เอ่ยชื่อ เจ๊เกียว เจ้าของกิจการรถร่วมโดยสาร บขส. เชิดชัยทัวร์ หลายคนคงจะรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะทุกยุคทุกสมัยเมื่อน้ำมันขึ้นราคา จะเห็นเจ๊เกียวออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐขยับราคาโดยสารรถร่วมขึ้นอีก เพราะเจ๊เกียว สวมหมวก 2 ใบคือ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถร่วมรถโดยสารบขส.และเจ้าของอู่รถเชิดชัยและ บริษัท เดินรถเชิดชัยนั่นเอง
แต่สำหรับในปี 2565 นี้สิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากปากของเจ๊เกียว หรือ นางสุจินดา เชิดชัย ในวัย 85 ปี คือ การประกาศขายกิจการเชิดชัย เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนอันหนักอิ้งได้อีกต่อไป ทั้งจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงทะลุ 30 บาทและ พฤติกรรมของผู้โดยสารที่ใช้บริหารรถโดยสารลดน้อยลงจากการแข่งขันของสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอร์ส แอร์ไลน์) และช่วงสถานการณ์โควิด 19 ซ้ำเติมไปอีก ทำให้ปัจจุบันหยุดวิ่งรถไปถึง 70% แล้ว
กระทบหนักจากต้นทุนสูง และ โควิด 19 ซ้ำธุรกิจ
เจ๊เกียว บอกว่า เดิมมีรถอยู่กว่า 200 คัน วิ่งให้บริการในเส้นทาง สายภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ แต่ ตอนนี้เหลือรถวิ่งอยู่แค่ 20-30% เท่านั้น อีกประมาณ 70% ต้องหยุดวิ่ง จอดรถทิ้งไว้ที่อู่มานานกว่า 2 ปีแล้ว เพราะประสบกับปัญหาขาดทุน เนื่องจากไม่มีผู้โดยสาร และค่าน้ำมันที่แพง วิ่งรถไม่คุ้มกับค่าโดยสาร โดยเฉพาะรถที่วิ่งสายยาว จากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดต่างๆหยุดวิ่งเกือบ 100% เหลือเพียงสายสั้น กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และจังหวัดภาคตะวันออก เพราะหากนำรถออกวิ่งทุกคัน ต้องแบกรับภาคะค่าน้ำมันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4 ล้านบาท อีกทั้งค่าแรงคนงาน ค้าจ้างพนักงาน จิปาถะ ที่ต้องจ่ายอีกจำนวนมาก
บริษัท เชิดชัยทัวร์ ประกอบธุรกิจรถร่วมโดยสาร บขส.มานานกว่า 65 ปีแล้ว ช่วงตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เริ่มประสบกับปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง จนกระทั่งมาเจอการระบาดของไวรัสโควิด-19 และค่าน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้นขณะนี้ ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนัก
นอกจากนี้พฤติกรรมของประชาชนเปลี่ยนไปไม่นิยมขึ้นรถโดยสาร บขส.แต่หันไปซื้อรถเก๋ง รถกระบะ ขับเอง ขณะที่การเกิดขึ้นของสายการบินโลว์คอส ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้คนเลิกขึ้นรถทัวร์ หันไปใช้บริการสายการบินโลคอสแทน เพราะค่าโดยสารก็ไม่ต่างกันมากแต่ใช้เวลาเดินทางเร็วกว่า
สำหรับธุรกิจของเจ๊เกียวยังมีอีกหลายอย่าง การประกาศขาย คื้อ ตัวบริษัทเชิดชัยทัวร์ ที่ทำธุรกิจรถโดยสาร บขส. ออกไป เพื่อไม่ให้กระทบกับธุรกิจอื่น ๆ ถึงแม้จะรู้สึกเสียดาย แต่ในเรื่องธุรกิจหากทำต่อแล้วมีแต่ขาดทุน ก็ไม่รู้ว่าจะทำต่อไปทำไม
“ตอนนี้ลูก ๆ ทั้ง 4 คน ก็มีกิจการเป็นของตัวเองหมดแล้ว ทุกคนก็ไม่มีใครอยากสานต่อธุรกิจเดินรถ บขส. เพราะมีแต่ปัญหาและกำไรน้อย ประกอบกับตนเองก็อายุ 85 ปีแล้ว จึงไม่อยากเหนื่อยกับการต้องทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในบริษัทที่ประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างนี้อีกต่อไป จึงอยากวางมือกับธุรกิจรถร่วมโดยสาร บขส. และทุ่มเทเวลาไปให้กับธุรกิจอื่นๆ ที่ยังอยู่ เช่น ธุรกิจต่อตัวถังรถโดยสาร ธุรกิจขายรถยนต์ และธุรกิจให้เช่าที่ดิน”
ขายธุรกิจที่ขาดทุน และทำธุรกิจอื่น ทั้งอสังหาริมทรัพย์ ต่อตัวถังรถ ขนส่งพนักงาน
เจ๊เกียว เล่าถึงธุรกิจอื่นว่า ธุรกิจต่อตัวถังรถโดยสาร รับจ้างเดินรถรับส่งพนักงานบริษัทเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ธุรกิจให้เช่าที่ดินที่มีอยู่หลาย 1,000 ไร่ ปัจจุบันนำที่กว่า 300 ไร่ ให้ห้างสรรพสินค้า 2 แห่งในนครราชสีเช่าและมีบางแปลงที่ประกาศขาย เพื่อลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ปีนี้รัฐเก็บเต็มอัตรา 100%
“ที่ดินที่มีอยู่ ฉันซื้อไว้นานแล้ว ตั้งแต่ราคาตารางวาละ 30-40 บาท แบ่งให้เช่าและแบ่งให้รัฐใช้ก่อสร้างถนนก็มี ตอนนี้มีบ้างที่นำมาขาย เพื่อนำเงินมาจ่ายภาษีที่ดินที่ปีนี้ต้องจ่าย 30 ล้านบาท ฉันว่ารัฐก็ทำไม่ถูกมาเก็บภาษีที่ดิน 100% ในช่วงที่คนกำลังเดือดร้อน”
มีผู้สนใจซื้อกิจการแต่อยู่ระหว่างการเจรจา
ส่วนการความคืบหน้าหลังจากประกาศขายกิจการ เจ๊เกียวบอกว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจติดต่อเข้าบ้างแล้ว แต่ยังเจรจาไม่ลงตัวเนื่องจากผู้ที่สนใจต้องการแต่โควต้าการเดินรถ แต่ไม่สนใจซื้อรถโดยสารที่เจ๊เกียวมีอยู่ ขณะนี้จึงถือว่าอยู่ระหว่างการเจรจาหาผู้ซื้อกิจการ
ส่วนในวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เจ๊เกียว จะเข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมการขนส่งขอปรับค่าโดยสารอีก 1 สตางค์ต่อกิโลเมตร หลังจากต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเป็น 32 บาทต่อลิตร เกินจากที่คำนวณไว้ก่อนหน้านี้ 27 บาทต่อลิตร ก็เรียกว่า ยังคงเดินหน้าเรียกร้องค่าโดยสารแม้ในช่วงเวลาสุดท้ายของกิจการเชิดชัยที่จะอยู่ภายใต้ เจ๊เกียว สุจินดา เชิดชัย