‘สารเคมีตลอดกาล หรือ Forever Chemicals เป็นกลุ่มสารเคมีสารพัดประโยชน์สำหรับภาคการผลิต แต่มีงานวิจัยรายงานว่า มันก่อให้เกิดโทษแก่มนุษย์ และเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องแก่บริษัทเคมีภัณฑ์หลายเจ้า จนในที่สุด ‘3M’ ยักษ์ใหญ่ในวงการเคมีภัณฑ์และเจ้าของผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันอย่าง โพสท์-อิท และ สก๊อตช์เทป ต้องประกาศยุติการผลิตสินค้าที่ใช้สารเคมีในกลุ่มนี้ ภายในปี 2025
สารเคมีตลอดการคืออะไร และมีโทษอย่างไร?
สารเคมีตลอดกาล หรือสารเคมีในกลุ่ม Perfluoralkyl และ polyfluoroalkyl (PFAS ; Perfluoralkyl and polyfluoroalkyl substances) คือ กลุ่มสารเคมีที่มีความเสถียรสูง ทนทาน มีคุณสมบัติหลากหลายประการ อาทิ ทนความร้อนสูง สะท้อนน้ำ สะท้อนน้ำมัน
มันจึงถูกนำไปใช้ใน สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าสำหรับผู้บริโภคทั่วไป เช่น เครื่องครัวที่เป็น non-stick เสื้อผ้ากันน้ำ ผ้าและพรมที่มีคุณสมบัติกันเปื้อน เครื่องสำอางบางรายการ โฟมดับเพลิง สินค้าที่กันคราบน้ำมัน (grease) น้ำ น้ำมัน และความร้อน เช่น บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร (food packaging, food package) รวมไปถึงโทรศัพท์ อุปกรณ์ไอที และเซมิคอนดักเตอร์ด้วย
แต่ด้วยคุณสมบัติด้านความทนทานของสารเคมีในกลุ่มนี้ จึงทำให้ย่อยสลาย และจัดการได้ยากกว่าสารเคมีทั่วไป จึงทำให้กลายเป็นสารตกค้างในธรรมชาติ มีรายงานการพบสารเคมีกลุ่มนี้ทั้งในแหล่งน้ำ น้ำฝน ดิน รวมถึงอาหาร นอกจากนี้ The Wall Street Journal ยังเผยว่า สำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) ได้รายงานถึงผลวิจัยที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการรับสารเคมีกลุ่มนี้เข้ามาในร่างกาย กับปัญหาสุขภาพด้าน มะเร็งไต และต่อมลูกหมาก โรคทางต่อมไทรอยด์ และภาวะคอเลสเตอรอลสูงอีกด้วย
หน่วยงานรัฐและนักลงทุนจี้ 3M เลิกใช้สารเคมีอันตราย
ในช่วงหลังมานี้ หน่วยงานกำกับดูแลและ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมได้พุ่งความสนใจมาที่สารเคมีกลุ่มนี้ เกิดคดีความฟ้องร้องบริษัท 3 M และผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายอื่นๆ เกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารเคมีในกลุ่ม PFAS และอาการป่วยที่เกิดจากสารเคมีในกลุ่มนี้ โดยทาง EPA เอง ได้เสนอให้ยกระดับกลุ่มสารเคมีตลอดกาล เป็น ‘กลุ่มสารเคมีอันตราย’ จากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สารเหล่านี้ก่อ
เนื่องจากเป็นกลุ่มสารเคมีที่มีความทนทานสูง การกำจัดจึงเป็นเรื่องยากและสิ้นเปลืองงบประมาณเป็นอย่างมาก ทางการ California จึงได้ฟ้องร้องบริษัท 3M และบริษัทเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่อีกเจ้าอย่าง DuPont ให้ชดเชยงบประมาณที่ต้องใช้บำบัดสารในกลุ่มนี้ โดยอัยการสูงสุดแห่งแคลิฟอร์เนีย Rob Bonta กล่าวว่า บริษัทดังกล่าวอาจต้องโทษปรับและค่าชดเชยสูงถึงหลายร้อยล้านดอลลาร์
ด้านผู้ถือหุ้นเองก็ได้เรียกร้องให้บริษัทยุติการใช้งานสารเคมีในกลุ่มนี้ กลุ่มบริษัทด้านการลงทุนรวม 47 บริษัท ที่ดูแลสินทรัพย์รวมกันกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์ (277 ล้านล้านบาท) ได้เขียนจดหมายถึง 54 บริษัทที่ใช้ PFAS ในช่วงกลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรียกร้องให้ยุติการใช้สารเคมีกลุ่มดังกล่าว จากความกดดันด้านกฎหมายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ทางด้านบริษัท 3M เอง ได้ระบุว่า บริษัทได้ยุติการผลิตสารในกลุ่ม PFAS บางตัวมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2000 แล้ว แต่ยังคงดำเนินการผลิตสารเคมีในกลุ่มนี้อยู่ ซึ่งบริษัทอ้างว่าสามารถผลิตใช้ได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ดี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้ บริษัทได้ประกาศว่าจะยุติการผลิตสารเคมีในกลุ่ม PFAS ซึ่งรวมถึง fluoropolymers, fluorinated fluids และสารเติมแต่งที่มี PFAS ทั้งหมด รวมถึงยุติการใช้ PFAS ในผลิตภัณฑ์ภายในสิ้นปี 2025 ซึ่งได้ลดปริมาณการใช้ PFAS ตั้งแต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ทาง 3M คาดว่า แผนการยุติการผลิตสารเคมีและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีตลอดการนี้ กระทบรายได้ของบริษัท 1.3 ถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 4.5 - 8 หมื่นล้านบาท) บริษัทวิจัย RBC Capital Markets คาดว่า รายได้จากสารเคมีและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ คิดเป็น 4% ของยอดขายทั้งหมดของบริษัท โดยมองว่านี่เป็นการเดินหมากในทิศทางที่ถูกต้องของ 3M แล้ว หากพิจารณาจากแรงกดดันที่หน่วยงานกำกับดูแลกำลังพุ่งเป้ามาที่บริษัทในขณะนี้