ธุรกิจการตลาด

“การบินไทย” คาดออกจากแผนฟื้นฟูฯ Q2/68 แปลงหนี้เป็นทุน ขายหุ้นเพิ่มทุน

10 พ.ย. 66
“การบินไทย” คาดออกจากแผนฟื้นฟูฯ Q2/68 แปลงหนี้เป็นทุน ขายหุ้นเพิ่มทุน

ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ การบินไทยเผยกระบวนการตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ นั้น ต้องแปลงหนี้เป็นทุน และขายหุ้นเพิ่มทุนให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค.2567 คาดว่าคณะผู้บริหารแผนจะสามารถสรุปเรื่องการแปลงหนี้เป็นทุนได้ภายในกลางปีหน้า คาดจะสามารถระดมทุนรวมได้ราว 80,000 ล้านบาท เพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก จากปัจจุบันติดบลบราว 54,000 ล้านบาท และคาดจะสามารถยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการฯ ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 ซึ่งเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ในปี 2569

โดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการว่า ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการนั้น การบินไทยต้องมีการแปลงหนี้เป็นทุน และขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค.2567 เพื่อทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก ซึ่งอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการฯ 

ขณะนี้เบื้องต้นคาดการณ์ว่า คณะผู้บริหารแผนจะสามารถสรุปของการแปลงหนี้เป็นทุนในกลางปี 2567 หลังจากนั้นจะประกาศกำหนดการให้เจ้าหนี้ยื่นแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้จะแปลงหนี้เป็นทุนได้ช้าหรือเร็ว เมื่อแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว จึงจะเริ่มประกาศขายหุ้นเพิ่มทุน คาดว่าจะต้องระดมทุนได้ราว 80,000 ล้านบาท เพื่อทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก ซึ่งปัจจุบันการบินไทยมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบราว 54,000 ล้านบาท เมื่อทำได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ แล้วจึงจะสามารถขอยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการฯ ได้ คาดว่าประมาณไตรมาส 2 ของปี 2568 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ในปี 2569

การบินไทยจะไม่เป็นรัฐวิสาหกิจอีก

“ โดยจะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ราว 25,000 ล้านบาท ซึ่งขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม รวมไปถึงกระทรวงการคลัง และกองทุนต่างๆ ที่เหลือจะเป็นการแปลงหนี้เป็นทุน รวมแล้วราว 80,000 ล้านบาท ซึ่งภายหลังการขายหุ้นเพิ่มทุนแล้วการบินไทยจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก เพราะกระทรวงการคลังรวมกองทุนของภาครัฐจะมีสัดส่วนการถือหุ้นราว 40%” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

ปี 66 คาดรายได้ 150,000 ล้านบาท 

“ ภาพรวมผลประกอบการปีนี้ กำไรถือว่าเป็นปีที่ดีมากของการบินไทย และคาดว่ารายได้ปีนี้น่าจะประมาณ 150,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งรายได้ 9 เดือนทำไปแล้วที่ 110,000 ล้านบาท และคาดว่าปีหน้ารายได้จะกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ที่ประมาณ 180,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2568 รายได้จะสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 และปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือ (Cash Flow) อยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท ” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของการบินไทยนั้น ในไตรมาส 4 ที่เป็นช่วงไฮซีซันของการเดินทางท่องเที่ยว การบินไทยยังคงเดินหน้าควบคุมค่าใช้จ่ายต่อไป และมีความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากมีการยกเลิกเที่ยวบินในฝั่งยุโรป ที่มีสถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการชะลอตัวลง รวมถึง นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาเท่าที่ควร เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน แม้ว่าไทยจะประกาศฟรีวีซ่าของจีน รวมถึงอินเดียนักท่องเที่ยวก็ยังไม่กลับมาเท่าที่ควร รวมถึงการบินไทยประสบปัญหาเครื่องบินยังไม่เพียงพอกับการให้บริการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาเช่าเครื่องบินเพื่อมารองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่รุนแรงมากขึ้น จากที่มีสายการบินมาทำการบินมากขึ้น  ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

ท่ามกลางภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่รุนแรงมากขึ้น จากที่มีสายการบินมาทำการบินมากขึ้น เห็นได้จากการเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินของสายการบินในหลายเส้นทาง อาทิ การกลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-กรุงโคเปนเฮเกนของสายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ส การนำเครื่องบินแอร์บัสแบบ A380 กลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครมิวนิกของสายการบินลุฟท์ฮันซ่า 

รวมถึง ปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาคตะวันออกกลางและพื้นที่ฉนวนกาซาซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดการชะลอตัวของการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในหลายๆ เส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางทวีปยุโรปและเที่ยวบินกรุงเทพฯ-นครอิสตันบูล สาธารณรัฐทูร์เคีย ซึ่งการบินไทยมีกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 1 ธันวาคม 2566

การบินไทยมีเครื่องบินทั้งหมด 68 ลำ 

ในปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 68 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 48 ลำ โดยบริษัทฯ มีการรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบิน จำนวน 1 ลำ ในช่วงเดือ

โดยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน โดยเป็นส่วนของการบินไทย 13.7 ชั่วโมงต่อวัน และไทยสมายล์ 8.2 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 53.3% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 100.7% 

อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80.0% (การบินไทย 80.0% และไทยสมายล์ 80.4%) สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 61.1% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 10.13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 77.4% เป็นส่วนของการบินไทยและไทยสมายล์ 6.50 และ 3.63 ล้านคน ตามลำดับ

การบินไทย

ไตรมาส 3/2566 กำไรสุทธิ 1,546 ล้านบาท +132%

ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,860 ล้านบาท หรือ 13% 

โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.27 ล้านคน เป็นส่วนของการบินไทย 2.19 ล้านคน และไทยสมายล์ 1.08 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.3% (การบินไทย 77.1% และไทยสมายล์ 80.9%) ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 77.0% 

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 29,289 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 28,940 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 11,995 ล้านบาท (41% ของค่าใช้จ่ายรวม) 

นอกจากนี้ การบินไทยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2565 ซึ่งมีกำไร 3,920 ล้านบาท ซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,722 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,732 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 1,546 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 4,780 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 8,360 ล้านบาท 

การบินไทย

9 เดือนกำไรสุทธิ 16,342 ล้านบาท 

9 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้รวม ทั้งสิ้น 115,897  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 65,567 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 86,567 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 66,115 ล้านบาท 

โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน 29,330 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 548 ล้านบาท ขณะที่มีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 11,237ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,390 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 16,342 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุน 11,237 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 31,720 ล้านบาท 

ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 234,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 36,112 ล้านบาท (18.2%) หนี้สินรวมจำนวน 288,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 19,794 ล้านบาท (7.4%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 54,706 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 16,318 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ มีเงินสด ตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำและหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 63,387 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT