เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัวครั้งใหญ่ ธนาคารโลก หรือ World Bank คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตเพียง 2.4% ในปี 2024 ต่ำสุดในรอบ 30 ปี ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมาจากความขัดแย้งทั่วโลก ซึ่งประเทศกำลังพัฒนารับผลกระทบหนักสุด
ธนาคารโลก เผย เศรษฐกิจโลกดิ่งเหว จีดีพีต่ำสุดในรอบ 30 ปี
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ธนาคารโลก หรือ World Bank คาดว่า เศรษฐกิจปี 2024 นี้ จะชะลอตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 คาดจีดีพีเติบโตเพียง 2.4% น้อยลงจากเมื่อปีก่อนที่ 2.6% ทำให้การเติบโตของ GDP ต่ำสุดในรอบ 30 ปี โดย ธนาคารโลก คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวเล็กน้อยในปี 2025 เป็น 2.7%
แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ แต่ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอยู่ จากสาเหตุความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งเหตุการณ์ ความไม่สงบ ของประเทศ รัสเซีย-ยูเครนจนเกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจส่วนใหญ่มีแนวโน้มเติบโตช้าในปี 2024 และ 2025 มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา
สงครามความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ไม่มีทีท่าว่าจะจบลง
จากเหตุการณ์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน จนถึง สงครามในตะวันออกกลาง ยังส่งผลให้ราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันและแก๊สธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่ง ทำให้ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ในภาคเศรษฐกิจปรับตัวสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อจึงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลง
“จากภาวะสงครามในยุโรปตะวันออกจากการที่รัสเซียบุกยูเครน จนไปถึงความขัดแย้งร้ายแรงในตะวันออกกลาง ที่เวลานี้ยังคงลุกลามอยู่ อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาพลังงานที่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ” Ayhan Kose รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกและผู้อำนวยการกลุ่ม Prospects กล่าว
ประเทศกำลังพัฒนา เจ็บหนักสุด
สำหรับประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก จะเติบโตเพียง 3.9% ในปี 2024 โดยจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทศวรรษก่อนหน้ามากกว่า 1% เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวลดลงตามความต้องการที่ลดลงจากฝั่งผู้บริโภคและผู้ผลิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันและอาหาร
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังคาดว่า ภายในสิ้นปี 2024 ผลจากการค้าโลกที่ซบเซา ประชากรประมาณ 1 ใน 4 ของประเทศที่กำลังพัฒนาจะจนมากกว่าเดิมหรืออาจมากกว่าในช่วยก่อนโควิดระบาดด้วยซ้ำ
โลกกำลังจะล้มเหลวกับเป้าหมายการพัฒนา
ธนาคารโลก ยังชี้ว่า โลกได้ล้มเหลวกับเป้าหมายการพัฒนาทศวรรษที่ 2020 ในการแก้ปัญหาความยากจนขั้นรุนแรง โรคติดต่อร้ายแรง และการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกประเมินว่า ยังมีโอกาสแก้ไขได้ หากรัฐบาลทั่วโลกดำเนินการอย่างรวดเร็วในการเพิ่มการลงทุนและเสริมแกร่งกรอบนโยบายการคลัง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรง จะกลายเป็นทศวรรษแห่งโอกาสที่สูญเปล่า
“การลงทุนที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงประเทศกำลังพัฒนา และช่วยให้เร่งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานและบรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาที่หลากหลาย …เพื่อจุดประกายความเจริญดังกล่าว ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องปรับใช้นโยบายที่ครอบคลุม ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ขยายการค้าข้ามพรมแดนและกระแสการเงิน ปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน และเสริมสร้างคุณภาพของสถาบัน” Ayhan Kose กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา CNBC , World Bank