เป็นข่าวใหญ่สะท้านวงการธุรกิจเมื่อ “Hindenburg Research” บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางการเงินออกมาตีพิมพ์รายงานว่า “Adani Group” เครือบริษัทใหญ่ของ Gautam Adani มหาเศรษฐีชาวอินเดียที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย และอันดับ 3 ของโลก ได้มีส่วนร่วมในแผนปั่นหุ้น และฉ้อโกงมากมาย ทำให้หลายๆ บริษัทภายใต้เครือ Adani มีมูลค่าเกินจริง และมีถึง 5 บริษัทมีสถานะการเงินย่ำแย่ถึงขั้นเสี่ยงขาดสภาพคล่องในระยะสั้น
รายงานฉบับนี้ถูกเปิดเผยออกมาในวันที่ 24 มกราคม 2023 ก่อนที่ Adani Enterprises บริษัทลูกที่ทำธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานของ Adani Group จะเปิดขายหุ้นไม่กี่วันเท่านั้น และนั่นจึงทำให้หุ้นของบริษัทต่างๆ ภายใต้ Adani Group เช่น Adani Enterprises และ Adani Transmissions ราคาตก และทำมูลค่าของ Adani Group หายไป 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.9 แสนล้านบาท) และทรัพย์สินส่วนตัวของ Gautam Adani หายวับไปเลย 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.8 แสนล้านบาท)
ซึ่งการที่ราคาหุ้นของบริษัทเครือ Adani Group ตกลงนี้เรียกได้ว่าเข้าทาง Hindenburg Research สุดๆ เพราะ Hindenburg ได้เปิดเผยไว้ท้ายรายงานด้วยว่าทางบริษัทได้ “short” หุ้นของ Adani Group ไว้ ซึ่งเป็นการหากำไรจากการ ‘ยืม’ หุ้นราคาแพงมาขาย แล้วรอให้ราคาหุ้นตกเพื่อช้อนซื้อในราคาที่ถูกกว่ามา ‘ขายคืน’ คนที่ยืมมาอีกที
เรียกได้ว่าเป็นบริษัทวิจัยที่แสบสุดๆ จน Adani Group ได้ออกมาประกาศในวันที่ 26 มกราคมแล้วว่ากำลังหาทางดำเนินคดีกับ Hindenburg Research อยู่ เพราะการเปิดเผยรายงานนี้ทำให้บริษัทเสียหายหนักจากราคาหุ้นที่ตกต่ำลง และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
Hindenburg Research คือใคร และทำไมบริษัทวิจัยเล็กๆ ที่มีพนักงานประจำประมาณ 10 คนบริษัทนี้ถึงกล้างัดข้อกับเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในอินเดีย ในวันนี้ทีมข่าว Spotight จะมาสรุปให้อ่านกัน
Hindenburg Research คือบริษัทอะไร? ก่อตั้งโดยใคร? ทำงานอย่างไร?
Hindenburg Research เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการแกะรอยหลักฐานและสืบค้นหาการกระทำผิดทางการเงินและธุรกิจ ก่อตั้งในปี 2017 โดย ‘Nathan (Nate) Anderson’ นักเทรดหุ้นที่เชี่ยวชาญด้าน Short Selling หรือการขอยืมหุ้นราคาสูงมาขาย แล้วซื้อมาคืนในราคาที่ต่ำเพื่อเอากำไรจากส่วนต่างราคา ทำให้ผู้ซื้อขายหุ้นด้วยวิธีนี้จะได้กำไรเมื่อราคาหุ้นที่ซื้อไว้ short ราคาต่ำลง
เป้าหมายและวิธีทำเงินหลักๆ ของ Hindenburg Research คือการขุดคุ้ยเอกสารและหลักฐานทางการเงินของบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงบการเงิน เอกสารทางบัญชี รวมไปถึงสัญญาซื้อขาย ใบเสร็จต่างๆ เพื่อหาว่าบริษัทใดมีการกระทำผิดทางธุรกิจบ้าง ก่อนที่จะทำการ short หุ้นของบริษัทเหล่านี้ไว้ แฉความผิด แล้วรอให้หุ้นของบริษัทเหล่านี้ตกลงเพื่อเอากำไร
จากข้อมูลบนเว็บไซต์บริษัทของ Hindenburg Research ระบุว่า บริษัทมีจุดมุ่งหมายที่จะขุดคุ้ย “man-made disasters” หรือ “ความหายนะที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์” หรือในที่นี้ก็คือการกระทำผิดทางธุรกิจที่จะทำให้คนจำนวนมากสูญเงินในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับชื่อ “Hindenburg” ที่มาจากเหตุการณ์เพลิงไหม้เรือบิน Hindenburg ในสหรัฐฯ เมื่อปี 1937 ซึ่งเป็นเหตุวินาศภัยครั้งใหญ่ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 35 คน ถึงเหตุการณ์นี้จะเป็นเหตุการณ์ที่ป้องกันได้ 100% ถ้าเจ้าของเรือบินไม่ใช้ไฮโดรเจนซึ่งเป็นวัตถุไวไฟเป็นเชื้อเพลิง
จากชื่อที่สื่อถึงเหตุการณ์นี้ Hindenburg จึงมีเป้าหมายที่จะคุ้ยหาหายนะทางการเงินที่กำลังก่อตัว แล้วป่าวประกาศให้โลกรู้ก่อนมันจะเกิดขึ้นนั่นเอง
Hindenburg Research ออกรายงานกล่าวหาบริษัทไหนมาแล้วบ้าง?
ล้มยักษ์ใหญ่ได้ขนาดนี้ แต่หารู้ไม่ว่า Hindenburg Research เป็นบริษัทเล็กๆ ที่มีพนักงานประจำเพียง 10 คน ส่วนมากเป็นนักวิจัยและตรวจสอบเอกสารการเงิน และนักข่าว โดยก่อตั้งมาเพียงประมาณ 5 ปี แต่ Hindenburg Research ก็มีประวัติเปิดโปงบริษัทน้อยใหญ่มาแล้วถึง 30 บริษัท และนำไปสู่การดำเนินคดีและตัดสินโทษของผู้เกี่ยวข้องในหลายๆ ครั้ง
โดยเคสการเปิดโปงที่มีอิมแพคที่สุดของ Hindenburg ก็คือ เคสเปิดโปงกรณีบริษัทรถยนต์ Nikola หลอกลวงนักลงทุนและผู้บริโภคในปี 2020 โดย Hindenburg เปิดเผยว่า Nikola ได้จงใจปล่อยคลิปโชว์รถบรรทุกไฟฟ้าของบริษัทที่วิ่งด้วยความเร็วสูง แล้วอ้างว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ของบริษัทเพื่อจูงใจนักลงทุน แต่แท้ที่จริงแล้วคลิปนั้นเป็นเพียงการปล่อยให้รถบรรทุกไหลลงเขา ทำให้ดูเหมือนกับว่ารถของ Nikola กำลังแล่นอย่างรวดเร็ว
หลังการเปิดโปง มูลค่าบริษัทตกลงมาจาก 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัญลงมาเหลือเพียง 1.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ในขณะที่ Trevor Milton ผู้ก่อตั้ง Nikola ได้ถูกตัดสินโทษ และต้องจ่ายเงินจำนวน 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ
เคสนี้ทำให้ชื่อ Hindenburg Research โด่งดังและเป็นที่เชื่อถือขึ้นมาทันทีในฐานะนักเปิดโปงความผิดทางการเงินและการทำธุรกิจ
โดยจากการรายงานของ Bloomberg บริษัทใดที่ถูก Hindenburg ปล่อยรายงานแฉ เรียกได้ว่าจะถูกจะผิดอย่างไรต้องเตรียมตัวเห็นราคาหุ้นตกได้เลย เพราะจากสถิติที่ผ่านมา ราคาหุ้นของทุกบริษัทที่ถูกโจมตีโดย Hindenburg จะลดลงเฉลี่ย 15% ทันทีใน 1 วันหลังรายงานถูกปล่อยออกมา และลดลงเฉลี่ย 26% ในระยะเวลา 6 เดือนหลังรายงาน
ในกรณี Adani Group ปัจจุบันหุ้นของ Adani Enterprises ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดภายใต้เครือ Adani Group ก็ยังอยู่ในแดนลบ เพราะทางบริษัทยังไม่ได้ออกมาชี้แจงข้อกล่าวหาอย่างจริงจัง ได้แต่เพียงโต้กลับว่ารายงานของ Hindenburg Research เป็น “การเลือกข้อมูลบางส่วนมาเปิดเผยเพื่อมาชี้นำผู้อ่าน รวมไปกล่าวหา โจมตี และลดความน่าเชื่อถือของบริษัทโดยไม่มีมูล”
ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลในตอนนี้แล้ว ศึกไม้ซีกงัดไม้ซุงในครั้งนี้จะจบลงที่ใครเป็นผู้แพ้ก็ไม่อาจรู้ได้ เพราะถึงแม้ Adani Group จะอยู่ในจุดที่ได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัดจากอิทธิพลทั้งด้านสังคมและการเมือง รวมไปถึงอำนาจทางการเงิน หาก Adani Group ไม่สามารถออกมากางหลักฐาน แก้ต่างให้ตัวเองจนพ้นข้อกล่าวหาอย่างไร้มลทินได้ อย่างน้อยการเปิดโปงในครั้งนี้ของ Hindenburg Reserach ก็น่าจะลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อ Adani Group ไม่มากก็น้อย ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางธุรกิจของบริษัทในอนาคตแน่นอน
ที่มา: Bloomberg(1), Bloomberg(2), Bloomberg(3), Reuters, Indian Express