Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
รู้จัก ไฟเซอร์ บริษัทยาอายุ 174 ปี รู้หรือไม่? ยาที่คุณรู้จักมากกว่าครึ่ง เป็นของไฟเซอร์
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

รู้จัก ไฟเซอร์ บริษัทยาอายุ 174 ปี รู้หรือไม่? ยาที่คุณรู้จักมากกว่าครึ่ง เป็นของไฟเซอร์

23 พ.ย. 66
09:37 น.
|
1.2K
แชร์

หากพูดถึงบริษัทยา ‘ไฟเซอร์’ (Pfizer) หลายๆ คนน่าจะนึกถึงวัคซีนโควิด-19 ที่ไฟเซอร์พัฒนาร่วมกับ BioNTech ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักภายใต้ชื่อ Comirnaty เพราะเป็นไม่กี่ครั้งที่ผลิตภัณฑ์ของไฟเซอร์เป็นที่รู้จักในชื่อบริษัทก่อนชื่อแบรนด์ ถึงแม้ไฟเซอร์จะเป็นบริษัทยาที่มีความเป็นมายาวนานถึง 174 ปี และมีผลิตภัณฑ์ยามากมายที่หลายๆ คนอาจไม่รู้ว่าพัฒนาและผลิตโดยไฟเซอร์

ปัจจุบัน ไฟเซอร์เป็นบริษัทยาที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก โดยในวันที่ 23 พฤศจิกายน มีมูลค่าสูงถึง 1.712 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6 ล้านล้านบาท และในปี 2022 ทำรายได้ไปถึง 100,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.5 ล้านล้านบาท และมีสินค้าจำหน่ายไปทุกภูมิภาคทั่วโลก

ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูความเป็นมาของหนึ่งในบริษัทยาที่ใหญ่และมีอิทธิพลที่สุดในโลกกันว่ามีความเป็นมาอย่างไร และมีธุรกิจด้านไหนบ้างในปัจจุบัน

 

บริษัทผู้คิดค้นวิธีหมัก ‘เพนิซิลิน’ รักษาทหารในสงครามโลก

ไฟเซอร์ ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ถูกก่อตั้งในปี 1849 ภายใต้ชื่อ "Charles Pfizer & Company" โดยสองพี่น้อง Charles Pfizer และ Charles F. Erhart ซึ่งอพยพมาที่สหรัฐฯ จากเยอรมนีในปี 1848 

สำนักงานแรกของไฟเซอร์อยู่ที่เมือง Williamsburgh รัฐ New York โดยได้เริ่มธุรกิจด้วยการผลิตยาฆ่าปรสิตที่ชื่อว่า santonin และมีชื่อเสียงในด้านการผลิตกรดซิตริก 

t35j3x0id2j61

อย่างไรก็ตาม ไฟเซอร์เริ่มมีชื่อเสียงและทำรายได้ได้มากขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เพราะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เกิดการขาดแคลนของ calcium citrate ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกรดซิตริก ทำให้ไฟเซอร์ต้องพยายามคิดค้นวิธีสร้างกรดซิตริกแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็ทำได้สำเร็จเมื่อนักเคมีของไฟเซอร์ค้นพบว่ามีราชนิดหนึ่งที่เมื่อนำมาหมักกับน้ำตาลแล้วจะทำให้เกิดกรดซิตริก 

ไฟเซอร์เริ่มผลิตกรดซิตริกเพื่อจำหน่ายด้วยวิธีการหมักรากับน้ำตาลในปี 1919 ซึ่งเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง และด้วยวิธีนี้เอง ไฟเซอร์จึงกลายเป็นบริษัทยาที่มีทักษะและเทคโนโลยีในการผลิต ‘เพนิซิลิน’ (Penicillin) ยาฆ่าเชื้อ ได้มากและรวดเร็วกว่าบริษัทอื่นๆ ด้วยวิธีการหมัก และมีส่วนสำคัญในการผลิตยาฆ่าเชื้อชนิดนี้เพื่อใช้ในการรักษาทหารที่ป่วยและได้รับบาดเจ็บในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
deliveryservice

 

ผู้ผลิตยาดัง ‘ไวอากร้า’ และ ‘พอนสแตน’

ทั้งนี้ แม้ไฟเซอร์จะกลายเป็นบริษัทยาขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงจากเพนิซิลิน เมื่อราคาเพนิซิลินเริ่มตกลงในช่วงหลังสงคราม ไฟเซอร์ก็เริ่มลงทุนกับการพัฒนายาใหม่ของตัวเองมากขึ้น ทำให้ในช่วงปี 1950s-2000s เป็นช่วงที่ไฟเซอร์ได้คิดค้นยาหลายตัวที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน เช่น 

  • ‘ไวอากร้า’ (Viagra) หรือ sildenafil ยาที่ถูกคิดค้นในปี 1989 เพื่อรักษาโรคหัวใจ แต่มีผลทำให้อวัยวะเพศชายแข็งตัว จนทำให้กลายมาเป็นยาที่ช่วยบรรเทาภาวะเสื่อมสมรรภภาพทางเพศได้
  • ‘โซลอฟต์’ (Zoloft) หรือ sertraline ยาปรับสารสื่อประสาทในสมองที่ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1982 และเริ่มจำหน่ายในปี 1991 สำหรับรักษาโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล
  • ‘ลิปิเตอร์’ (Lipitor) หรือ atorvastatin ยาสำหรับรักษาภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูงที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในปี 1997 ร่วมกับบริษัท Warner–Lambert ซึ่งเป็นหนึ่งในยาที่ขายดีมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของไฟเซอร์และของโลก โดยจากปี 1997 ถึงปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่สิทธิบัตรยาลิปิเตอร์หมดอายุ ยานี้สร้างรายได้ให้ไฟเซอร์ประมาณ 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.4 ล้านล้านบาท

lipitor-landov-16884262_h9882

นอกจากนี้ ไฟเซอร์ยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการผลิตยาดังอีกมากมายจากการที่ไฟเซอร์ได้เข้าไปซื้อบริษัทยาที่ขนาดเล็กกว่ามาอยู่ในเครือของตัวเอง เช่น Warner–Lambert ที่ไฟเซอร์เข้าไปเทคโอเวอร์ในปี 2000, Wyeth เจ้าของวัคซีน Prevnar วัคซีนสำหรับป้องกันโรคนิวโมคอคคัสในทารก และ Pharmacia เจ้าของยา Celebrex เพื่อรักษาอาการข้ออักเสบและอาการปวด และยา ‘พอนสแตน’ (Ponstan) ยาแก้ปวดที่คนไทยรู้จักกันดีในฐานะยาแก้ปวดประจำเดือน

ในปัจจุบัน ไฟเซอร์มีบริษัทยาในเครือ 7 แห่ง และมีแบรนด์ยาและวัคซีนที่เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยามากกว่า 300 ชนิดในสหรัฐฯ และทั่วโลก ทำให้ไฟเซอร์เป็นบริษัทยาที่ใหญ่และมีมูลค่าตลาดที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งตำแหน่งนี้ก็ถูกตอกย้ำให้มั่นคงขึ้นอีกจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ไฟเซอร์และบริษัทผลิตยาและอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ในขณะนั้นมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากการจำหน่ายวัคซีนป้องกันโควิด-19
comirnaty

 

เติบโตก้าวกระโดดในช่วงโควิด ปัจจุบันยอดขายลดฮวบ

ไฟเซอร์ พบการเติบโตอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปี 2022 จากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้มีความต้องการใช้วัคซีนอย่างเร่งด่วน และไฟเซอร์ก็เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาวัคซีน mRNA ซึ่งได้รับอนุญาตจาก FDA ของสหรัฐฯ ให้นำมาใช้ในมนุษย์ได้ในเดือนสิงหาคมปี 2021

ในเดือนธันวาคมปี 2021 ราคาหุ้นของไฟเซอร์ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 59.48 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% นับตั้งแต่โรคระบาดเริ่มขึ้นในปี 2019 ทำให้มูลค่าตลาดในขณะนั้นทะลุ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทคู่แข่งอย่างโมเดอร์นาทะยานขึ้นกว่า 1,000% ในช่วงเดียวกันจากความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน

ในปี 2021 รายได้ของไฟเซอร์เพิ่มขึ้น 95% จาก 41,651 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 เป็น 81,288 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2022 ก็เพิ่มขึ้นอีก 23% เป็น 100,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไฟเซอร์เป็นบริษัทยาแรกในโลกที่มีรายได้ต่อปีเกิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตนี้ก็ชะงักและลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อการระบาดของโควิด-19 ลดความรุนแรงลง และการกลายสายพันธุ์ทำให้โควิดมีความรุนแรงลดลง ทำให้คนมองว่าตนเองไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นเพิ่มแล้ว หรือถ้าติดเชื้อก็มั่นใจว่าตัวเองสามารถดูแลตัวเองแล้วหายเองได้โดยไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส

ความกังวลต่อโรคโควิดที่ลดลงทำให้รายได้และราคาหุ้นของไฟเซอร์ในปี 2023 ตกลงอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้ (23 พ.ย.) ราคาหุ้นของไฟเซอร์ลดลงแล้วมากกว่า 40% ขณะที่มูลค่าตลาดลดลงเกือบครึ่งจากช่วงพีค

จากรายงานของไฟเซอร์ รายได้ในไตรมาสที่ 3 ของไฟเซอร์อยู่ที่ 1.32 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 42% จากปีก่อนหน้า และขาดทุนถึง 2.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากยอดขายวัคซีนที่ลดลงเหลือเพียง 1.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 70% จากปีก่อนหน้า และยอดขายยาต้านไวรัสโควิด ‘แพ็กซ์โลวิด’ (Paxlovid) ที่ทำยอดขายได้เพียง 202 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 97% จากปีก่อนหน้า

230315124327-paxlovid-file

ยอดขายที่ลดลงนี้ทำให้ไฟเซอร์ต้องลดประมาณการณ์รายได้ของปีนี้ลง และประกาศแผนลดต้นทุน 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเวลาเดียวกัน

ดังนั้น ในขณะนี้ไฟเซอร์จึงถือได้ว่าตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะผลิตวัคซีนและยาออกมาเกินความต้องการจนขาดทุน ทำให้ต้องหาทางระบายสินค้าที่มีออกพร้อมกับลดต้นทุนไปพร้อมๆ กัน

ในปัจจุบัน โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วไทยประมาณ 50 แห่งได้สั่งยาแพ็กซ์โลวิดหรือยาต้านไวรัสโควิดมาเพื่อใช้บริการผู้ป่วย หลังจากก่อนหน้านี้มีโรงพยาบาลรัฐเท่านั้นที่ได้ซื้อยาดังกล่าว โดยยาชนิดนี้สามารถลดอาการป่วยของผู้ป่วยและป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง จากทั้งอายุ และโรคประจำตัว อาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้หากรับประทานภายใน 5 วันหลังมีอาการ

จากข้อมูลของไฟเซอร์ ราคาขายของแพ็กซ์โลวิดในประเทศอยู่ที่ 18,700 บาทต่อ 1 คอร์สไม่รวม vat โดยผู้ป่วยต้องรับประทานยาครั้งละ 3 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน





อ้างอิง: Pfizer, CNBC, Bloomberg, Mint

แชร์
รู้จัก ไฟเซอร์ บริษัทยาอายุ 174 ปี รู้หรือไม่? ยาที่คุณรู้จักมากกว่าครึ่ง เป็นของไฟเซอร์