ByteDance บริษัทแม่ TikTok เตรียมถอยทัพลดขนาดธุรกิจเกม โดยการปลดคนงาน และขายสตูดิโอสร้างเกม หลังประเมินแล้วว่าไม่สามารถเจาะตลาดแข่งกับผู้นำตลาดอย่าง Tencent ได้
ในวันที่ 27 พ.ย. สื่อต่างประเทศรายงานว่า ByteDance กำลังจะลดขนาดและลดการลงทุนใน Nuverse แบรนด์ธุรกิจเกมของ ByteDance โดยการเลย์ออฟพนักงานหลายร้อยคน และลดขนาดโปรเจคเกม เพราะประเมินจากสถานการณ์ในปัจจุบันแล้วว่าไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน และไม่สามารถที่จะแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งใหญ่อย่าง Tencent และ NetEase Inc. ได้
แหล่งข่าวให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า ทาง ByteDance ได้สั่งให้พนักงานหยุดพัฒนาเกมที่ยังไม่ปล่อยภายในเดือนธันวาคม และประกาศว่ากำลังวางแผนขายเกมที่ได้ปล่อยออกไปแล้วให้กับนักลงทุนอื่น และบริษัทยังไม่มีแผนที่จะกลับเข้ามาทำธุรกิจเกมอย่างเต็มตัวในอนาคต
นอกจากนี้ ByteDance ยังมีแผนจะขาย Shanghai Moonton Technology Co. สตูดิโอที่ ByteDance เข้าไปลงทุนซื้อมาในปี 2021 ในมูลค่าถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย
Shanghai Moonton เป็นผู้พัฒนาเกมอย่าง Mobile Legends: Bang Bang ซึ่งเป็นเกมที่มีชื่อเสียงและทำเงินให้กับ ByteDance มากที่สุด โดยในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2021 จนถึงเดือนมิถุนายนปี 2022 เกมนี้สร้างรายได้ให้ ByteDance 317.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 32% ของรายได้ที่ผู้เล่นใช้จ่ายในเกมในช่วงเวลานั้น
ล่าสุด จากการรายงานของสำนักข่าว Nikkei Asia ในวันนี้ (28 พ.ย.) มีแหล่งข่าวออกมาเปิดเผยแล้วว่า ByteDance ได้ประกาศประมาณการณ์ตัวเลขจำนวนพนักงานที่จะเลย์ออฟแล้วประมาณ 1,000 คน ซึ่งมากกว่าที่แหล่งข่าวของ Reuters ได้ให้ข้อมูลไว้ในตอนแรก
ธุรกิจเกมไม่ปังอย่างที่คาด
ByteDance เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2012 โดย Zhang Yiming และ Liang Rubo และเติบโตขึ้นมาเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตชั้นนำที่มีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจากความนิยมใน TikTok และ Douyin ซึ่งเป็น TikTok ในประเทศจีน
ByteDance เริ่มเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมเกมหลังบริษัทตั้ง Nuverse บริษัทลูกเพื่อคุมธุรกิจด้านเกมขึ้นมาในปี 2019 ด้วยหวังจะขยายพอร์ตโฟลิโอสินค้าและบริการเพื่อกระจายความเสี่ยง เจาะตลาดเกมซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้ประโยชน์จากฐานผู้ใช้ TikTok ขนาดใหญ่ ที่บริษัทอาจชักจูงมาเป็นผู้เล่นเกมได้
อย่างไรก็ตาม Nuverse ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ ByteDance หวัง เพราะแม้จะลงทุนซื้อสตูดิโอพัฒนาเกมชื่อดังอย่าง Moonton และ C4games มา และทุ่มเงินดึงตัวบุคลากรจำนวนมากมาทำงานด้วยเพื่อเร่งพัฒนาเกมก็ยังไม่สามารถแข่งกับคู่แข่งใหญ่อย่าง Tencent และ NetEase ได้
ดังนั้น ByteDance จึงมองว่าตัวเองต้องปรับโครงสร้างของบริษัทเพื่อการเติบโตในระยะยาว และนำเงินทุนไปลงทุนในธุรกิจที่ทำรายได้ให้กับบริษัทมากกว่า เช่น ธุรกิจโซเชียลมีเดีย และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานว่า Ohayoo แบรนด์เกมที่รับผิดชอบดูแลเกมบนแอป Douyin จะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ และเกมบนแอป TikTok ก็จะไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น การปรับโครงสร้างนี้จะส่งผลกระทบกับการพัฒนาเกมกระแสหลักบนโทรศัพท์มือถือเท่านั้น
ที่มา: Bloomberg, Reuters, Nikkei Asia, SensorTower