22 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศวิสัยทัศน์ "Thailand Vision: IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง" มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านการท่องเที่ยว การรักษาพยาบาลและสุขภาพ อาหาร การบิน การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เทคโนโลยี และการเงิน
นายกเศรษฐา ชี้ ไทยต้องเป็นหนึ่ง ประกาศ 8 วิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ยกระดับประเทศสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลก
นายกรัฐมนตรีเศรษฐา เผยว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาค โดยอาศัยข้อได้เปรียบของประเทศไทย ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว ภูมิอากาศที่อบอุ่น โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมต่อยอด และที่สำคัญที่สุดคือ ศักยภาพของคนไทย
8 วิสัยทัศน์ "IGNITE THAILAND" ชู ไทยต้องเป็นหนึ่ง
1.ประเทศไทย ศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของโลก
วิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา มุ่งมั่นผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็น ศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) ของโลก ประเทศไทยของเรา แม้จะมีพื้นที่เพียงอันดับที่ 50 ของโลก แต่กลับมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนติดอันดับ 8 ของโลก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับคนไทยกว่า 1 ใน 3 ของประชากร คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.3 ล้านล้านบาท หรือ 70% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยใข้กลยุทธ์อาทิ ยกระดับ Soft Power: วัฒนธรรม เทศกาล กีฬา อาหาร,ผลักดันน่านเป็นมรดกโลก,เปิดเสรีการเดินทาง: ฟรีวีซ่า เชื่อมต่อภูมิภาค,พัฒนาการท่องเที่ยวทุกมิติ: เมืองหลัก เมืองรอง และ สนับสนุนผู้ประกอบการ: ร่วมสร้างรายได้ หากเป็นไปตามแผน จะทำให้รายได้คนไทยเพิ่มขึ้น ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ที่ช่าวต่างชาติทั่วทุกมุมโลกจะต้องมาที่ประเทศไทยและจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
2.มุ่งสู่ศูนย์กลางสุขภาพครบวงจรของโลก
ประเทศไทยมุ่งมั่นสู่วิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ในการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) ของโลก ด้วยจุดแข็งด้านระบบการรักษาพยาบาลที่โด่งดังไปทั่วโลก ผสมผสานศาสตร์การดูแลสุขภาพแบบไทยอันล้ำค่า บุคลากรที่มีคุณภาพ เปี่ยมด้วย Service Mind และความพร้อมในการดูแลสุขภาพครบวงจรตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา ตอบโจทย์ทุกโรค ด้วยค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล จากข้อมูลในปี 2566 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสร้างรายได้ให้ประเทศไทยกว่า 4 หมื่นล้านบาท รัฐบาลจึงมุ่งพัฒนาศักยภาพด้านนี้ต่อยอด ผลักดันให้ระบบประกันสุขภาพของคนไทยก้าวไปอีกขั้น จาก "30 บาทรักษาทุกโรค" สู่ "30 บาทรักษาทุกที่" สำหรับแผนงานและกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ อาทิ พัฒนาระบบประกันสุขภาพ: 30 บาทรักษาทุกที่,เชื่อมฐานข้อมูลสุขภาพด้วยบัตรประชาชน,เพิ่มจำนวนแพทย์และพยาบาล,ยกระดับคุณภาพชีวิตบุคลากร,ผลักดันการแพทย์แผนไทย นวดแผนไทย สปา สมุนไพร และ สนับสนุนผู้ประกอบการไทย นโยบายนี้ มุ่งมั่นพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพที่ครบวงจรที่สุดในโลก รองรับความต้องการของประชาชนและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก
3.มุ่งสู่ครัวของโลก เป็นศูนย์กลางอาหารแห่งอนาคต
ยกระดับเกษตรกรรม เพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า โดย รัฐบาลจะสนับสนุนเกษตรกรไทย ด้วยเทคโนโลยี ทุน และความรู้ เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ ปรับปรุงดิน และส่งเสริมการใช้พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีคุณภาพ ขยายแหล่งชลประทาน 40 ล้านไร่ เพื่อเพิ่มพื้นที่การเกษตรและรองรับภัยแล้ง สนับสนุน Precision Agriculture เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ดูแลปัญหาฝุ่น PM 2.5 ก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย ผลักดันสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลก รองรับความต้องการอาหารของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต วิจัยพัฒนาอาหารโปรตีนสูงจากพืชเพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภค พร้อมยกระดับคุณภาพอาหาร Halal อาหารผู้ป่วย อาหารพิเศษ และ สนับสนุนผู้ประกอบการไทยเปิดร้านอาหารในต่างแดนเพื่อการขยายธุรกิจร้านอาหารไปยังต่างประเทศ
4.มุ่งสู่ศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค
ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ ล้อมรอบด้วยประชากรกว่า 280 ล้านคน ติดอันดับ 5 ของโลก มทำให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว ทำงาน เหมาะกับนักเดินทางทุกระดับ รัฐบาลจึงมีแผนพัฒนาสนามบินให้รองรับการ Transit ของสายการบิน เพิ่ม Transit Capacity นอกจากนี้ประเทศไทยมีระยะทางไปยังศูนย์กลางทางเศรษฐกิจทั่วโลกใกล้กว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีสนามบิน ทั้งเมืองหลัก เมืองรอง ที่พร้อมเป็น Home-base มีรันเวย์ อาคารผู้โดยสาร คลังสินค้า ด้านระบบขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) นอกจากนี้เรายังเป็นที่หนึ่งในด้านการบริการทุกระดับ ความปลอดภัย และมีศูนย์ดูแลรักษา ซ่อมบำรุง ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
5.มุ่งสู่ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค เชื่อมต่อโลกตะวันตกและตะวันออก
ประเทศไทยมุ่งมั่นสู่วิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ในการเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมอย่างมหาศาล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป้าหมายหลัก ของรัฐบาลคือ การเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญจากเมืองใหญ่สู่เมืองเล็ก เชื่อมต่อภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ และสร้างความสมดุลสู่ความมั่งคั่ง แผนพัฒนา ประกอบด้วย:
- การยกระดับสนามบิน: ปรับปรุงระบบทั้งหมด ขยายรองรับผู้โดยสารและสินค้ามากขึ้น
- การขยายเครือข่ายถนน: เพิ่มทางหลวง Motorway 10 เท่า จาก 250 กิโลเมตร เป็น 2,500 กิโลเมตร และขยายทางหลวงแผ่นดิน 4 เลน จาก 20,000 กิโลเมตร เป็น 23,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อตั้งแต่ชายแดนเหนือ จรดชายแดนไทย-มาเลเซีย
- การพัฒนาระบบราง: เพิ่มทางรถไฟรางคู่ 2,000 กิโลเมตร completa 5,500 กิโลเมตรภายในปี 2573
- การขยายระบบรถไฟฟ้า: เพิ่มระยะทาง 2.5 เท่า ครอบคลุมเส้นทางเกือบ 700 กิโลเมตร เชื่อมต่อ 3 สนามบิน ชายแดนหนองคาย และท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง
- การเชื่อมต่อภูมิภาค: พัฒนา Land Bridge เชื่อมสองฝั่งมหาสมุทรอันดามัน อ่าวไทย
6.มุ่งสู่อนาคต: ไทย ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต
ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ด้วยวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ที่จะเป็น "ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต" รัฐบาลตั้งเป้าดึงดูดการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ผ่านการหารือกับบริษัทยานยนต์ชั้นนำกว่า 10 ราย ซึ่งตอบรับการลงทุนในประเทศไทยแล้วกว่า 150,000 ล้านบาท ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่เลือกไทยเป็นบ้านหลังที่ 2 บวกกับศักยภาพของไทยที่มีความพร้อมในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ครบถ้วน ทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วน วิศวกร และ Programmer ที่มีความสามารถ
รัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริมอุตสาหกรรมรถ EV ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การค้นคว้าวิจัย การผลิตชิ้นส่วน ยางรถยนต์ แบตเตอรี่ อะไหล่ การประกอบ ไปจนถึงการบำรุงรักษา สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่สมบูรณ์ภายในประเทศ พร้อมสนับสนุนค่ายรถญี่ปุ่น พันธมิตรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตได้อย่างราบรื่น ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลยังเตรียมพร้อมรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเครื่องยนต์ Hydrogen เพื่อปูทางสู่อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ยั่งยืน
7.ไทยมุ่งสู่อนาคต ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอล
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะเป็น "ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอล" ของภูมิภาค รัฐบาลมุ่งมั่นดึงดูดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาขยายธุรกิจในประเทศไทย เป้าหมายหลักคือการดึงดูดบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีดิจิตอล อาทิ ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ศูนย์ข้อมูล Cloud Computing ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Deep Tech ให้เข้ามาลงทุนในไทย ผ่านโมเดล Sandbox ที่สนับสนุนเงินทุนและอำนวยความสะดวกด้านกฎหมาย รัฐบาลมุ่งหวังสร้าง Ecosystem ดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบในประเทศไทย ดึงดูดผู้มีความสามารถและบริษัท Start Up รุ่นใหม่ ๆ ให้สามารถเติบโตและสร้าง Unicorn ของตนเองได้ โดยไม่ต้องย้ายไปต่างประเทศ กลยุทธ์สำคัญอาทิ
- ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ศูนย์ข้อมูล AI และ Deep Tech
- สนับสนุนเงินทุนและอำนวยความสะดวกด้านกฎหมายผ่านโมเดล Sandbox
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและระบบ Cloud Computing
- ส่งเสริมการวิจัยและใช้งาน AI ในประเทศ
- ดึงดูดบริษัท Deep Tech เข้ามาตั้งรกรากในไทย
- ปรับกระบวนการทางกฎหมายเพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถ
- สนับสนุนบริษัทไทยขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
8 .มุ่งสู่ศูนย์กลางทางการเงิน หัวใจเศรษฐกิจแห่งอนาคต
ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่การเป็น "ศูนย์กลางทางการเงิน" ของภูมิภาคอาเซียน ด้วยวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ที่จะขับเคลื่อนระบบการเงินที่แข็งแกร่ง ดึงดูดสถาบันการเงินระดับโลก และสร้างย่านการเงิน Wall Street ของอาเซียนบนแผ่นดินไทย โดยกลยุทธ์ที่นำมาใช้คือ พัฒนาระบบการเงินที่แข็งแกร่งและโปร่งใส เพื่อดึงดูดสถาบันการเงินระดับโลกเข้ามาลงทุน สร้างย่านการเงินใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับระบบการเงินแห่งอนาคต เน้นไปที่การขับเคลื่อนระบบการเงินด้วยเทคโนโลยี Blockchain พร้อมปลดล็อกศักยภาพของ Digital Asset เพื่อเชื่อมต่อสินทรัพย์ในโลกปัจจุบันกับโลกดิจิทัล และ พัฒนาระบบการเงินเพื่อความยั่งยืน Carbon Credit Trading พร้อมทั้งการจัดตั้งหน่วยงานและกฎระเบียบรองรับยุคการเงินสมัยใหม่
พื้นฐานที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ (Foundation to Success)
นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทิ้งท้ายว่า เป้าหมายเพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอต่อความสำเร็จ เปรียบเสมือนการเดินทางสู่จุดหมายปลายทางที่ยิ่งใหญ่ แรงผลักดันจากทุกภาคส่วน เปรียบเสมือนพลังอันล้ำค่าที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดังนั้น การเป็นศูนย์กลางในทุกมิติ ไม่ได้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวมันเอง แต่มันคือผลลัพธ์จากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกคน เป้าหมายทางเศรษฐกิจจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาทางสังคม ผ่านกระบวนการทำงานของภาครัฐที่โปร่งใส โครงสร้างพื้นฐานที่จับต้องได้ และการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
- รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะยกระดับระบบงานทั้งหมดขึ้นสู่ระบบ Cloud เพื่อการให้บริการประชาชนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาระบบ Application SDK มาตรฐานของรัฐ เปิดให้ทั้งภาคประชาชนและเอกชนเข้าใช้งานได้อย่างสะดวก
- Digital Wallet จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของรัฐ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิด Startup ใหม่ ๆ จากการใช้บริการภาครัฐ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพ การประกอบอาชีพ การรักษาพยาบาล รองรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก
- วัฒนธรรมที่เปิดกว้าง เปรียบเสมือน Soft Power ของชาติ ที่พร้อมต่อยอดและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยไม่ละเลยอัตลักษณ์และตัวตน นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับประชาชน
- โอกาสทางการศึกษา เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยกำหนดมาตรฐานและเปิดช่องทางการเรียนรู้ใหม่ ๆ สร้างกลไกที่เอื้อให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา Content การทำ Play-based learning และผลักดันให้เด็กไทยอ่านภาษาอังกฤษและต่อยอดภาษาต่างประเทศได้
- ความปลอดภัย เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนพึงปรารถนา สังคมต้องปราศจากอาชญากรรมและยาเสพติด ประชาชนต้องสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย
- พลังงานสะอาด เป็นสิ่งที่รัฐบาลมุ่งมั่นผลักดัน ประชาชนและภาคธุรกิจจะต้องเข้าถึงพลังงานสะอาดและราคาถูก
สุดท้ายนี้ ความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน จะเป็นรากฐานสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จของวิสัยทัศน์ทั้ง 8 ประการ มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย