KKP Research ออกบทวิเคราะห์ประเมินถึงผลกระทบจากภาวะสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับยูเครน และปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นต่อชาวนาของประเทศ ในหัวข้อเรื่อง "ชาวนาผู้รับเคราะห์สงครามและเงินเฟ้อ" มีประเด็นสำคัญดังนี้
• KKP Research วิเคราะห์ว่าราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะปรับขึ้นตามราคาพลังงาน ยกเว้นราคาข้าวคาดว่าราคาจะยังตกต่ำในปีนี้ โดยรายได้ของเกษตรกรโดยรวมจะปรับเพิ่มขึ้น 19.3% ในปีนี้มาอยู่ระดับ 970,000 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 8 ปีขณะที่ต้นทุนปุ๋ยที่สูงขึ้นเกือบ 3 เท่ากลับทำให้กำไรขั้นต้นของชาวนาพลิกจากกำไรเป็นขาดทุน สะท้อนถึงความเปราะบางของชาวนาไทย
• สาเหตุที่ทำให้ชาวนามีความเปราะบางกว่าเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ เกิดจาก
1) ประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำกว่าสินค้าเกษตรอื่นๆ ข้าวมีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าประเทศอื่นในเอเชียถึง 32% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
2) มีการใช้พื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสมมากที่สุด โดยข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีการเพาะปลูกเกือบทุกจังหวัดในประเทศ แต่มีถึง 10 จังหวัดที่มีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่มีพื้นที่เพาะปลูกสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ
3) ไม่สามารถแข่งขันกับข้าวประเทศอื่นได้จากราคาที่สูงกว่า โดยสัดส่วนการส่งออกข้าวในตลาดโลกของไทยลดลงจาก 25% ในช่วงปี 2002 –2010 เหลือเพียง 14% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขณะที่ราคาของข้าวไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแพงกว่าข้าวของทั้งเวียดนาม กัมพูชา อินเดีย และปากีสถาน
สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียแม้ว่าจะส่งผลต่อราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกให้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงสินค้าเกษตรและราคาอาหารที่หากมองเผิน ๆ แล้วน่าจะเป็นประโยชน์กับไทย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรไทย เพราะไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม
หากมองด้านต้นทุนของเกษตรกรก็จะพบว่าราคาของ “ปุ๋ยเคมี” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของรัสเซียและยูเครนและเป็นต้นทุนสำคัญของเกษตรกรของไทยที่เกือบทั้งหมดยังต้องนำเข้าอยู่ ได้ปรับตัวขึ้นไปสูงมากเช่นกัน ดังนั้นแล้วท้ายที่สุดเกษตรกรไทยอาจต้องแบกรับภาระต้นทุนมากกว่ารายได้ที่มากขึ้น
แม้ว่าล่าสุดราคาปุ๋ยและราคาอาหารจะเริ่มชะลอตัวลงบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปได้อีก โดยราคาปุ๋ยในตลาดโลกในเดือนพฤษภาคม 2022 ได้ปรับตัวขึ้นเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 110.3% มากกว่าราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น 65.8% และราคาอาหารที่ปรับขึ้น 22.8% และถ้าเทียบกับช่วงปี 2019 ราคาปุ๋ยโลกเพิ่มขึ้นไปแล้วเกือบ 3 เท่า เทียบกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 1.8 เท่า (รูปที่ 1)
สำหรับประเทศไทย ราคาปุ๋ยเคมีขายส่งกรุงเทพฯ เดือนเมษายนเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นไปกว่า 81.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ราคาปุ๋ยเคมีขายปลีกปรับขึ้นไปแล้ว 64.2% ตัวเลขนี้กำลังสะท้อนว่าน้ำมันอาจไม่ใช่ปัจจัยที่น่ากังวลมากที่สุดสำหรับสถานการณ์ราคาสินค้าในไทย
แต่ต้นทุนอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาปุ๋ยและวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น อาหารสัตว์ ที่เป็นปัจจัยการผลิตหลักจะเป็นความเสี่ยงหลักที่อาจทำให้เงินเฟ้อไทยสูงมากกว่าที่คาดได้เช่นกัน จากสัดส่วนอาหารสดในตะกร้าเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่สูงถึง 21% และสูงถึง 38% หากรวมอาหารทุกประเภท(รูปที่ 2)
KKP Research จึงประเมินว่าต้นทุนสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นมหาศาลจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่น่ากังวลของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เพราะนอกจากจะสร้างประเด็นปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างปัญหาเงินเฟ้อแล้ว ยังทำให้สถานการณ์ความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่มีจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ แย่ลงมากจากกำไรของเกษตรกรที่ลดลง และซ้ำเติมปัญหาหนี้ในภาคเกษตรที่อยู่ในระดับสูง
เหตุการณ์นี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคเกษตรมีประสิทธิภาพในการผลิตที่ต่ำมากจนขาดกันชนที่ดีพอจะรองรับผลกระทบใด ๆ จากภายนอก ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขและดูแลจากภาครัฐอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเด็นประสิทธิภาพในการผลิต
KKP Research วิเคราะห์ผลกระทบของราคาปุ๋ยและราคาน้ำมันต่อสินค้าเกษตรสำคัญ 6 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา โดยคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปี 2022 จะอยู่ที่ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 55% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ราคาปุ๋ยจะปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยทั้งปี 2 เท่า หรือเพิ่มขึ้น 100%
จากปีก่อนหน้าในภาพรวมของปี 2022 คาดว่ารายได้โดยรวมของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้น 19.3% เทียบกับปีก่อนหน้า ตามราคาสินค้าเกษตรโลกที่ปรับขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและปัญหาสงครามยูเครน-รัสเซียที่ยืดเยื้อ จากประมาณ 810,000 ล้าน บาทเป็น 970,000 ล้านบาท (รูปที่ 3)
อย่างไรก็ตาม คาดว่าต้นทุนของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ที่ 23.3% เทียบกับปีก่อนหน้า จากประมาณ 530,000 ล้านบาท เป็น 660,000 ล้านบาท โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับสูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่รวมกันส่งออกปุ๋ยประมาณ 14% ของการส่งออกปุ๋ยทั่วโลก ส่งผลให้เกษตรกรโดยรวมยังมีกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 30,000 ล้านบาทในปี 2022
อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดสินค้าเกษตรแต่ละประเภท KKP Research ประเมินว่าข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะเป็นสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยสำหรับข้าวคาดว่า
โดยอัตรากำไรขั้นต้นของข้าวสำหรับชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปลูกข้าวหอมมะลิเป็นหลัก ซึ่งแม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าข้าวเจ้าประมาณ 50% แต่กลับให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าเกือบ 2 เท่า โดยในปีนี้จะขาดทุนเพิ่มขึ้นจาก -27.5% เป็น -63.6% ขณะที่ชาวนาในภาคกลางและเหนือที่ปลูกข้าวเจ้าเป็นหลัก คาดว่ากำไรขั้นต้นจะเปลี่ยนจากกำไร 20.9% เป็นขาดทุน -1.5%
ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่าราคาปุ๋ยจะเพิ่มต้นทุนการเพาะปลูก 19.7% จากปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่ารายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8.9% (โดยเป็นผลทางด้านราคาที่เพิ่มขึ้น +6% เทียบกับปีก่อนหน้าเป็นหลัก) ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจาก 16.6%
เหลือเพียง 8.3%
สำหรับสินค้าเกษตรอื่น ๆ อย่างปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา แม้ว่าราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันได้ดึงให้ราคาของสินค้าเกษตรเหล่านี้ปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงหรือมากกว่า เนื่องจากเป็นสินค้าทดแทนพลังงานหรือผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียมประเภทต่าง ๆ ทำให้สามารถชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ (รูปที่ 4 - 6)
แม้ว่าผลกระทบต่อเกษตรกรที่ต่างกันบางส่วนจะเกิดจากปัจจัยในตลาดโลก แต่มีปัจจัยเชิงโครงสร้างหลักของภาคเกษตรไทยที่ทำให้สินค้าเกษตรบางประเภทได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่มากขึ้นกว่าสินค้าเกษตรประเภทอื่น คือ ประสิทธิภาพในการผลิตหรือผลิตภาพ (Productivity) ที่ค่อนข้างต่ำทำให้แม้ต้นทุนยังไม่สูงขึ้นเกษตรกรบางกลุ่มก็ได้รับกำไรน้อยมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียในช่วง 10 ปีหลังประมาณ 32% และ 14% ตามลำดับ (รูปที่ 7)
ส่งผลให้มีกำไรขั้นต้นต่อไร่ หรือกันชนต่อปัจจัยภายนอกที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากด้วยเงินลงทุนเพาะปลูกต่อไร่ในจำนวนเท่ากันแต่กลับได้ผลผลิตที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ดังนั้นเมื่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภายนอกอย่างราคาปุ๋ยเคมี ชาวนาไทยจึงขาดทุนได้เร็วกว่าสินค้าเกษตรประเภทอื่น
KKP Research ประเมินว่าหากชาวนาไทยสามารถพัฒนาและเพิ่มผลิตภาพในการผลิตได้อย่างน้อยเทียบเท่ากับค่าเฉลี่ยของเอเชีย จะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิตเท่าเดิม ตัวอย่างเช่น
หากแยกวิเคราะห์ข้อมูลผลผลิตในระดับพื้นที่รายจังหวัดจะพบว่าส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการใช้พื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสม โดยเฉพาะข้าวและอ้อยเป็นสินค้าเกษตรเดียวที่มีความไม่สมดุลระหว่างขนาดพื้นที่เพาะปลูกในแต่ละจังหวัดกับความเหมาะสมของพื้นที่ (รูปที่ 8)
ซึ่งมีถึง 10 จังหวัดที่ให้ผลผลิตข้าวต่อไร่ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่มีพื้นที่เพาะปลูกสูงกว่าค่าเฉลี่ย คิดเป็น 13% ของจังหวัดทั้งหมดที่ปลูกข้าว โดยทั้งหมดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ นครพนม ยโสธร อำนาจเจริญ มหาสารคาม ศรีสะเกษ และสกลนคร
ขณะเดียวกันยังมีจังหวัดที่ให้ผลผลิตข้าวสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่มีพื้นที่เพาะปลูกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 24 จังหวัด (31.2% ของจังหวัดทั้งหมดฯ) กระจายตัวไปใน 3 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันตก เช่น ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร กาญจนบุรี เป็นต้น ภาคเหนือตอนล่าง เช่น ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ และภาคกลาง เช่น สระบุรี ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี เป็นต้น
ขณะที่อ้อยมี 8 จังหวัดที่ให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและคิดเป็น 16% ของจังหวัดทั้งหมดที่ปลูกอ้อย โดย ได้แก่ บุรีรัมย์หนองบัวลำภู ราชบุรี สุรินทร์ ชัยภูมิ อุดรธานี นครราชสีมา และสระแก้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับอ้อยจะพบว่าอีกด้านหนึ่งจะมีจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกสูงและให้ผลผลิตสูงมากกว่าข้าวอย่างเห็นได้ชัด (พื้นที่ขวามือบนของเส้นประค่าเฉลี่ย) จนช่วยดึงผลผลิตต่อไร่ของอ้อยในภาพรวมทั้งประเทศให้สูงขึ้นจนเทียบเท่ากับภูมิภาคเอเชียได้
เนื่องจากจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกข้าวพันธุ์หอมมะลิเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าข้าวเจ้า แต่มีราคาแพงกว่า 50% โดยเฉลี่ย ผู้เขียนจึงคำนวณผลผลิตต่อไร่ในจังหวัดเหล่านี้โดยชดเชยผลต่างของราคาดังกล่าวก่อนการวิเคราะห์
ขณะที่สินค้าเกษตรสำคัญที่เหลืออื่น ๆ ค่อนข้างมีความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูก โดยมีจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกสูงและให้ผลผลิตต่อไร่สูงค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันยังมีบางพื้นที่สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มเติมไปยังพื้นที่ที่ผลผลิตสูง แต่พื้นที่เพาะปลูกต่ำอยู่ เช่น ยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคตะวันตกตอนล่างและภาคตะวันออก มันสำปะหลังในภาคตะวันตกตอนบน และปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออก (รูปที่ 9)
ในด้านตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของไทย พบว่าข้าวยังเป็นสินค้าส่งออกเดียวที่มีส่วนแบ่งตลาดลดลงในตลาดโลกอย่างชัดเจนในระยะหลัง โดยมูลค่าการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกลดลงเหลือเพียงประมาณ 14% ของมูลค่าส่งออกข้าวทั้งหมดในโลกในปัจจุบัน จากเดิมที่มีสัดส่วนส่งออกอยู่ประมาณ 25% ในช่วงตั้งแต่ปี 2002 – 2010
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกลุ่มอาเซียนอื่น ๆ แล้วจะพบอีกว่ามูลค่าส่งออกข้าวไทยลดลงจาก 70% ของมูลค่าส่งออกข้าวทั้งหมดในอาเซียนในช่วง 2002 – 2010 เหลือเพียง 47% ในปัจจุบัน หรือหายไปประมาณ 20% โดยประเทศมีส่วนแบ่งการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว นอกเหนือไปจากเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญแล้ว (รูปที่ 10)
สาเหตุหนึ่งที่ข้าวไทยต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดคือการแข่งขันทางด้านราคา โดยราคาข้าวไทยแพงกว่าผู้ส่งออกรายสำคัญอื่น ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย ปากีสถาน และเวียดนาม ซึ่งมีการส่งออกข้าวรวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของการส่งออกข้าวทั่วโลกในแต่ละปี ขณะที่คุณภาพของข้าวไทยอาจจะยังไม่โดดเด่นแตกต่างจากข้าวของประเทศอื่น ๆ มากนัก
โดยราคาข้าวหอมมะลิไทยเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ราคาอยู่ที่ 1,012.9 เหรียญสหรัฐ แต่ราคาข้าวหอมมะลิของเวียดนามและกัมพูชายังถูกกว่า 50.1% และ 19.3% ตามลำดับ ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของไทยย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 456.8 เหรียญสหรัฐ แต่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน ถูกกว่า 10.6% 14.8% และ 17.7% (รูปที่ 11)
ดังนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ราคาข้าวไทยที่แพงกว่าตลาดโลกส่วนหนึ่งเกิดจากประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำกว่า ทำให้ต้นทุนโดยเปรียบเทียบของการปลูกข้าวสูงขึ้นจนไม่สามารถตั้งราคาที่ต่ำกว่าได้ ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจนทำให้สามารถตั้งราคาส่งออกถูกลงได้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกของข้าวไทยได้
จากความเปราะบางที่สะท้อนออกมาในวิกฤตราคาปุ๋ยครั้งนี้ โดยมีสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยงและผลขาดทุนเป็นเพราะผลผลิตต่อพื้นที่เพาะปลูก (Yield) ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน ด้วยต้นทุนเท่าเดิม ทำให้เกษตรกรมีรายได้และกำไรที่เป็นกันชนต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ดังนั้น การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีกำไรส่วนเกินมากขึ้น จะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมไทยที่ยั่งยืนในระยะยาว
KKP Research มองว่าเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาไทย ภาครัฐควรส่งเสริมใน 3 ประเด็น คือ
KKP Research มองว่าภาคเกษตรไทยจำเป็นในการพัฒนาและลงทุน เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความมั่นคงของอาหารที่ไทยยังจำเป็นต้องพัฒนาในระยะยาว แม้ว่าจะในปัจจุบันยังดูเหมือนไม่เป็นปัญหา แต่จากข้อมูล Global Food Security Index ของ The economist พบว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 51 จากทั้งหมด 113ประเทศ โดยไทยมีคะแนนที่ดีในมิติราคาอาหารที่เข้าถึงได้ (Affordability)
แต่ในมิติความพร้อมของอาหาร (Availability) มิติคุณภาพและความปลอดภัย (Quality and Safety) และมิติทรัพยากรธรรมชาติและความยืดหยุ่น (Natural Resources & Resilience) ยังได้คะแนนไม่มากนัก ซึ่งสอดคล้องกับผลกระทบจากวิกฤตราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นในครั้งนี้และสะท้อนให้เห็นว่าในภาคการเกษตรเองยังสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่สูงขึ้นได้อีกมาก
นอกจากนี้ในระยะยาวประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาภาคเกษตรให้ทันสมัยรวมถึงพิจารณาการจัดสรรทรัพยากรแรงงานอย่างเหมาะสมโดยต้องสนับสนุนให้แรงงานย้ายจากภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปยังภาคเศรษฐกิจที่ผลิตภาพสูง หรือในกรณีที่ภาคเกษตรไทยบางกลุ่มมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) อยู่แล้ว ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินนโยบายลงทุนและส่งเสริมเกษตรกรไทยเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงทักษะแรงงานให้เหมาะสมกับภาคเศรษฐกิจใหม่ รวมไปถึงการลงทุนในภาคเกษตรเพื่อรองรับประเด็นความมั่นคงทางอาหารในอนาคต
ขอบคุณข้อมูล : KKP Research