ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินธุรกิจขนส่งพัสดุในปี 2566 ว่า มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องที่ 18% หรือมีมูลค่า 1.15 แสนล้านบาท ตามการเติบโตของตลาด E-Commerce โดยกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุที่ต่อยอดมาจากธุรกิจ E-Commerce จะเติบโตก้าวกระโดด
ขณะที่กลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิมประเมินว่า จะอยู่ในระดับค่อนข้างทรงตัว แนะผู้ประกอบการขนส่งพัสดุดั้งเดิมให้รักษามาตรฐานการบริการและการจัดส่ง พร้อมทั้งสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่โดดเด่น และขยายการบริการไปยังตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) มากขึ้น
โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจขนส่งพัสดุเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทและรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เน้นช่องทางการกระจายสินค้าไปถึงผู้บริโภคได้เร็ว
ในปี 2561-2562 ธุรกิจขนส่งพัสดุมีมูลค่าในตลาดราว 4.6 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี โดยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของตลาด E-Commerce
ต่อมาในช่วงปี 2563-2564 เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับหนุนให้ธุรกิจขนส่งพัสดุเติบโตสูงกว่า 30% มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยมีผู้ประกอบการหลายรายเข้ามาลงทุนในตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุรับผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
มาจนถึงปี 2565 หลังจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งพัสดุยังคงมีแนวโน้มเติบโตดี มีมูลค่าในตลาดราว 9.6 หมื่นล้านบาท จากการที่ผู้คนมีความคุ้นชินกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
สำหรับปี 2566 ttb analytics ธุรกิจขนส่งพัสดุจะยังคงเติบโต แต่อาจไม่เติบโตสูงเท่าช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากโควิด-19 คลี่คลายมากขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าจากช่องทางต่าง ๆ โดยคาดว่าลูกค้าในตลาด E-Commerce จะเริ่มถึงจุดอิ่มตัว
ปัจจุบันผู้ประกอบการหลายรายเริ่มปรับตัวเพิ่มช่องทางการขายสินค้าทางออนไลน์ใหม่ ๆ เช่น Live Commerce ผ่านสื่อออนไลน์ อีกทั้ง ความเป็นไปได้ที่จะได้ฐานลูกค้าผ่านการขายสินค้าให้ผู้บริโภคโดยตรง (B2C) เพิ่มขึ้น มีสัดส่วนกว่า 50% จากการที่ผู้ประกอบการทำการค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจด้วยกัน (B2B) มีการปรับรูปแบบการขายสินค้าโดยตรงสู่ผู้บริโภคมากขึ้น
“ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิมที่ไม่ได้มีช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ของตัวเองจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาตลาดในเชิงคุณภาพมากขึ้น รักษามาตรฐานการบริการและการจัดส่ง ระยะเวลาการจัดส่ง การจัดการการส่งคืนสินค้าให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความประทับใจให้กลับมาใช้ซื้อซ้ำ เกิดการบอกต่อ ต้องขยายการบริการไปยังตลาดเฉพาะกลุ่มให้มากขึ้น โดยเฉพาะบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เช่น การบริการรับ-ส่งสินค้าตามความต้องการ การขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ เพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจขยายการบริการให้ครบวงจร เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคได้ใช้ช่องทางในการบริการได้หลากหลาย ตอบโจทย์ผู้บริโภคและสร้างผลกำไรให้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น”
โดยข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDTA) ระบุว่า ประเทศไทยมีมูลค่าตลาด E-Commerce กลุ่ม B2C สูงที่สุดในอาเซียนตลอด 6 ปีที่ผ่านมา
ธุรกิจขนส่งพัสดุมีการแข่งขันภายในสูง ถึงแม้จะมีรายได้ที่เติบโตต่อเนื่อง แต่มีความสามารถในการทำกำไรที่น่ากังวล เนื่องจากธุรกิจต้องพึ่งพาผู้บริโภคเป็นหลัก โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการแต่ละรายมีการนำกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้เพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารคลังสินค้าและการจัดส่ง (Fulfillment) การขยายพื้นที่การให้บริการ การขายแฟรนไชส์ และการลดราคาค่าบริการจัดส่งพัสดุ
ทั้งนี้ แนะนำว่าผู้ประกอบการอาจไม่สามารถนำกลยุทธ์ด้านราคามาใช้ในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งมีสัดส่วนราว 40% ของต้นทุนค่าขนส่งทั้งหมด ส่งผลให้ในช่วงปี 2561-2565 ผู้ประกอบการหลายราย ยังคงมีอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ที่ลดลงหรือขาดทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิม ในขณะที่เริ่มเห็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เป็นบวกในปี 2565 จากกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุที่ต่อยอดมาจากธุรกิจ E-Commerce บางรายแล้ว
จะเห็นได้ว่า ธุรกิจขนส่งพัสดุปี 2566 มีแนวโน้มที่สดใส แต่ก็มีโอกาสทำกำไรได้ยาก เนื่องจากต้นทุนต่างๆเพิ่มขึ้น และการแข่งขึ้นที่ดุเดือด โดยในประเทศไทยมีผู้เล่นหลัก 3 เจ้าใหญ่ คือ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส , แฟลช เอ็กซ์เพรส และ บริษัทไปรษณีย์ไทย
โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC ) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2563 แฟลช เอ็กเพรสครองส่วนแบ่งตลาดบริการจัดส่งพัสดุถึงบ้านราว 15% เป็นอันดับ 3 รองจาก เคอรี่ เอ็กเพรส ผู้นำตลาด 29% และไปรษณีย์ไทยอยู่ที่ 20%
วันนี้ Spotlight จะพามาดูรายได้ ของ 3 ค่ายธุรกิจขนส่งพัสดุ ชั้นนำของไทยดังนี้
Kerry Express
ปี 2562 รายได้ 19,894 ล้านบาท กำไร 1,328 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 19,010 ล้านบาท กำไร 1,405 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 18,972 ล้านบาท กำไร 46 ล้านบาท
ปี 2565 (9 เดือนแรก) รายได้ 13,056 ล้านบาท ขาดทุน 1,898 ล้านบาท
ล่าสุด Kerry ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2565 Kerry ทำรายได้ไปทั้งหมด 17,003 ล้านบาท มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด 19,832.8 ล้านบาท ทำให้ Kerry ขาดทุนสุทธิ 2829.8 บาท พลิกกลับมาขาดทุนเป็นครั้งแรกจากผลการดำเนินการปี 2562-2564 ที่ได้กำไร 1,328.55 ล้านบาท 1,405.03 ล้านบาท และ 46.92 ล้านบาท ตามลำดับ
ไปรษณีย์ไทย
-ปี 2562 รายได้ 27,162 ล้านบาท กำไร 589 ล้านบาท
-ปี 2563 รายได้ 23,712 ล้านบาท กำไร 238 ล้านบาท
-ปี 2564 รายได้ 21,226 ล้านบาท ขาดทุน 1,730 ล้านบาท
-ปี2565 คาดการณ์ รายได้ 20,000 ล้านบาท
โดย “ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ออกมาคาดว่า ปี 2565 ไปรษณีย์ไทยน่าจะมีการนำจ่ายพัสดุเฉลี่ย 4.5-5 ล้านชิ้น/วัน หรือคิดเป็นรายได้ 20,000 ล้านบาท/ปี
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมธุรกิจเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีหลังมีการปรับตัวชิงส่วนแบ่งตลาดสำเร็จ สำหรับปี 2566 ไปรษณีย์ไทยได้วางกลยุทธ์ไว้ คือ Fit the Core Business & Explore New Ocean เสริมแกร่งธุรกิจหลัก และสำรวจหาน่านน้ำธุรกิจใหม่
แฟลชเอ็กซ์เพรส
-ปี 2562 รายได้ 2,122 ล้านบาท ขาดทุน 1,665 ล้านบาท
-ปี 2563 รายได้ 9,738 ล้านบาท ขาดทุน 716 ล้านบาท
-ปี 2564 รายได้ 17,607 ล้านบาท กำไร 5.6 ล้านบาท
-ปี 2565 คาดการณ์รายได้ 17,600 ล้านบาท
ด้านแฟลชเอ็กซ์เพรส นายคมสันต์ ลี ซีอีโอของแฟลช กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์กับนิเคอิเชียว่า ส่วนแบ่งตลาดของแฟลช ในธุรกิจส่งด่วนขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 แล้วในปี 2565 ที่ผ่านมา ด้วยปริมาณพัสดุมากถึง 700 ล้านชิ้น
โดยปี 2566 นี้ Flash Express วางแผนทุ่มเม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 2,200 ล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่ารายได้ในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% เป็นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และ 50% มาจากต่างประเทศ