Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ญี่ปุ่นครองแชมป์ลงทุนในไทยสูงสุด จับสัญญาณเวียดนาม ดาวเด่นดึงดูดลงทุน
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ญี่ปุ่นครองแชมป์ลงทุนในไทยสูงสุด จับสัญญาณเวียดนาม ดาวเด่นดึงดูดลงทุน

3 ธ.ค. 67
14:06 น.
|
528
แชร์

ใกล้จะหมดปี 2567 แล้ว หากเราสำรวจข้อมูลทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ก็พบความน่าห่วงหลายประเด็นหนึ่งในนั้นคือเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติที่เริ่มมีสัญญาณลดความสนใจในการลงทุนในประเทศไทยลง ซึ่งนั่นหมายถึงความเสี่ยงจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการผลิต การส่งออก การจ้างงาน และกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยรวมในที่สุด 

การทำธุรกิจของต่างชาติในไทยปี 67 โตต่อเนื่องแต่จ้างงานคนไทยลดลง

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารายงานตัวเลข 10 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 786 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 181 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว(ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 605 ราย เม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 161,169 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทย 3,037 คน   

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก ปี 2566 จำนวน 230 ราย (เพิ่มขึ้น 41%) โดยเดือน ม.ค. - ต.ค. 67 อนุญาต 786 ราย / เดือน ม.ค. - ต.ค. 66 อนุญาต 556 ราย และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 66,203 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 70%) โดยเดือน ม.ค. - ต.ค. 67 ลงทุน 161,169 ล้านบาท / เดือน นแม.ค. - ต.ค. 66 ลงทุน 94,966 ล้านบาท

แต่ขณะที่มีการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวลดลง 2,919 ราย (ลดลง 49%) (เดือน ม.ค. - ต.ค. 67 จ้างงาน 3,037 คน / เดือน ม.ค. - ต.ค. 66 จ้างงาน 5,956 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน ตามมาด้วย สิงคโปร์ , จีน , สหรัฐฯ, ฮ่องกง

พบสัญญาณ ญี่ปุ่น สนใจลงทุนในไทยน้อยลง

ข้อมูลจากบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย  เขียนโดย เมธา ยุวรรณศิริ ธนาคารแห่งประเทศไทย พบสัญญาณที่นักลงทุนญี่ปุ่นสนใจลงทุนในไทยน้อยลง ดูจากประเทศที่ได้รับเงินลงทุนสุทธิเฉลี่ยสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2021 – 2023 อันดับหนึ่งคือ สิงคโปร์ ตามมาด้วยเวียดนามที่ได้เงินลงทุนสุทธิจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากถึง 2.6 แสนล้านเยน หรือ +54% โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรม AI และเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเมกะเทรนด์ ขณะที่การลงทุนสุทธิในไทยเพิ่มขึ้นเพียง 0.8 แสนล้านเยน หรือ+13% ส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 3

โดยสาเหตุที่เวียดนามมีความน่าสนใจเหนือไทยในสายตาของนักลงทุนญี่ปุ่น เพราะมีสาเหตุจาก

1. เศรษฐกิจที่เติบโตสูง 5-6% ต่อปี จากทั้งด้านการบริโภค การลงทุน และการส่งออก

2. มีประชากรในวัยแรงงานมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเวียดนามมีกำลังแรงงานกว่า 56 ล้านคนและอายุเฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ 34.1 ปี ซึ่งเป็นทั้งกำลังแรงงานและกำลังซื้อในประเทศ

3. ค่าแรงที่ต่ำเมื่อเทียบกับทักษะ โดยค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 8,800 บาทต่อเดือน โดยมีทักษะภาษาอังกฤษในระดับ “ปานกลาง” และมีคะแนน PISA ซึ่งสะท้อนความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่านของเยาวชน สูงถึงลำดับที่ 34 ของโลก

ตารางเปรียบเทียบความน่าดึงดูดการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ภายใต้บริบทที่ไทยมีข้อจำกัดเรื่องค่าจ้างที่อยู่ในระดับสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคโดยเปรียบเทียบ และแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่กระทบต่อกำลังแรงงาน อีกทั้งทักษะแรงงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ ทำให้ไทยอาจไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยใช้ความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานได้เหมือนในอดีตได้

ทั้งนี้ญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาลงทุนในไทยในช่วงปี 1960 ซึ่งถือเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศไทยในขณะนั้นสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นได้ในฐานะประเทศเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงในภูมิภาค จากเศรษฐกิจที่เติบโตสูงเฉลี่ยปีละ 5% ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ โครงสร้างพื้นฐานที่ดี และการเมืองที่มีเสถียรภาพ

แรงงานไทยต้องเร่งยกระดับทักษะให้สูงขึ้น 

สิ่งที่จะสามารถสร้างความได้เปรียบและทำให้ไทยกลับมาอยู่ในเรดาร์ของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่นได้ คือ การพัฒนาทักษะแรงงานให้รองรับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูง เพื่อเพิ่มผลิตภาพและผลตอบแทนของแรงงาน ผ่านการร่วมมือของทั้งรัฐบาลและเอกชนในการอบรมบุคลากรผ่านระบบการศึกษา ให้มีทักษะสูงเป็นที่ต้องการของตลาด

นอกจากนี้อีกแนวทางคือการดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูง เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ใน ขณะระหว่างที่ไทยยังไม่สามารถผลิตแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญได้ทัน อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดความรู้ในอุตสาหกรรมดังกล่าวแก่แรงงานไทยได้ โดยไทยควรลดข้อจำกัดในการดึงดูดแรงงานต่างชาติที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน เช่น อนุญาตให้การสอบใบประกอบวิชาชีพบางวิชาชีพไม่ต้องสอบเป็นภาษาไทย และเพิ่มสัดส่วนลูกจ้างต่างชาติในบริษัทให้สูงขึ้น เป็นต้น

รายละเอียด 10 เดือนแรกของปี 2567
ญี่ปุ่นครองแชมป์ลงทุนทำธุรกิจในไทยสูงสุด

นักลงทุนจากญี่ปุ่นเป็นชาติที่ลงทุนในไทยสูงสุดในช่วง 10 เดือนของปีนี้ตามมาด้วย สิงคโปร์ , จีน , สหรัฐฯ, ฮ่องกง โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

1.ญี่ปุ่น มีจำนวน 211 ราย คิดเป็นร้อยละ 27 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 91,700 ล้านบาทหมวดหมู่ธุรกิจที่ลงทุนอาทิธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ,ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเพื่อจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ธุรกิจโฆษณา, ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชัน, ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ ชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานพาหนะ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ

2.สิงคโปร์ มีจำนวนนักลงทุน  110 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 14,779 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ บริการทางวิศวกรรมและเทคนิคในด้านต่างๆ เช่น การออกแบบทางวิศวกรรม และการวางระบบโครงสร้างการผลิต เป็นต้น , ธุรกิจโฆษณา, ธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ,ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ การให้บริการ เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์เชิงสนทนาพร้อมอวทาร์ (Conversation AI Avatar) ,ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับเทคโนโลยีขั้นสูง บรรจุภัณฑ์พลาสติก ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

3. จีน มีจำนวนนักลงทุน 103 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 13,806 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา และฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่าง ๆ เพื่อติดตั้งระบบสายพานที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ,ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ,ธุรกิจบริการ บริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ ,ธุรกิจบริการสถานที่สำหรับเล่นเกมแก้ไขปริศนา (Escape Room) , ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป, ผลิตชิ้นส่วนของระบบกันสะเทือนสำหรับยานพาหนะ, Audio Cables)

4.สหรัฐอเมริกา มีจำนวนนักลงทุน 103 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 4,552 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ,ธุรกิจค้าปลีกสินค้า อาทิ เครื่องเสียงและระบบเครื่องเสียง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ เครื่องมือแพทย์,ธุรกิจโฆษณา ,ธุรกิจบริการซ่อมแซมและบำรุงรักษากล้องส่องตรวจ ท่อส่องตรวจ และเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า

5.ฮ่องกง มีจำนวนนักลงทุน 57 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 14,461 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
ธุรกิจบริการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ,ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย,ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชันแลธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ประโยชน์ที่ประเทศไทยควรจะได้รับเมื่อมีการลงทุนของต่างชาติ คือการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้กับคนไทยและประเทศไทยซึ่งข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการาค้าระบุว่าการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยช่วงที่ผ่านมา มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับทักษะการออกแบบ การใช้งาน และการซ่อมบำรุงระบบอาณัติสัญญาณ องค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยชีวภาพในระดับฟาร์ม องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการงานบำรุงรักษาเครื่องจักรผ่านแอปพลิเคชันองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการประกอบชิ้นส่วนสายพานลำเลียง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามธุรกิจและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยต้องวิ่งให้เร็วขึ้น เพื่อตามการพัฒนาของเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆให้เท่าทัน เพราะการตามไม่ทันได้เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและคนไทยอย่างชัดเจนและหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆแล้ว  

ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า , ธนาคารแห่งประเทศไทย

แชร์
ญี่ปุ่นครองแชมป์ลงทุนในไทยสูงสุด จับสัญญาณเวียดนาม ดาวเด่นดึงดูดลงทุน