Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ฮับรถยนต์อีวีของจีน อยู่ที่ 'ไทย'? แค่ตลาดก็แซงเพื่อนบ้านหลายขุม
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ฮับรถยนต์อีวีของจีน อยู่ที่ 'ไทย'? แค่ตลาดก็แซงเพื่อนบ้านหลายขุม

3 พ.ย. 65
15:10 น.
|
2.9K
แชร์

ฮับรถยนต์อีวีของจีน อยู่ที่ 'ไทย' สื่อนอกชี้มีศักยภาพเป็นฮับอีวีอาเซียน ทั้งฐานการผลิตเดิม ซัพพลายเชน และตลาดที่แซงเพื่อนบ้านหลายขุม


หาก "ญี่ปุ่น" คือชาติที่ช่วยวางรากฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยให้เป็น "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" มาได้

"จีน" ก็อาจจะเป็นชาติต่อไปที่กำลังจะปั้นไทยให้เป็น "ฮับยานยนต์อีวี" ได้เช่นกัน...ไม่มากก็น้อย


ข่าวที่คนไทยแห่กันไปจองซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจีนแบรนด์ BYD ชนิดต่อคิวข้ามคืนนั้น ถือเป็นปรากฎการณ์ที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับ "สินค้าแบรนด์จีน" ที่ผู้บริโภคจะให้การยอมรับแบรนด์ที่ไม่ใช่ตะวันตก และไม่ใช่แบรนด์ญี่ปุ่น กันอย่างท่วมท้นเช่นนี้ 

และมุมมองเชิงบวกเช่นนี่ก็เป็น 1 ในเหตุผลสำคัญเช่นกันที่ทำให้จีนเลือกที่จะปักหมุด "ประเทศไทย" เป็นที่แรกในการลงทุนยานยนต์นอกประเทศจีน และอาจไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยไปด้วยซ้ำหากจะกล่าวว่า ไทยกำลังจะเป็นฮับยานยนต์ของจีนในอาเซียน

 

ค่ายรถจีนแห่บุกตลาดไทย

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ประเทศไทยที่เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นมานั้น กำลังถูกค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนบุกตลาด ทั้งในแง่ของการมาตั้งฐานการผลิต และการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ามาไทย ซึ่งถือเป็นตลาดรถอีวีจีนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และใหญ่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา BYD ซึ่งเป็นบริษัทรถไฟฟ้าและไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดเบอร์ 1 ของทั้งในจีนและโลก ได้ประกาศแผนสร้างโรงงานผลิตรถไฟฟ้านอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก ที่จ.ระยอง ส่วนก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน อีกหนึ่งค่ายใหญ่ Great Wall Motor ก็ประกาศไลน์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 10,000 คัน ที่ระยองเช่นกัน ขณะที่ Hozon New Energy Automobile ซึ่งเป็นค่ายรถไฟฟ้าจากเซี่ยงไฮ้ ก็เพิ่งเปิดโชว์รูมในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่เซ็นทรัล พระราม 2

นอกจากมาตั้งโรงงานผลิตและโชว์รูมแล้ว อัตราการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของจีนมายังไทยยังทำสถิติ "สูงสุดเป็นประวัติการณ์" ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ย. 2565 อยู่ที่ 59,375 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 176% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ขณะนี้ ไทยเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก เบลเยี่ยม และ สหราชอาณาจักร เท่านั้น 

1_2

 

Bloomberg ระบุว่า ไทยมีหลายเหตุผลที่ดึงดูดการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน อาทิ

  • เป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
  • เป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 10 ของโลก
  • มีความพร้อมในด้านซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมรถยนต์
  • เป็นชาติแรกในภูมิภาคที่ออกมาตรการอุดหนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า สูงสุด 150,000 บาท/คัน
  • รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ทั้งด้านภาษีและเงื่อนไขต่างๆ รวมใช้งบไปแล้วถึงราว 4.3 หมื่นล้านบาท


ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยก็คือ รัฐบาลจะให้การอุดหนุนทั้งส่วนลดยานยนต์ไฟฟ้า ลดภาษีสรรพสามิต ลดอากรขาเข้า และยกเว้นอากรขาเข้า โดยค่ายรถที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผลิตชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้า ในปี 2024 ขณะที่ประเทศไทยต้องการให้มีปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นสัดส่วน 30% ภายในปี 2030

"นโยบายของเราแสดงให้เห็นว่าเรามุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลก ซึ่งเพิ่มความเชื่อมั่นและดึงดูดผู้เล่นหน้าใหม่หลายรายเข้ามา ส่วนใหญ่มาจากจีน และคาดว่าจะทยอยตามมาเข้าอีกเพิ่มขึ้น" นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวกับบลูมเบิร์ก

จึงไม่น่าแปลกใจที่มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในประเทศไทย ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 นี้ จะเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมรถอีวี 

ทอม อับราฮัม นักวิเคราะห์สายยานยนต์จาก BloombergNEF กล่าวว่า จากตอนนี้ไปจนถึงประมาณปี 2024 หรือ 2025 จะเป็นโอกาสให้อุตสาหกรรมรถอีวีจีนสามารถส่งออกการผลิตส่วนเกินมายังไทย และทดสอบตลาดประเทศไทยได้ 

ทั้งนี้ ภายใต้นโยบาย Net-zero ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จีนได้เดินหน้าผลักดันการพึ่งพาตนเองในด้าน Deep tech และส่งเสริมนโยบายต่างๆ ที่จะเพิ่มการผลิตและซื้อรถอีวีในจีน จนส่งผลให้ตลาดรถยนต์อีวีของจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ โดยมีการพัฒนาทั้งในเรื่องการดีไซน์ เทคโนโลยี ภายใต้ราคาที่จับต้องได้ และทำให้สามารถบุกเข้าไปเจาะตลาดในหลายประเทศที่เคยเต็มไปด้วยรถญี่ปุ่นและรถตะวันตก

ธนกฤต เจ้าของเพจเฟซบุ๊ค Ora Good Cat EV Thailand ที่มีสมาชิกในกลุ่มมากกว่า 92,000 คน ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กถึงมุมมองที่ผู้บริโภคมีต่อรถยนต์แบรนด์จีนว่า ในตอนแรกก็ยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในรถยนต์จีนเท่าไร เพราะมักจะได้ยินชื่อเสียงในทางไม่ค่อยดีของคุณภาพสินค้าเมดอินไชน่า แต่เขาก็ตกหลุมรักดีไซน์ของเจ้ารถ Ora Good Cat จากค่ายเกรทวอลล์ มอเตอร์ ที่เปิดตัวเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว เลยเริ่มหาข้อมูลและคิดเเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าที่จะลองดู และรถคันนี้ก็ดีกว่าเจ้าตัวคาดหวังเอาไว้

500urtra-6

Ora Good Cat เป็นหนึ่งในตัวอย่างของรถอีวีที่สามารถตีตลาดไทยได้ จนเคยขึ้นแท่นเป็นรถอีวีขายดีที่สุดในไทยปีนี้ ด้วยดีไซน์เชิงเรโทร และได้เข้าร่วมโครงการของกรมสรรพสามิต ทำให้ราคาขายถูกลง สตาร์ทที่ 763,000 บาท แม้ราคานี้จะแพงกว่าที่จีน แต่ก็ถือว่าถูกกว่าบรรดารถอีวีสัญชาติญี่ปุ่น 

ส่วนฟาก Hozon Auto เปิดตัวรุ่น Neta V ในเดือนกันยายน โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 549,000 บาท ภายในมีระบบเอไอสั่งการด้วยเสียง และติดตั้งแอป Tiktok บิลท์อินมากับรถ ซึ่งรถรุ่นนี้มียอดจองไปแล้วมากกว่า 500,000 คัน

143779

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ตลาดรถยนต์อีวีจีนในไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก จาก 58% เมื่อปีที่แล้ว เป็น 80% ในปีนี้

"สำหรับเราแล้ว นี่ถือเป็นปีแห่งการนับ 1 ในการบุกตลาดโลก และประเทศไทยก็เป็นจุดหมายแรกของเรา เพราะประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ทำให้การเข้ามาตั้งแต่แรกๆ จะช่วยให้เราได้เปรียบกว่า และผู้บริโภคชาวไทยเองก็ให้การตอบรับที่ดีกับรถแบรนด์จีน ด้วยทั้งความคุ้นเคยทางวัฒนธรรมและเป็นประเทศใกล้เคียงกันในเอเชีย" โฆษกของ Hozon Auto ระบุ 

ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดรถอีวีในไทยจะยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็เป็นที่คาดว่าดีมานด์ในภูมิภาคนี้จะยังขยายตัวต่อเนื่อง โดย BloombergNEF คาดการณ์ว่า จากยอดขายรถยนต์อีวีนั่งส่วนบุคคลที่ 31,000 คัน ในปีนี้ จะทะยานไปแตะ 2.7 ล้านคัน ภายในปี 2040 

 

3_1

ปัจจุบัน หากลองเทียบยอดขายรถยนต์อีวีใน 3 ตลาดอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย (และประเทศอื่นๆ) จะพบว่ายอดขายในไทยนำโด่งกว่าใคร ทั้งปัจจุบันในปี 2022 ไปจนถึงคาดการณ์ในปี 2030

ยอดขาย 2022 (รวม 31,000 คัน)

  • ไทย 15,600 คัน
  • มาเลเซีย 1,600 คัน
  • อินโดนีเซีย 4,100 คัน
  • ประเทศอื่นๆ 9,700 

 

"ญี่ปุ่น" เจ้าตลาดเดิมรอจังหวะเข้า

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเจ้าบ้านเดิมอย่าง "ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น" จะไม่ทำอะไรเลยในศึกรถอีวี 

"โตโยต้า" ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 1 ใน 3 ของตลาดรถยนต์ไทย ได้เตรียมเปิดตัวรถอีวีในไทยปีนี้ โดยโตโยต้าระบุว่า ประเทศไทยนับเป็นฮับที่สำคัญของโตโยต้าในการพัฒนา ผลิต และส่งออกรถยนต์ไปทั่วเอเชีย และบริษัทก็ปัดหมุดลงทุนในไทยมาแล้วถึง 60 ปี โตโยต้าจึงมั่นใจว่าจะยังรักษาและขยายส่วนแบ่งการตลาดได้ และจะเสนอทางเลือกที่หลากหลายของรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กมองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่ารถยนต์อีวีจีนจะมาครองตลาดที่นี่ เพราะฝั่งค่ายญี่ปุ่นเองกำลังรอจังหวะให้ตลาดรถอีวีในไทยโตมากกว่านี้ก่อนจึงจะเข้ามาอย่างเต็มตัว ตัวเลขยอดขายในตอนนี้ยังไม่มากพอที่จะเปลี่ยนทิศทางใหญ่ๆ ได้

เพราะจริงอยู่ที่ว่าการเข้ามาของค่ายรถอีวีจีนในช่วงนี้อาจดูน่าตื่นเต้นสำหรับการลงทุนใหม่ๆ ในไทย แต่ในภาพรวมแล้ว ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยถึง 80% ยังคงครองแชมป์โดย 5 ค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น

ทางฝั่งจีนเองที่เพิ่งตั้งไข่จึงยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก ทั้งการผลิต การขาย การสร้างเครือข่ายการให้บริการ ไปจนถึงการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ที่ใช้เวลากันเป็นสิบๆ ปี 



ที่มา: Bloomberg

แชร์
ฮับรถยนต์อีวีของจีน อยู่ที่ 'ไทย'? แค่ตลาดก็แซงเพื่อนบ้านหลายขุม