ธุรกิจการตลาด

อิทธิพลซอฟต์พาวเวอร์ได้ผล ยอดส่งออกอาหารเกาหลี 11 เดือน พุ่งทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ทะลุ 10,000 ล้านดอลลาร์

4 ธ.ค. 64
อิทธิพลซอฟต์พาวเวอร์ได้ผล ยอดส่งออกอาหารเกาหลี 11 เดือน พุ่งทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ทะลุ 10,000 ล้านดอลลาร์
กระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการท้องถิ่นของเกาหลีใต้ เปิดเผยยอดส่งออกสินค้าในหมวดอาหาร ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 25 พ.ย. 2564 ว่า มียอดการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 16.1% ไปอยู่ที่ 10,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.42 แสนล้านบาท)
 
 
ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติในปี 1971 ที่ยอดส่งออกอาหารทะลุหลัก 1 หมื่นล้านดอลลาร์ แม้ว่ายอดส่งออกอาหารของเกาหลีใต้จะทำสถิติใหม่แทบทุกปีก็ตาม โดยยอดของปีที่แล้วอยู่ที่ 9,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
 
อิทธิพลซอฟต์พาวเวอร์ที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อาทิ กระแสเพลง K-Pop, ซีรีส์ K-Drama, รายการทีวีและวาไรตี้ต่างๆ ไปจนถึงการทำการตลาดผ่านด้วยสปอนเซอร์ เช่น แบรนด์อาหาร
Bibigo ที่เป็นสปอนเซอร์ทีมบาส Lakers จนมีภาพของซูเปอร์สตาร์ Le Bron James ใส่เสื้อบาสที่มีโลโก้ของบิบิโกอยู่ด้านหลัง ล้วนแล้วแต่เป็นการขยายอิทธิพลให้อาหารเกาหลี
อยู่ในกระแสความสนใจหลักของโลกได้
 
 
ในบรรดาอาหารที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้นในปีนี้ ประกอบไปด้วยสินค้าหลายประเภท ตั้งแต่ สตอว์เบอร์รี องุ่น ผลิตภัณฑ์จากสาหร่าย ไปจนถึง กิมจิ และโสม โดยเฉพาะสาหร่ายนั้นสามารถส่งออกไปถึง 600 ล้านดอลลาร์
 
 
บริษัท Daesang สามารถส่งออก "กิมจิ" ในปีที่แล้วได้ถึง 59 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากการส่งออกในปี 2016 ซึ่งอยู่ที่ 29 ล้านดอลลาร์
 
 
ขณะที่อาหารอย่าง "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" หรือ รามยอน ซึ่งประสบความสำเร็จมากจากคลื่นวัฒนธรรมป๊อบของเกาหลี ก็มียอดขายที่เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน อาทิ บริษัท Nongshim ซึ่งรายงานยอดขายในไตรมาส 3 สูงสุดทุบสถิติใหม่ที่ 6.9 แสนล้านวอน โดยมากกว่าครึ่ง หรือประมาณ 3.7 แสนล้านวอน เป็นยอดขายในต่างประเทศ และนับเป็นครั้งแรกที่ยอดขาย Shin Ramyun ในต่างประเทศ
แซงหน้ายอดขายภายในประเทศได้
 
 
เช่นเดียวกับค่าย Samyang Foods ซึ่งมีจุดขายที่มาม่าเผ็ด สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ 2.3 แสนล้านวอนในไตรมาส 3 หรือมากกว่ายอดขายในประเทศ 3 เท่า โดยมีตลาดส่งออกหลักที่ จีน กลุ่มประเทศอาเซียน และสหรัฐ

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT