สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกในยุคปัจจุบัน (ในยุคอดีตคือ กษัตริย์หลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส)
แต่กระนั้นก็ใช่ว่า การเมืองและการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมาจะมีแต่ความราบรื่นตลอด
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์อย่างกะทันหันต่อจากพระราชบิดา สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 โดยทรงเคยตรัสย้อนรำลึงถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า "ข้าพเจ้าไม่ได้มีเวลาเตรียมตัวมาก่อนเลย เสด็จพ่อจากไปขณะที่ยังทรงมีพระชนมายุไม่มากนัก ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องกะทันหันชนิดที่ว่า ต้องเข้ารับหน้าที่และทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทันที"
ที่สำคัญก็คือ ในช่วงนั้นเพิ่งจะผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาหมาดๆ ประชาชนในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ เวลส์ ไอร์แลนด์ สก็อตแลนด์) ยังคงต้องเผชิญกับความยากลำบากและภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองหลังสงคราม แต่การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์ใหม่นั้น เปรียบได้กับแสงสว่างยามรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นความหวังแก่พวกเขาว่า ยุคแห่งความรุ่งเรืองเช่นเดียวกับรัชสมัยของ "สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่หนึ่ง" เมื่อหลายร้อยปีก่อนอาจกำลังเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก ทำให้ความเป็นจักรวรรดินิยมของอังกฤษมาถึงจุดสิ้นสุด หลายประเทศ เช่น อินเดีย แยกตัวออกไปเป็นเอกราช แต่สิ่งที่ยังเชื่อมต่อความเป็นจักรวรรดิเอาไว้ก็คือการเป็นสมาชิกเครือจักรภพ (Commonwealth) ซึ่งมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง เป็นองค์ประมุขสูงสุด
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่พระองค์ทรงยึดถือมาตลอดช่วง 70 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและยุคสมัย ก็คือ การวางตัวเป็นกลางทางการเมือง (politically neutral) คือทรงวางบทบาทเป็นตัวแทนของทั้งประเทศ และอยู่เหนือเรื่องทางการเมือง ไม่ว่าอังกฤษจะผ่านเรื่องยากทางการเมืองใดๆ มาก็ตาม แม้ว่าในช่วง 10 ปีหลังมานี้ การเมืองอังกฤษจะเต็มไปด้วยประเด็นร้อน และมีความพยายามขอให้ทรงมาช่วยแทรกแซงทางการเมืองก็ตาม เช่น การลงมติแยกเอกราชของสกอตแลนด์ ในยุคของนายกรัฐมนตรีเจมส์ คาเมรอน
แม้แต่ในยุคต้นๆ ของรัชสมัยก็มีรายงานข่าวอ้างว่า มีความพยายามที่จะปฏิวัติรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี แฮโรลด์ วิลสัน นายกฯ คนแรกที่มาจากพรรคแรงงานในยุคของพระองค์ แม้เรื่องนี้จะไม่มีรายงานยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้ปรากฎอยู่ในตอนหนึ่งของซีรีส์ดัง The Crown ในฉากที่ลอร์ดเมาท์แบทเท่น ขอเข้าเฝ้าเพื่อทูลขอการสนับสนุนให้เปลี่ยนนายกฯ แต่พระองค์ก็ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ ที่ดีหรือไม่ แต่ตราบใดที่ประชาชนเป็นผู้เลือกนายกฯ เข้ามา ผู้ที่จะทำให้นายกฯ ลงจากตำแหน่งได้ก็คือประชาชน ไม่ว่าจะต้องใช้เวลาหรือผ่านความเจ็บปวดก็ตาม
แน่นอนว่าการอยู่เหนือการเมืองไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทรงมีความเห็นส่วนพระองค์ทางการเมือง โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว นายกรัฐมนตรีจะมีการเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง โดยมีการพูดคุยหารือกันทั้งในเรื่องทั่วไปจนถึงเรื่องการเมือง แต่ก็จะเป็นการพูดคุยเป็นการส่วนพระองค์และไม่มีการเปิดเผยสู่สาธารณชน
ภายใต้ยุคสมัยการปกครองของพระองค์ตลอด 70 ปี อังกฤษมีนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 15 คน ดังนี้
“สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ในทุกวันนี้เพราะพระองค์ ตอนนี้เราเป็นประเทศที่มีความทันสมัย มีความเจริญรุ่งเรือง และมีพลวัต จากที่ได้ฝ่าฟันอุปสรรคและความยากลำบากต่างๆ มา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมอบความมั่นคงและความแข็งแกร่งที่เราต้องการ” ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันกล่าวในการปราศรัยที่หน้าทำเนียบ
ที่มา: BBC, CNN