Hyperloop One (ไฮเปอร์ลูป วัน) บริษัทพัฒนาการเดินทางและการขนส่งความเร็วสูงผ่านท่อสุญญากาศ เตรียมปิดกิจการ ทั้งปิดสำนักงาน ขายทรัพย์สิน รวมถึงจ่อเลิกจ้างพนักงานทุกคน ทั้งตำแหน่ง วิศวกร ครีเอทีฟ และนักเทคโนโลยีกว่า 800 ชีวิต ภายในสิ้นปี 66 นี้ หลังไม่สามารถคว้าสัญญาการสร้างไฮเปอร์ลูปได้แม้แต่ครั้งเดียว
รู้จัก Hyperloop การปฏิวัติการคมนาคมแห่งอนาคต
Hyperloop One ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 และระดมทุนได้มากกว่า 400 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากบริษัทขนส่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ DP World และมหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ริชาร์ด แบรนสัน
ซึ่งก่อนหน้านี้ มีคนเปรียบเปรย การพัฒนาเทคโนโลยี Hyperloop เหมือนการปฏิวัติการคมนาคมแห่งอนาคต เนื่องจาก เป็นเทคโนโลยีการเดินทางความเร็วสูง สามารถย่นระยะเวลาเดินทางการเดินทางเร็วกว่าการบินด้วยเครื่องบินเจ็ตเชิงพาณิชย์ถึง 2 เท่า และเร็วกว่ารถไฟความเร็วสูงถึง 4 เท่า
หากในกรณีที่ทำสำเร็จการเดินทางระหว่างนิวยอร์กและวอชิงตันจะใช้เวลาเพียง 30 นาที จาก 1 ชั่วโมง 37 นาที โดยเครื่องบินเจ็ตเชิงพาณิชย์
โดย ระบบ Hyperloop คือ การเดินทางผ่านท่อสุญญากาศ โดยมีพาหนะที่เรียกว่า Pod หรือแคปซูล ซึ่งขับเคลื่อนด้วยแรงแม่เหล็กไฟฟ้า โดย Pod จะเดินทางไปด้วยความเร็วสูงสภาพแวดล้อมที่มีแรงดันต่ำและแรงเสียดทานต่อตัวท่อ ทำให้แคปซูลสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความเร็วสูงสุดที่คาดการณ์ไว้ที่ 760 ไมล์ต่อชั่วโมง (1200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
ทั้งนี้ การพัฒนา Hyperloop มีเป้าหมายการออกแบบเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยระบบใช้พลังงานสะอาดในการขับเคลื่อน อย่าง พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
Elon Musk ผู้จุดประกาย Hyperloop
หากจำกันได้เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป ถูกจุดประกายเมื่อปี 56 โดยมหาเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของโลก อย่าง Elon Musk CEO ของบริษัทเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่าง Tesla , SpaceX และ The Boring Company ในช่วงนั้น Elon Musk อ้างว่ารถไฟความเร็วสูง (High-Speed Rail) นั้นมีราคาแพงและช้าเกินไปและได้มีการนิยามว่า “ไฮเปอร์ลูปคือพาหนะแห่งอนาคต”
โดยช่วงนั้นบริษัท Virgin Hyperloop One ของริชาร์ด แบรนสัน ได้นำแนวคิดของเขาไปพัฒนาต่อ ส่วน Elon Musk ก็ตั้งบริษัท The Boring Company เพื่อพัฒนาไฮเปอร์ลูปด้วยเช่นกัน
Elon Musk ได้กำหนดวิธีการทำงานของระบบ Hyperloop สมัยใหม่ โดยทางบริษัท The Boring Company พยายามผลักดันให้การขนส่งผู้โดยสารที่บรรจุอยู่ในตู้โดยสารผ่านระบบระหว่างเมืองของท่อสุญญากาศใต้ดินขนาดยักษ์ให้เกิดขึ้นจริง
Elon Musk ได้ใช้บริษัท Space X จัดการแข่งขันออกแบบเพื่อสร้างทีมพัฒนาและทดสอบแคปซูลที่สามารถใช้กับ Hyperloop ในปี 58 ในการแข่งขันในครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 1,000 ทีม รวมถึงทีมจากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก (University of Edinburgh) ที่ได้เข้าสู่รอบรองชนะเลิศ
แม้ว่าในช่วงหลังความทะเยอทะยานของ Elon Musk ได้ลดลง หลังความพยายามของเขาไม่สำเร็จ ประจวบกับกระแสการพัฒนา Hyperloop ได้เงียบลง โดยอุโมงค์รุ่นต้นแบบ ตั้งอยู่ใกล้กับสำนักงานใหญ่ของ SpaceX ได้ถูกถอดออกแล้วและถูกแทนที่ด้วยลานจอดรถสำหรับพนักงาน
กระแส Hyperloop ในประเทศไทย
กระแสการพูดถึง ระบบ Hyperloop ในประเทศไทย เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งในประเทศไทยในปี 62 ในช่วงที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยังเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้มีการแถลงข่าวหัวข้อ ไฮเปอร์ลูป : ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย โดยพรรคอนาคตใหม่ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่สถานที่จริงกับบริษัทผู้พัฒนานวัตกรรม Hyperloop ถึง 3 แห่ง โดยมองเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ และกรุงเทพ-ภูเก็ต ในการพัฒนา Hyperloop
เนื่องจากการพัฒนา Hyperloop อาจมีต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำกว่ารถไฟความเร็วสูง และได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (คาดว่าประมาณ 9.7 แสนบ้านบาท) อีกทั้งยังสามารถสร้างงานและอาชีพกับแรงงานได้มากถึง 1.8 แสนตำแหน่งงาน
อย่างไรก็ตามการพัฒนา Hyperloop นี้อาจต้องพับเก็บลง เมื่อเรื่องอื้อฉาวของบอร์ดบริหารช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งการคุกคามทางเพศและโจรกรรมข้อมูล ส่งผลให้บริษทขาดความน่าเชื่อถือลง อีกทั้งข้อด้อยของ Hyperloop คือขนส่งคนได้จำนวนน้อย หากเทียบกับเครื่องบินหรือรถไฟที่สามารถขนคนได้หลายร้อยคนหรือพันคนในครั้งเดียว ข้อพิพาทเหล่านี้จึงทำให้การพัฒนา Hyperloop ไม่สมเหตุสมผล ต่อการขนส่งผู้โดยสารให้คุ้มทุนต่อบริษัท
ที่มา : Reuters