โตโยต้า ประเทศไทย แถลงยอดขายรถยนต์ปี 2564 ได้รับผลกระทบจากโควิดเล็กน้อย ลดลงเกือบ 2% ตั้งเป้าปี 65 คาดยอดขาย 284,000 คัน พร้อมส่งรถยนต์ไฟฟ้า bZ4X ลุยทำตลาดไทยภายในปีนี้ ตามนโยบายบริษัทฯ แม่ ที่ประกาศผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ครบ 30 รุ่นภายในปี 2573
27 ม.ค.65 โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงข่าวว่า บริษัทฯดำเนินนโยบายตาม โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ซึ่ง อากิโอะ โตโยดะ ได้ประกาศทิศทางไว้ว่า โตโยต้าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ครบ 30 รุ่นภายในปี 2573 โดยโตโยต้าจะใช้เงินลงทุนรวมเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่มากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะการพัฒนาแบตเตอรี่ไฟฟ้าจะใช้เงินมากถึง 6 แสนล้านบาท เพื่อบรรลุเป้าหมายอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจำนวน 3.5 ล้านคันภายในปี 2573
“สำหรับประเทศไทย โตโยต้ามีแผนแนะนำ bZ4X รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของซีรีส์ bZ ออกสู่ตลาดภายในปีนี้ โดยเราจะพยายามส่งเสริมให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักสำหรับการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าอีกหลากหลายรุ่นต่อไปในอนาคต” ยามาชิตะ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายว่า ในช่วงแรกของการเปิดตัวทำตลาด bZ4X จะเป็นการนำเข้าสำเร็จรูปก่อนที่จะมีการขึ้นไลน์ประกอบในประเทศ ภายใต้เงื่อนไขของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) โตโยต้า bZ4X พัฒนาขึ้นบนแพลตฟอร์ e-TNGA สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ มีให้เลือกทั้งรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 150 kW และรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว(ตัวละ 80kW หน้าหลัง) กำลังสูงสุดรวม 160 kW แบตเตอรี่ เป็นแบบลิเธียมไอออนขนาด 71.4 kWh ระยะทางวิ่งไกลสุดเคลมไว้ที่ 500 กม. ในรุ่นขับเคลื่อน2 ล้อ และ 460 กม.สำหรับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ bZ4X เป็นรถแบบอเนกประสงค์ 5 ที่นั่ง มิติตัวถัง ยาว 4,690 มม. กว้าง 1,860 มม. สูง 1,650 มม. ระยะฐานล้อ 2,850 มม. น้ำหนัก 2,195-2,275 กิโลกรัม ส่วนระบบเสริมความปลอดภัยจัดเต็มชุดใหญ่ด้วย Toyota Safety Sense ขณะที่ระบบล้ำสมัยอื่นๆ มีให้อย่างครบถ้วนทั้งการอัพเดตซอฟแวร์ผ่านอากาศ OTA ระบบกุญแจดิจิทัล ใช้แอพลิเคชันในการควบคุมสั่งการ กำหนดเปิดตัว โตโยต้า bZ4X ของภูมิภาคเอเชีย ตามนโยบายของ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประกาศไว้ว่าจะมีขึ้นราวกลางปี 2565 นี้ ราคาจำหน่ายมีการประกาศรุ่นพวงมาลัยขวาที่จำหน่ายในประเทศอังกฤษอยู่ที่ราว 1,850,000-2,090,000 บาท
นายโนริอากิ คาดว่า ยอดขายตลาดรถยนต์รวมภายในประเทศไทยปี 65 จะอยู่ที่ 860,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 13.3% จากปี 64 อยู่ที่ราว 759,119 คัน หากแบ่งเป็นประเภทรถยนต์ คาดว่าตลาดรถยนต์นั่งจะอยู่ที่ 292,500 คัน เพิ่มขึ้น 16.2% และตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 567,500 คันเพิ่มขึ้น 11.9%
สำหรับในปี 64 เป็นปีที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเกิดปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต เช่น ปัญหาชิปขาดตลาด ด้วยเหตุนี้ ยอดขายรวมภายในประเทศจึงอยู่ที่ราว 759,119 คัน หรือลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับปี 63
"ปีนี้เป็นไปได้ว่าโควิด-19 จะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย อย่างไรก็ดี เราคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด นอกจากนี้ ประชาชนเองก็เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ให้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว ส่วนปัญหาชิ้นส่วนการผลิตขาดตลาดก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงเช่นกัน เราคาดหวังว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับคืนสู่สภาวะปกติ"
สำหรับยอดขายของโตโยต้า ตั้งเป้ายอดขายปี 65 อยู่ที่ 284,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 18.5% โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 33% จากปี 64 ที่มียอดขาย 239,723 คัน หรือลดลง 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และยังคงครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 31.6% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ถือว่าต่ำกว่าที่เราคาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม ยอดขายของปีที่แล้วจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ของโตโยต้าเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/64 เป็นต้นมา สืบเนื่องมาจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่ เช่น การขายผ่านช่องทางออนไลน์ หากดูยอดขายของโตโยต้าในระหว่างช่วงไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 4 จะเห็นได้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 32.5% ซึ่งเป็นระดับที่ไกล้เคียงกับในปี 62 หรือช่วงก่อนโควิด-19 โดยในส่วนของยอดขายของไฮลักซ์ รีโว่ นั้น มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 39.1% ซึ่งสูงกว่าของปี 62 ในขณะที่ เอทีฟ และ ยาริส นั้น ก็สามารถครองอันดับ 1 ในตลาดรถ อีโคคาร์