การบินไทยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2567 ที่สะท้อนถึงการฟื้นตัวทางธุรกิจ แม้จะเผชิญแรงกดดันด้านต้นทุน แต่ก็ยังคงเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูกิจการ มุ่งสู่เป้าหมายการกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปีหน้า บทความนี้ SPOTLIGHT จะเจาะลึกผลประกอบการที่สำคัญ กลยุทธ์การฟื้นฟู และเส้นทางสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของสายการบินแห่งชาติ
ส่องกำไรการบินไทย Q2/67 ดิ่งลง 86.5%จะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้?
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 กำไรสุทธิ 314 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2,273 ล้านบาท ลดลง 86.5% สาเหตุหลักมาจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ แม้จะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม และกำไรจาการขายสินทรัพย์ และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว เป็นค่าใช้จ่ายรวม 809 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในไตรมาส 2/67 ถือว่า สะท้อนถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งทางธุรกิจ พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีเป้าหมายที่จะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในไตรมาส 2 ปี 2568
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 43,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้จะมีการลดลงเล็กน้อย 4.3% จากไตรมาสแรก ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรปกติของธุรกิจสายการบิน บริษัทฯ ได้ดำเนินการขยายเครือข่ายเส้นทางบินด้วยการเปิดเส้นทางใหม่สู่เมืองมิลานและออสโล รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือกับสายการบินพันธมิตร ส่งผลให้มีจำนวนผู้โดยสารรวม 3.81 ล้านคน และอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 73.2% นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นในการยกระดับการกำกับดูแลกิจการ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งรวมถึงการแปลงหนี้เป็นทุน และการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน
การบินไทยเผชิญแรงกดดันต้นทุน กำไรสุทธิลดลง แม้รายได้เติบโตแข็งแกร่งในครึ่งปีแรก 2567
แม้รายได้จะเพิ่มขึ้น แต่การบินไทยยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนในไตรมาส 2 ปี 2567 โดยค่าค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 38,056 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 32.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักต้นทุนทางการเงินลดลงเหลือ 5,925 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 8,576 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ภาระต้นทุนทางการเงินตามมาตรฐานบัญชี TFRS 9 และผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการด้อยค่าของสินทรัพย์ ยังคงกัดเซาะผลกำไรของบริษัท ส่งผลให้มีกำไรสุทธิเพียง 314 ล้านบาท ลดลงอย่างมากจาก 2,273 ล้านบาทในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม EBITDA หลังหักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสัญญาเช่าเครื่องบินยังคงอยู่ที่ 4,401 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทในระดับหนึ่ง
สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้รวมเติบโตแข็งแกร่งที่ 89,936 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.0% จากปีก่อนหน้า แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่ 27.3% เป็น 72,935 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินลดลง 21.3% เหลือ 17,001 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีต้นทุนทางการเงินตาม TFRS 9 ที่ 9,403 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายพิเศษส่วนใหญ่จากผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนและการด้อยค่าสินทรัพย์อีก 4,847 ล้านบาท
ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้กำไรสุทธิลดลงเหลือ 2,738 ล้านบาท จาก 14,795 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม EBITDA ยังคงแข็งแกร่งที่ 18,402 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แม้ว่ากำไรสุทธิจะต่ำกว่าเล็กน้อยเนื่องจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้
ฝูงบินขยายตัว ผู้โดยสารเพิ่ม สินทรัพย์โต หนี้สินสูง ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 บริษัทฯ มีฝูงบินประจำการทั้งสิ้น 77 ลำ โดยมีอัตราการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 13.0 ชั่วโมงต่อวันในช่วงครึ่งแรกของปี แม้ว่าอัตราการบรรทุกผู้โดยสารจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่บริษัทฯ ยังคงสามารถขนส่งผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 11.8% หรือ 0.81 ล้านคน คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารรวม 7.68 ล้านคน ในส่วนของสถานะทางการเงิน ณ สิ้นงวดครึ่งปีแรก บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 270,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 31,535 ล้านบาท
หนี้สินรวมจำนวน 310,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 28,823 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 40,430 ล้านบาท ติดลบลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 2,712 ล้านบาท มีเงินสด รายการเทียบเท่าเงินสด และสินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่น ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 จำนวน 81,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,618 ล้านบาท จาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี บริษัทฯ ได้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไปแล้วรวมทั้งสิ้น 4,644 ล้านบาท จากหนี้ที่ครบกำหนดชำระทั้งปีจำนวน 13,022 ล้านบาท
การบินไทยเดินหน้าแผนฟื้นฟู เตรียมยื่นไฟลิ่ง ก.ย. นี้ คาดออกจากแผนฯ กลางปี 68
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดเตรียมแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดที่สำคัญดังต่อไปนี้
การแปลงหนี้เป็นทุน
- เจ้าหนี้กลุ่ม 4 ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น กระทรวงการคลัง จะดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนเต็มจำนวน (100%)
- เจ้าหนี้กลุ่ม 5 (สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการรับเงินจากการขายเครื่องบิน), เจ้าหนี้กลุ่ม 6 (สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่ม 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) จะดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนในสัดส่วน 24.50%
- เจ้าหนี้กลุ่ม 4, 5, 6 และ 18-31 มีสิทธิในการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมจากสัดส่วน 24.50% ที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ
การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน
- บริษัทฯ จะดำเนินการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน, พนักงานบริษัทฯ และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง ตามลำดับ
กรอบระยะเวลาคาดการณ์
- กันยายน 2567: บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถยื่น Filing ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- พฤศจิกายน 2567: เจ้าหนี้จะดำเนินการใช้สิทธิและแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติม
- ธันวาคม 2567: บริษัทฯ จะดำเนินการเสนอขายและจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน
- สิ้นปี 2567: บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนให้แล้วเสร็จตามแผนฟื้นฟูกิจการ
- ไตรมาส 2 ปี 2568: บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอให้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและให้หุ้นของบริษัทฯ กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
หมายเหตุ: กรอบระยะเวลาดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการดำเนินการของบริษัทฯ, การพิจารณาของ ก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ศาลล้มละลายกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย บริษัทฯ ขอยืนยันว่า บริษัทฯ จะดำเนินการทุกขั้นตอนตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
ปรับโฉม ปรับโครงสร้าง ปรับทิศทาง หลังพ้นรัฐวิสาหกิจ
นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 รัฐบาลได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทฯ ลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 50 ส่งผลให้บริษัทฯ สิ้นสุดสถานะรัฐวิสาหกิจ การเปลี่ยนแปลงนี้ได้นำมาซึ่งความคล่องตัวในการบริหารจัดการและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ ทำให้สามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการและปฏิรูปธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายที่วางไว้หลายประการ อาทิ
การปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับและคล่องตัว การปรับลดแบบเครื่องบินและเครื่องยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การลดต้นทุนในด้านต่างๆ เช่น บุคลากร ฝูงบิน และการซ่อมบำรุง ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้ผ่านการปรับปรุงระบบบริหารรายได้และยุทธศาสตร์การขาย โดยมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากการเชื่อมต่อเครือข่ายเที่ยวบิน (Network) ซึ่งเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์ของภาครัฐในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินชั้นนำในระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบิน โดยนำเครื่องบินแบบ A320 จากสายการบินไทยสมายล์เข้าประจำการในฝูงบินของบริษัทฯ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการฝูงบินและผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทฯ ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้บริษัทฯ สามารถวางแผนพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบินและเที่ยวบินให้ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การบินไทยกำลังก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ด้วยผลประกอบการที่แข็งแกร่งและแผนฟื้นฟูที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สายการบินแห่งชาตินี้ กำลังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการกลับมายืนหยัดอย่างมั่นคงและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต การปรับโครงสร้างธุรกิจ การเพิ่มประสิทธิภาพ และการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินระดับโลก จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำพาการบินไทยสู่ความสำเร็จในระยะยาว แม้เส้นทางข้างหน้าอาจยังมีอุปสรรค แต่ด้วยความมุ่งมั่นและกลยุทธ์ที่ชัดเจน เชื่อว่าการบินไทยจะสามารถทะยานขึ้นสู่ฟ้าอีกครั้ง และสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทุกคน