คุณแก้ม เจ้าของร้านปังชา ออกมาเคลียร์จบทุกปัญหาผ่านรายการโหนกระเเส ชื่อ ‘ปังชา’ ใครก็ใช้ได้ เปิดใจที่มาของโลโก้ พร้อมยุติการดำเนินคดีทุกร้าน
ยุติการดำเนินคดีทั้ง 3 ร้าน
คุณแก้ม ได้ขอโทษเจ้าของร้านทั้ง 3 ร้าน ที่ไปยื่นโนติส พร้อมเปิดเผยว่า ตนให้คุณค่ากับการออกแบบเครื่องหมายการค้า และเชื่อมั่นในแบรนด์ที่มาจากภูมิปัญญาที่คนไทยหลายๆคนมองข้าม โดยพร้อมยุติการดำเนินคดีทั้ง 3 ร้าน ดังนี้
ปังชา ร้านน้ำชาเชียงราย : โดยทางร้านถูกส่งโนติสเรียกเงิน 102 ล้านบาท หากเพิกเฉยจะโดนปรับวันละ 10,000 บาท โดยเจ้าของร้านเปิดเผยว่าตนมี 2 ร้าน ร้านแรกเลยไปเปลี่ยนชื่อเลย อีกร้านยังไม่เปลี่ยน หลังที่รับโนติสมา ตนก็เครียดมาก และคิดจะหย่ากับภรรยาเพื่อแยกสมบัติ กลัวว่าหากฟ้องล้มละลายมาภรรยาของตนจะได้ไม่ต้องมารับด้วย
ทางช้างเผือก จ.สงขลา : โดยทางร้านถูกส่งโนติสเรียกเงิน 7 แสนบาท หลังจากตนเปิดร้านเพียงแค่ 19 วัน และหากเพิกเฉยจะโดนปรับวันละ 10,000 บาท โดยคุณแตงกวา เจ้าของร้านแจ้งว่า ร้านของคนมีเพียงคำว่าปังชาในกล่องไฟหน้าร้าน ชื่อ ปังชา คือ คำย่อของชาไทยกับขนมปัง ซึ่งในเมนูจะเขียนเป็นชื่อเต็ม ไม่ใช่น้ำแข็งไส
ตั้งใจชง จ.สงขลา : โดยทางร้านถูกส่งโนติสเรียกเงิน 2 ล้านบาท และถูกบอกให้เอาผลิตภัณฑ์ที่เป็นถ้วยทองเหลืองออก รวมถึงรูปทุกอย่างบนโซเชียล โดยทางร้านลูกไก่ทองไปจดแจ้งว่า ภาชนะเป็นออริจินัล โดยถ้วยที่ตนใช้นั้น ตนซื้อมาจากจตุจักรกว่า 10 ปีแล้ว ร้านเปิดมานาน และปิดรีโนเวทช่วงโควิด ในส่วนเมนูใช้คำว่า ปังหนาว
ปังชา ใครก็ใช้ได้
คุณทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฏหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ออกมายืนยันกลางรายการโหนกระแส ว่า “ปังชา” และ “Pang Cha” ร้านอื่นสามารถใช้ได้
เครื่องหมายการค้าที่ได้จะทะเบียน ไม่สามารถแยกบางส่วน บางตอน ไปสงวนสิทธิ์ได้ (จดไปแบบไหน ต้องเอาไปแบบนั้น 100%) ทางลูกไก่ทองจดเครื่องหมายการค้า เป็นโลโก้ทั้งหมด มีคำว่าปังชา มีโลโก้ตัว G ซึ่งเวลาจะบังคับต้องเอาไปทั้งอัน แยกส่วนไม่ได้
นอกจากนี้ คุณทักษอร ยังแจ้งว่า เรื่องของภาชนะร้านตั้งใจชง อาจทำให้ใครหลายคนสับสน แต่ตนยืนยันในเคสนี้ถือว่าใช้ได้ เพราะร้านลูกไก่ทองมี 3 มุม ส่วนอีกร้านมี 4 เหลี่ยม อีกทั้งยังมีหลายจุดที่ไม่เหมือน เช่น ขา ถาดรับดรายไอซ์ รวมถึงการม้วนเข้าและม้วนออกของขา ฉะนั้น กรณีแบบนี้จึงถ้วยจึงไม่คล้ายกัน และใช้ได้
แจ้งปมโลโก้ คล้ายคลึงกับลายสุราชื่อดัง
คุณแก้ม ได้ออกมาเปิดเผย ตนได้จ้างบริษัทบริษัทหนึ่งให้ออกแบบให้ โดยได้บรีฟนักออกแบบว่า’ ขอให้สะท้อนสู่ความเป็นไทย คล้ายๆกับยี่ห้อสุราดังเท่านั้น’
โดยโลโก้นั้น วาดมาจากรูปภาพถ่ายของตน ที่เคยถ่ายไว้ ว่าจะตักท่าไหน กินท่าไหน เพียงเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาลอกเลียนแบบลายจากสุรายี่ห้อชื่อดังแต่อย่างใด
กรณีศึกษาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของร้านปังชา นั้นไม่ใช่กรณีแรกในสังคมไทย เพราะก่อนหน้านี้ร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยหลายแบรนด์ก็ต้องเปิดฉากฟ้องร้องกันมาแล้ว ซึ่งหากมองเป็นเรื่องดีอย่างน้อยก็ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเกิดความตื่นตัวในเรื่องการจดทรัพย์สินทางปัญญา เพราะหลายแบรนด์มีการคิดค้น สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆในสังคมไทย และหากใครลอกเลียนทรัพย์สินทางปัญญาของเรา ก็สามารถฟ้องร้องทางกฎหมายได้เช่นกัน
ดังนั้นยิ่งผู้ประกอบการไทย มีการจดทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสของการพัฒนาธุรกิจให้เกิดสิ่งใหม่ๆ เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคก็ยอมจะมากขึ้นตาม