ธุรกิจการตลาด

รถไฟฟ้า ทำตลาดรถน้ำมันสะทือน ยอดจองในมอเตอร์โชว์ 9,234 คัน

10 เม.ย. 66
รถไฟฟ้า ทำตลาดรถน้ำมันสะทือน ยอดจองในมอเตอร์โชว์ 9,234 คัน

การจัดงาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44” เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา และถือว่าประสบความสำเร็จจากยอดจองรถในงานทั้งสิ้น 45,983 คัน เติบโตขึ้น 35.5% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา ที่มีตัวเลขยอดจองรวมภายในงานอยู่ที่ 33,936 คันในขณะที่ผู้เข้าชมงานมากถึง  1,620,459 คน 

นอกจากยอดจองรถในงานปีนี้ จะเติบโตถึง 35.5% เทียบกับปีที่แล้ว ความน่าสนใจกว่าคือ ยอดการจองรถไฟฟ้าภายในงานมอเตอร์โชว์ครั้งที่   44  คิดเป็นสัดส่วน 21.53% ของยอดจองรถทั้งหมด หรือ  9,234 คัน  ซึ่งนั่นแปลว่า ในปี 2566 รถที่วิ่งอยู่บนท้องถนนจะมีรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมา ทะลุ 2 หมื่นคันแน่นอน นับเป็นตัวเลขที่ก้าวกระโดดจากในปี 2565 อย่างมาก ที่รถไฟฟ้าจดทะเบียนถูกต้องวิ่งอยู่บนท้องถนนราว 1 หมื่นคัน 

กระแสความนิยมรถไฟฟ้าในประเทศไทยได้เกิดขึ้นแล้วแน่นอน หลังจากนี้โครงสร้างพื้นฐาน และ Ecosystem ของรถไฟฟ้าคงต้องเร่งให้ทันกับทั้งความต้องการและปริมาณรถที่จะถูกทยอยส่งมอบด้วย เราลองมาดูกันว่า  รถขายไหนขายดีที่สุด 

5 อันดับแบรนด์รถขายดีที่สุดในงาน 

อันดับ 1.TOYOTA  6,042  คัน
อันดับ 2. Honda  4,304 คัน
อันดับ 3.MG   3,929 คัน 
อันดับ 4.Suzuki 3,887 คัน  
อันดับ 5.GWM 3,117  คัน 

5 อันดับแบรนด์รถไฟฟ้าขายดีที่สุดในงาน  

อันดับ 1 MG   2,750 คัน
อันดับ 2 BYD 2,737 คัน
อันดับ 3 GWM 1,678 คัน
อันดับ 4 NETA 1,300 คัน
อันดับ 5 VOLVO 185  คัน 

 

สรุปยอดจองรถมอเตอร์โชว์ ครั้งที่44

อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากงาน Motor Show ครั้งล่าสุดที่ปิดตัวเลขอย่างสวยงามที่ยอดจอง 42,885 คันนั้น แม้ด้านหนึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงภาพความคึกคักของตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยในช่วงระหว่างการจัดงาน อีกด้านหนึ่งยังคงมีมุมมองระมัดระวังต่อภาพตลาดรถยนต์โดยรวมในประเทศทั้งปี 2566 นี้ สะท้อนจากประเด็นข้อสังเกต ดังต่อไปนี้

 (1) ยอดจองรถยนต์หลักของไทยกลุ่มที่ใช้น้ำมันยังฟื้นตัวไม่ปกตินัก


พิจารณาจากตัวเลขยอดจองรถยนต์รวมหลังหักรถยนต์ BEV เกือบหมื่นคันออกแล้ว เหลือรถยนต์กลุ่มหลักที่ใช้น้ำมันเพียง 33,651 คัน ซึ่งแม้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ช่วงที่มีการระบาดหนักของโควิด ที่ปิดยอดจองรถกลุ่มนี้ได้เพียง 28,812 คัน ทว่าหากเทียบกับยอดจองงานเดียวกันในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิดที่มียอดจองรถยนต์กลุ่มนี้สูงถึง 37,769 คันแล้ว ก็นับว่ายังห่างกันอยู่ระดับหนึ่ง

(2) ยอดจองรถยนต์หรูมีสัญญาณที่ปะปน

ซึ่งอาจเป็นผลจากจังหวะการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ทั้งก่อนและหลังงานของแต่ละค่าย และการที่ผู้ซื้อบางส่วนหันไปจองรถยนต์ BEV ของค่ายที่ไม่ได้เข้าร่วมงานด้วย

(3) ยอดจองของค่ายรถชั้นนำบางค่ายกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มรถราคาย่อมเยา

ซึ่งอาจสะท้อนถึงกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังมีมุมมองที่ระมัดระวังและจะยังคงประมาณการยอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้ไว้ที่ 865,000 ถึง 895,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 1.8% ถึง 5.4% จากปี 2565

สรุปยอดจองรถงานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 44

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT