ดร.นิเวศน์ ชวนคิดถอดบทเรียนจากดีล SCB-Bitkub ที่เพิ่งล่มไป ซึ่งถือเป็นตะปูตัวสุดท้ายของการจบฤดูกาลเหรียญดิจิทัลของไทยรอบนี้
การยกเลิกข้อตกลงซื้อหุ้นบิทคับ ออนไลน์จำนวน 51% มูลค่า 1.785 หมื่นล้านบาท ของกลุ่ม SCB เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2565 หลังจากที่มีการลงนามใน MOU หรือ “ความตั้งใจ” ที่จะซื้อ-ขายหุ้น ในวันที่ 2 พ.ย. 2564 หรือเมื่อประมาณ 10 เดือนมาแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจและเป็นบทเรียนสำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนที่ซื้อขายหุ้น หรือสินทรัพย์ใหม่ๆ อย่างดิจิทัลที่เพิ่งเกิดขึ้นในโลกของการลงทุนหรือการเก็งกำไรไม่น้อย
ข้อแรกก็คือ เมื่อมีการประกาศดีลเทคโอเวอร์ในราคาที่กำหนดนั้น อย่าเชื่อมั่น 100% ว่าดีลนั้นจะต้องเกิดขึ้นตามที่ประกาศไม่ว่าคนซื้อหรือขายจะเป็นใคร เพราะการประกาศนั้น มักจะมี “เงื่อนไขสำคัญ” ว่าจะต้องมีการทำ “Due Diligence” หรือ “ตรวจสอบกิจการ” เป็นที่พอใจก่อน ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วถ้าไม่มีอะไรที่ทำให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากที่เห็นจากภายนอก ดีลก็มักจะสรุปได้ตามที่ประกาศใน MOU ซึ่งเป็นสัญญาที่ “หลวม” และเลิกได้ และส่วนใหญ่ก็มีกำหนดระยะเวลาของสัญญาไว้ด้วย ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ในเวลากำหนดก็สามารถล้มดีลได้โดยอัตโนมัติ
ดังนั้น สำหรับนักลงทุนแล้ว เวลามีการประกาศดีลเทคโอเวอร์ที่มีราคาหุ้น หรือทรัพย์สินสูงกว่าราคาตลาดมาก ราคาหุ้นในตลาดก็จะวิ่งขึ้นไปหาราคาที่มีการประกาศ แต่ก็มักจะต่ำกว่าประมาณ 5-10% ขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนคิดว่าส่วนต่างแค่ไหนถึงจะคุ้มที่จะเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นมาเก็บเพื่อรอไป “Tender” หรือขายให้กับคนที่เทคโอเวอร์ในวันที่จะรับซื้อ
การทำแบบนี้บางทีก็เรียกว่าทำ “Arbitrage” คือทำกำไรได้หลายเปอร์เซ็นต์ เช่น 6-7% ในเวลาสั้นๆ แค่ 3-4 เดือนโดย “ไม่มีความเสี่ยง” แต่จริงๆ ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่เล็กน้อยกรณีที่ดีลไม่ผ่าน
สำหรับผม ก่อนที่จะซื้อหุ้นที่กำลังถูกเทคโอเวอร์ นอกจากจะต้องดูว่าราคา Discount หรือส่วนลดนั้นคุ้มค่าหรือไม่แล้ว ผมยังต้องดูอีกว่าถ้าดีล “ล่ม” ผมจะเสียหายแค่ไหน
ถ้าคำตอบก็คือ ราคาที่ผมซื้อนั้น จริงๆ ก็ถูกมาก หุ้นเป็นหุ้น Value ที่มี Margin Of Safety อยู่แล้ว และเหตุผลที่คนเทคโอเวอร์ก็เพราะหุ้นนั้นถูกเกินไปมาก แบบนี้ผมก็จะซื้อหุ้น แต่ถ้าไม่ใช่ และราคาหุ้นหรือทรัพย์สินนั้น “แพงมาก” ในสายตาของผม ผมก็จะไม่เข้าไปเล่นเลย
ดีลการซื้อหุ้น บิทคับ ออนไลน์นั้น เกิดขึ้นในยามที่ทุกอย่างกำลังร้อนแรงสุดๆ ราคาของบิตคอยน์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินดิจิทัลหลักที่ซื้อขายอยู่บนแพลตฟอร์มของ บิทคับ ออนไลน์นั้นขึ้นไปสู่จุด “สูงสุดใหม่” ที่ประมาณ 65,000 ดอลลาร์ จากราคาที่ประมาณ 32,000 ดอลลาร์หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100% ในช่วงเวลาแค่ 4 เดือน
และนี่ก็เป็นการขึ้นสู่จุดสูงสุดครั้งที่สอง หลังจากที่เคยขึ้นไปถึง 60,000 ดอลลาร์ในช่วงเดือนมี.ค. 2564 และตกลงมาอย่างรวดเร็วเหลือเพียงครึ่งเดียวคือประมาณ 30,000 ดอลลาร์ในเดือน ก.ค. 2564
ทั้งหมดนี้ หากมองในสายตาของนักเก็งกำไรที่เน้นการวิเคราะห์ในทางเทคนิคแล้ว ก็น่าจะเป็นสัญญาณว่า บิตคอยน์นั้นน่าจะต้องวิ่งต่อไปอีกไกลมาก เพราะทำจุดสูงสุดใหม่ได้อย่างรวดเร็วหลังจาก “ถล่มทลาย” และลบล้างความเชื่อหรือความกลัวที่ว่าบิทคอยน์นั้น “ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย” และอาจจะ “ล่มสลาย” ไปในที่สุด
เช่นเดียวกัน แพลตฟอร์มการซื้อขายเหรียญดิจิทัลของบิทคับนั้น กำลังเป็นผู้นำที่เรียกว่า “Dominant” หรือครอบงำธุรกิจซื้อขายเหรียญของประเทศไทย มี Market Share หรือส่วนแบ่งทางการตลาดถ้าผมเข้าใจไม่ผิด กว่า 90% ในขณะที่นักลงทุนไทย “รุ่นใหม่” ที่เป็นหนุ่มสาวต่างก็เข้ามาเล่นเหรียญคริปโทเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดอยู่ใน “ระดับโลก”
คือเพิ่มขึ้นเป็น “ล้านคน” ในช่วงเวลาเพียง “ปีเดียว” นั่นส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายผ่าน บิทคับออนไลน์ ทั้งปีคิดเป็นมูลค่ากว่าล้านล้านบาทต่อปีถ้าผมจำไม่ผิด และด้วยค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ค่อนข้างสูงอานิสงส์จากการที่คู่แข่งยังไม่ค่อยมีศักยภาพ ทำให้บิทคับออนไลน์มีกำไรต่อปีล่าสุดสูงถึงกว่า 1,000 ล้านบาท
ดูเหมือนว่าโลกและประเทศไทยจะเลี่ยงที่จะเข้าสู่ “โลกใหม่” ที่มีเหรียญดิจิทัลสารพัดชนิดโดยเฉพาะเหรียญคริปโทเป็น “แกนหลัก” ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว คนที่ไม่รีบที่จะเรียนรู้และธุรกิจที่ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องจะถูก “ทิ้งไว้ข้างหลัง” นั่นเป็นสัญญาณที่ส่งออกมาจาก “แชมเปี้ยน” หรือ “ฮีโร่” ทั้งหลายของโลกดิจิทัล “ผู้ควบคุมกฎ” ของประเทศต่างก็ต้องรีบ “ปรับตัว” เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่มีข้อมูลอย่างจำกัด และแม้ว่าจะกลัวและหวาดวิตกกับการเปลี่ยนแปลงแต่ก็ต้องพยายามแสดงว่าพร้อมที่จะสนับสนุนเพื่อไม่ให้ถูกมองว่ากำลัง “ตกยุค”
ในด้านของธุรกิจเองนั้น นักธุรกิจ “หัวก้าวหน้า” ต่างก็เข้ามาร่วมในกระบวนการ “เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” นี้ พวกเขาผลิตเหรียญออกมาขายหรือให้บริการทั้งๆ ที่คนจะใช้ก็ยังไม่รู้ว่าจะใช้อย่างไรหรือมีประโยชน์อะไร แต่สังคมก็ “ให้ค่า” เรื่องราวหรือ Vision หรือการมีวิสัยทัศน์เหล่านั้น เข้ามาซื้อเหรียญที่ทำให้คนผลิตรวยกันในชั่วข้ามคืน
มีทรัพย์สินดิจิทัลคิดเป็นเงินพัน หมื่น หรือหลายหมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับธุรกิจเดิมของบริษัทที่ทำมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่กำไรก็แค่หลักร้อยล้านบาทหรือต่ำกว่านั้นในแต่ละปี และนี่ก็เช่นเดียวกับนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนซื้อขายเหรียญซึ่งก็ไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไร รู้แต่ว่าราคามันขึ้นไปเร็วมาก บางทีเป็น 10 เท่า ภายในเวลาไม่กี่เดือน และเรื่องราวทั้งหมดนั้นก็นำไปสู่จุด Peak หรือจุดสุดยอดที่มีการประกาศดีล SCB-Bitkub ในช่วงปลายปี 2564
หลังจากการลงนามใน MOU เพียงไม่กี่วัน ราคาหุ้นบิตคอยน์ก็ทิ้งดิ่งลงมา จาก 65,000 เหรียญเหลือเพียง 35,000 เหรียญ และเคยตกลงมาเหลือเพียง 20,000 เหรียญ โลกเกิดความปั่นป่วนโดยเฉพาะจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มในช่วงปลายเดือนก.พ. 2565 ทำให้ปัจจัยทุกอย่างที่เคยเอื้ออำนวยซึ่งทำให้ทรัพย์สินมีค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์กลับเปลี่ยนแปลงในทางตรงกันข้าม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ต่ำเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจที่ถดถอยและเงินเฟ้อสูงและอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
ในช่วงเวลาเดียวกัน ข่าวและเรื่องราวของการฉ้อฉล การโกง และการที่ผู้คุมกฎเริ่มเข้ามาห้ามการทำกิจกรรมหลายๆ อย่างรวมถึงการเข้ามาตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมหรือเป็นการทำราคาเพื่อให้คนเข้ามาซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัล ก็เริ่มผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ เรื่องราวของ “เซเล็บ” ที่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหรียญที่ทำความเสียหายให้กับประชาชนจำนวนมากถูกจับ
ทั้งหมดนี้ทำให้ตลาดของเหรียญและทรัพย์สินดิจิทัลต่างๆ แทบจะ “วาย” และนั่นก็นำมาสู่ “ตะปูตัวสุดท้าย”
นั่นก็คือ การล้มดีล SCB-Bitkub เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2565 ซึ่งผมคิดว่าเป็นการ “จบฤดูกาล” ของเหรียญดิจิทัลของไทยในรอบนี้ โดยที่เหรียญบิทคับที่ผลิตขึ้นโดยบริษัทบิทคับออนไลน์ซึ่งเป็น “ดารานำ” ตกลงมาเหลือ 55 บาทจากที่เคยสูงถึงกว่า 500 บาทในช่วงปลายปี 2564 ที่มีการทำ MOU หรือลดลง 90% ในเวลาไม่ถึงปี มูลค่าตลาดของเหรียญเหลือเพียงประมาณ 5,000 ล้านบาท จากที่เคยสูงถึง 50,000 ล้านบาท สภาพ!