ธุรกิจการตลาด

ซีเล็ค ทูน่า ออเดอร์ล้น ลุยลงทุนโรงงานใหม่ ปั้นยอดขาย 900 ล้านบาท

1 ก.ย. 65
ซีเล็ค ทูน่า ออเดอร์ล้น ลุยลงทุนโรงงานใหม่ ปั้นยอดขาย 900 ล้านบาท

หากพูดถึงแบรนด์ปลาทูน่ากระป๋อง 'ซีเล็ค' คนไทยหลายๆ คนคงพอคุ้นชื่อเพราะมีวางขายอยู่ในทุกร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าทั่วไทย รวมถึงขยายอาณาเขตออกวางขายในต่างประเทศแล้ว โดย 'ซีเล็ค ทูน่า' ถือเป็นแบรนด์ที่มียอดขายอันดับ 1 ในประเทศไทย อยู่ภายใต้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก ซึ่งถึงวันนี้ 'แบรนด์ซีเล็ค' ได้ฉลองครบอายุ 30 ปีพอดี

โดยผู้บริหารของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU 'ศรัณย์ รัตนรุ่งเรืองชัย' ผู้จัดการทั่วไป บริหารกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ให้ข้อมูลว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาตลาดทูน่ากระป๋องเติบโตดีมาก ส่วนสำคัญมาจากผู้บริโภคเล็งเห็นถึงเรื่องของสุขภาพ รวมถึงกักตุนสินค้าไว้รับประทานที่บ้านในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้ซีเล็ค ทูน่าเติบโตได้ถึง 10% ในปี 2564 ที่ผ่านมา ส่วนปีนี้เชื่อว่าน่าจะโตได้ 5-6% ในทิศทางเดียวกับตลาดทูน่ากระป๋องมูลค่า 1,000 ล้านบาท โดยคาดว่าทั้งปีจะโต 5-6%

ปัจจุบันซีเล็ค ทูน่า มีส่วนแบ่งตลาดราว 58% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท มาจากกลุ่มทูน่าพร้อมปรุง 75% และพร้อมรับประทาน 25% ซึ่งตั้งแต่ต้นปีมีการปรับราคาทูน่ากระป๋องในกลุ่มอีโคโนมีขึ้นเพียง 3% เท่านั้น ส่วนกลุ่มพรีเมี่ยมไม่ได้ปรับ แม้ตลอดครึ่งปีหลังนี้จะมีต้นทุนหลายด้านสูงขึ้น แต่บริษัทขอแจ้งว่าจะไม่มีนโยบายปรับราคาสินค้าทั้งหมดขึ้นอีกแล้ว

ในปีนี้ไทยยูเนี่ยนฯ เข้าสู่ปีที่ 30 ทางบริษัทมุ่งมั่นปักธงธุรกิจ ภายใต้แนวคิด "Healthy Living, Healthy Oceans" ดึงอินไซต์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ หวังเพิ่มสัดส่วนการบริโภคทูน่ากระป๋องคนไทย เติมเต็มโภชนาการจากโปรตีนดี ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพแบบองค์รวม

แผนการดำเนินงาน 3 ปีจากนี้ ระหว่าง 2565-2568 ต้องการเพิ่มสัดส่วนทูน่ากระป๋องพร้อมรับประทานและพร้อมปรุงให้อยู่ในสัดส่วน 50% เท่าๆ กัน ส่วนในแง่รายได้จะต้องโต 5-10% ต่อเนื่อง หรือภายในปี 2568 รายได้ต้องไม่ต่ำกว่า 800-900 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 600 ล้านบาท

โดยจะเน้นดำเนินงานใน 3 ส่วนหลัก คือ

  1. เน้นตลาดพรีเมียมมากขึ้น
  2. เน้นทูน่ากระป๋องพร้อมรับประทาน
  3. ให้ความสำคัญต่อเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติกับการบริหารจัดงานในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะในเรื่องแพกเกจจิ้งที่ต้องย่อยสลายได้ ปัจจุบันทำได้ 90% แล้ว อีก 2 ปีน่าจะได้ 100% เต็ม

สำหรับนปี 2565 นี้กลยุทธ์ธุรกิจของซีเล็ค ทูน่า ต่อจากนี้จะใช้นวัตกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ออกมาใหม่ พร้อมแตกไลน์สินค้าเป็น 4 กลุ่ม อยู่ภายใต้กรอบ 4B คือ

  1. Brain อาหารสมอง 
  2. Body สรีระ 
  3. Burn เผาผลาญ
  4. Beauty ผิวพรรณ

สำหรับใน 3 ข้อแรก 'ซีเล็ค ทูน่า' ทำอยู่แล้ว แต่ในส่วนบิวตี้นั้นจะเริ่มในช่วงไตรมาสสี่ปีนี้ กับผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องพร้อมปรุง ที่มีการเพิ่มคอลลาเจน 2,000 มิลลิกรัม และน้ำแร่ เป็นต้น ถือเป็นการรุกตลาดบิวตี้ในลักษณะความสวยที่เกิดจากการรับประทานอาหาi

ส่วนทูน่ากระป๋องพร้อมรับประทานนั้น 2 ปีที่ผ่านมายอดขายค่อนข้างนิ่งเพราะตลาดท่องเที่ยวปิด แต่ปีหน้าจะกลับมา ทางบริษัทจึงมีแผนเพิ่มรสชาติใหม่ๆ เพิ่มเติม รวมถึงปรับแพกเกจจิ้งมาเป็นรูปแบบซอง เพื่อความสะดวกในการพกพาสำหรับตลาดท่องเที่ยว แต่ราคาจะยังคงใกล้เคียงกับราคาเดิม

นอกจากนี้ปีนี้ยังได้นำเรื่องของแพกเกจจิ้งมาสร้างการรับรู้อีกครั้ง จากที่ประสบความสำเร็จไปในปีก่อน กับการนำคาแรกเตอร์โดราเอมอน 3 ลายมาใช้ การตอบรับดีมากจนขายหมดใน 1 เดือนครึ่ง และมียอดขายเพิ่มขึ้น 30% ในช่วงเวลาดังกล่าว ปีนี้จึงเพิ่มจำนวนเป็น 5 ลาย เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 3 เดือน คาดว่ายอดขายช่วงนี้จะเพิ่มขึ้น 50%

จากสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์โลก ทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารกันบ้างแล้ว ส่งผลให้ต่างประเทศสั่งสินค้าเข้ามาจนล้นทะลัก จนบริษัทผลิตป้อนให้ไม่ทัน ซึ่งทางบริษัทได้วางแผนเพิ่มโรงงานผลิตใหม่ไปแล้ว 1 โรง ในช่วงโควิดที่ผ่านมาเพื่อแก้ปัญหานี้

ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรไปแล้ว 70-80% คาดว่าต้นปีหน้าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ โรงงานใหม่นี้สามารถรองรับกำลังการผลิตต่อไปได้อีกถึง 10 ปี จากปัจจุบันไทยยูเนี่ยนมีโรงงานผลิตทูน่ากระป๋อง 3 โรง, โรงงานผลิตปลาซาร์ดีนและแมคเคอเรลกระป๋อง อีก 1 โรงที่มหาชัย และอีก 1 โรงงานที่สงขลา กำลังปรับจากผลิตทูน่ามาเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงที่ใช้วัตถุดิบจากทูน่า

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT