ธุรกิจการตลาด

ทำไม 'โตชิบา' ธุรกิจ 147 ปีจากญี่ปุ่นต้องขายกิจการให้บริษัทอื่น?

28 มี.ค. 66
ทำไม 'โตชิบา' ธุรกิจ 147 ปีจากญี่ปุ่นต้องขายกิจการให้บริษัทอื่น?

โตชิบา (Toshiba) ขายกิจการให้กองทุน Japan Industrial Partners Inc. หรือ JIP ในมูลค่า 2 ล้านล้านเยน หรือราว 5.2 แสนล้านบาท หลังประสบปัญหาในการทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2015 ด้านบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ชี้แจงว่าการซื้อกิจการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ กับการดำเนินธุรกิจ และอนาคตของโตชิบาในประเทศไทย

ในวันที่ 23 มีนาคม สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่าบอร์ดบริหารของโตชิบาที่ทำธุรกิจพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ามายาวนานถึง 147 ปี ได้ตกลงขายกิจการของบริษัทให้บริษัทอื่นแล้วเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารในบริษัทให้โปร่งใสและมีประสิทธิภาพขึ้น 

โดยหลังจากได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารเรียบร้อยแล้ว JIP จะขอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นในราคาหุ้นละ 4,620 เยน (สูงกว่าราคาปิดในวันก่อนหน้าที่ 4,213 เยน) และนักลงทุนจะต้องยอมขายหุ้นรวม 2 ใน 3 ของหุ้นในตลาดทุนการขายกิจการนี้ถึงจะสำเร็จ และหลังจาก JIP ได้หุ้นมาแล้ว บริษัทโตชิบาจะถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์โตเกียว

 

ปัญหาด้านความโปร่งใส และการเงินเรื้อรั้งตั้งแต่ปี 2015

การขายกิจการในครั้งนี้เป็นความพยายามของโตชิบาที่จะประคองให้บริษัทอยู่รอด หลังประสบปัญหาเกี่ยวกับความโปร่งใสในการบริหารงาน ความผิดพลาดทางบัญชี ในปี 2015 และปัญหาทางการเงินจากการลงทุนในโรงงานนิวเคลียร์ที่ล้มละลายในปี 2017 ที่ทำให้โตชิบาเสียหายหนักถึง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องขายธุรกิจผลิตชิปเซ็ตให้กิจการค้าร่วมที่นำโดย Bain Capital ในมูลค่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2020 โตชิบาก็เจอปัญหาในการทำบัญชีอีก นอกจากนี้ยังเกิดกรณีโกงผลโหวตในงานประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี ทำให้นักลงทุนเรียกร้องให้มีการสืบสวนภายใน ทำให้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงการบริหาร และมีบริษัททุนคือ CVC Capital Partners เสนอเงิน 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อโตชิบากลับไปเป็นบริษัทจำกัด 

ในช่วงปี 2020-2023 ได้มีบริษัทมากมายเข้ามาเสนอเงินซื้อกิจการของโตชิบาไม่ว่าจะเป็น Bain Capital, CVC Capital Partners และกิจการค่าร่วมของ JIP และ Japan Investment Corp (JIC) ซึ่งเป็นบริษัทลงทุที่สนับสนุนโดยรัฐบาลญี่ปุ่น

ในช่วงนั้น ได้มีการคาดการณ์มากมายว่าบริษัทใดจะได้บริษัทเทคโนโลยีเก่าแก่ของญี่ปุ่นรายนี้ไป ถึงจะพอคาดเดาได้อยู่แล้วว่าโตชิบาน่าจะเลือกขายบริษัทให้กับบริษัทญี่ปุ่นด้วยกันมากกว่า เพราะโตชิบาถือเป็นธุรกิจและแบรนด์ที่มีความสำคัญต่อญี่ปุ่น 

ในที่สุด ในวันที่ 23 มีนาคม JIP ซื่งเป็นกองทุนของญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญในด้านฟื้นฟูธุรกิจก็ปิดดีลซื้อโตชิบาได้ไปในราคา 2 ล้านล้านเยน โดยก่อนหน้านี้ JIP เป็นผู้ซื้อกิจการคอมพิวเตอร์แบรนด์ Vaio จากโซนี่ไปเมื่อปี 2014 และซื้อกิจการกล้องถ่ายรูปของ Olympus ไปในปี 2020

จากรายงานผลประกอบการของโตชิบาในวันที่ 31 ธันวาคมปี 2022 หรือ 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2022 (เม.ย. 2022-มี.ค.2023) โตชิบามีรายได้ทั้งหมด 2.37 ล้านล้านเยน มีกำไร 8 พันล้านเยน ลดลง 90.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

Toshiba ไทยยืนยันไม่กระทบการทำงานในไทย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บริษัทโตชิบาในญี่ปุ่นกำลังจะเปลี่ยนผู้บริหาร โตชิบาไทยยืนยันว่าการขายกิจการของโตชิบาให้กลุ่มบริษัทญี่ปุ่น JIP จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ กับการดำเนินธุรกิจ และอนาคตของโตชิบาในประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่แบรนด์ผลิตภัณฑ์และผู้บริโภคยิ่งขึ้น

จากแถลงการณ์ โตชิบาได้เซ็นสัญญาโอนหุ้นกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Toshiba Lifestyle Products and Services (TLSC) จำนวน 80.1% ให้กับ Midea ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าของจีน ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ปี 2016 

ในประเทศไทย  กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ถูกบริหารโดย บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด มาตั้งแต่สิงหาคมปี 1969 และ บริษัทฯ ยังคงยืนหยัดที่จะจำหน่าย และให้บริการผลิตภัณฑ์โตชิบาตามปกติ และไม่มีผลกระทบใดๆต่อตัวแทนจำหน่าย และลูกค้า

บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด มีแผนการพัฒนาและขยายไลน์สินค้าเพิ่มเติม รวมถึงจัดทำกิจกรรมการตลาด และส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายเติบโตมาตลอด  นอกจากนี้ยังพัฒนางานบริการ ขยายศูนย์บริการและทำกิจกรรมตอบแทนสังคมอย่างต่อเนื่อง โดย Midea Group ยังคงส่งเสริมและลงทุนต่อเนื่องในประเทศไทย  โดยยังบริหารโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ภายใต้แบรนด์โตชิบา 2 โรงงานหลัก ได้แก่ 

  1. บริษัท ไทยโตชิบาอุตสาหกรรม จำกัด (TTEI)
  2. บริษัท โตชิบาคอนซูเมอร์ โปรดัคส์ จำกัด (TPT) ซึ่งผลิตผลิตภัณฑ์ อาทิ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องครัว และเครื่องใช้ในบ้าน สำหรับจำหน่ายในประเทศไทย และเป็นฮับสำหรับส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก 

นอกจากนี้ โตชิบาประเทศไทยยังลงทุนเพิ่มในโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศ ภายใต้แบรนด์ไมเดีย เพื่อเป็นฮับสำหรับในประเทศ และส่งออกไปจำหน่ายในภูมิภาคเอเชีย 

 

ที่มา: Nikkei Asia, Reuters 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT