึกว่ามีอิสระ มีกำลังใจทำงาน และรู้สึกว่าทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยพนักงานส่วนมากที่ปัจจุบันมีตารางการทำงานที่ไม่ยืดหยุ่นยังบอกอีกด้วยว่าจะหางานใหม่ทำในปีหน้า “แน่ๆ” หากบริษัทไม่อนุญาตให้พนักงานจัดตารางการทำงานอย่างอิสระได้
โดยจากคำกล่าวของ Brian Elliot ผู้บริหารของ Slack ที่ดูแลการทำวิจัยของ Future Forum ข้อดีของการให้อิสระในการทำงานกับพนักงานก็คือทำให้พนักงานกำหนดเวลาเพื่อโฟกัสกับงานได้เหมาะกับเวลาของตัวเอง แทนที่จะเข้าไปเสียเวลานั่งจับเจ่าในออฟฟิศ นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาวัฒนธรรมและบรรยากาศในองค์กรให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ จากการสำรวจของ Okta Inc บริษัทพัฒนา cloud software จากสหรัฐฯ ยังมีพนักงานบางส่วนในปัจจุบันประสบปัญหาหมดไฟเพราะเหนื่อยหน่ายกับการต้องวิ่งไล่ตามเทคโนโลยีที่บริษัทเพิ่มให้พนักงานใช้เรื่อยๆ โดยจากการสำรวจ บริษัทขนาดใหญ่มีแอพพลิเคชั่นให้พนักงานใช้เฉลี่ยถึง 211 แอพพลิเคชั่นต่อบริษัท เพิ่มขึ้นจาก 195 แอพพลิเคชั่นในปีก่อนหน้า ซึ่งทำให้พนักงานรู้สึกว่าต้องเรียนรู้การใช้ซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ตลอดเวลา
ถ้าเกิดความรู้สึกหมดไฟจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร?
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย ถึงแม้จะไม่มีการสำรวจภาวะหมดไฟในหมู่พนักงานอย่างเป็นทางการ จากภาวะเงินเฟ้อ และข้าวของที่ทยอยขึ้นราคาไปทีละอย่างสองอย่างในประเทศไทย หลายๆ คนก็อาจจะมีความกังวลกับอนาคตจนรู้สึกไม่มั่นคงในตลาดแรงงานจนโหมทำงานหนัก เกิดภาวะเครียดจัดจนวันหนึ่งร่ายกายและสมองเกิดชัตดาวน์จนทำงานแบบไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรเช่นกัน
ซึ่งถ้าใครรู้สึกเหนื่อยจนเกิดอาการเหล่านี้ ทางที่ดีสุดก็ไม่ใช่การฝืนทนทำงานต่อไปอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่เป็นการถอยกลับมาค้นหาสาเหตุที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นภาระงานที่หนักเกินไป เส้นเดดไลน์ที่กดดันเกินไป วัฒนธรรมการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ งานที่ไม่มีคุณค่าและไม่ให้ความภาคภูมิใจในการทำงาน รายได้ที่ไม่เหมาะสมกับปริมาณงาน หรือการที่เราไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน ซึ่งจะทำให้เราหาวิธีแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดได้
โดยถ้าหากปัญหาเกิดจากการที่งานที่เราทำอยู่ไม่เหมาะกับความสามารถและความต้องการของเรา วิธีที่ดีที่สุดก็คือการวางแผนเปลี่ยนที่ทำงาน แต่ก่อนที่จะพบงานที่ต้องการ แต่ละคนก็ต้องพยายามจัดการกับความเครียดด้วยตัวเองในเบื้องต้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นการไม่นำงานกลับไปทำที่บ้าน ขีดเส้นแบ่งระหว่างเวลาทำงานและพักผ่อนให้ชัด หัดปฏิเสธงานที่ไม่ได้อยู่ในหน้าที่การรับผิดชอบของตัวเองอย่างเหมาะสม หรือคุยปรึกษากับหัวหน้าในการจัดการปริมาณงาน
นอกจากนี้ ผู้ที่ประสบปัญหาหมดไฟอาจพยายามใช้วิธีผ่อนคลายอย่างอื่นได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิ วาดภาพ หรือเล่นโยคะ และที่สำคัญคือต้องรู้จักพูดคุย ขอการสนับสนุนจากคนรอบข้าง เพราะในภาวะที่เราเครียดจัดจนรู้สึกว่าไม่มีทางออก หากเราออกปากขอความช่วยเหลือ ปรึกษาปัญหากับคนรอบข้าง ปัญหาที่เรามีอาจจะดูเบาลง หรืออาจมีทางแก้ไขที่ตัวเราเองคิดไม่ถึงก็ได้
ที่มา: Bloomberg