รายงานของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กำลังมีบทบาทมากขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ จากเดิมในยุคเริ่มต้นคือ Machine Learning ต่อมาได้ถูกพัฒนาต่อยอดไปสู่ Deep Learning ที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อน ส่งผลให้ตลาดของ AI ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก Statista คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของ AI มีแนวโน้มเติบโตราว 27.6% ต่อปีในช่วงปี 2025 - 2030 มาอยู่ที่ 820,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2030
SCB EIC มองว่ากลุ่มธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากการเติบโตของ AI ได้แก่ ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ทั้งระบบ นับตั้งแต่ผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตชิปขั้นสูง ผู้ผลิตและออกแบบชิป ผู้รับจ้างผลิตชิป ไปจนถึงกลุ่มให้บริการแพ็กเกจ ประกอบ และทดสอบชิป ถัดมาคืออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจต่าง ๆ ได้เริ่มนำเอาซอฟต์แวร์ AI มาใช้ในการประมวลผลข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น และสุดท้ายคือธุรกิจ AI Applications เช่น ChatGPT และ Google Gemini ที่มีการแข่งขันกันในการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
นอกจากความต้องการบริโภค AI ที่แข็งแกร่งแล้ว ความท้าทายจากความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการผูกขาดทางการค้ายังส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตของ AI อย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ต่างทุ่มเทให้กับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะไม่น้อยลงเลยในปี 2025
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า Meta, Amazon, Alphabet และ Microsoft มีแผนใช้เงินลงทุนพัฒนา AI และสร้างศูนย์ข้อมูลในปี 2025 รวมกันสูงถึง 320,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าปี 2024 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยจากการให้สัมภาษณ์ของบรรดาซีอีโอในช่วงต้นปีนี้ และรายงานผลประกอบการในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ในบรรดา 4 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ Amazon คือบริษัทที่วางแผนจะใช้เงินลงทุนมากที่สุดจำนวน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ ซึ่งมากกว่าปี 2024 ที่ระดับ 83,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยซีอีโอของบริษัทระบุว่าพวกเขาจะใช้เงินลงทุนส่วนใหญ่ไปกับ AI สำหรับแผนก Amazon Web Services ขณะที่ Microsoft เปิดเผยว่าในปี 2025 บริษัทจะลงทุนราว 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลสำหรับการพัฒนา AI โดยเฉพาะ และครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินลงทุนดังกล่าวจะถูกใช้ในสหรัฐฯ
ทางด้าน Alphabet บริษัทแม่ของ Google ตั้งเป้าการใช้จ่ายเพื่อปัญญาประดิษฐ์ไว้ 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าจะใช้จ่ายราว 16,000 - 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2025 โดยหัวหน้าฝ่ายการเงินของ Alphabet เปิดเผยว่าเงินลงทุนส่วนใหญ่จะถูกใช้เพื่อโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิค อาทิ เซิร์ฟเวอร์ ศูนย์ข้อมูล และระบบเครือข่าย
ขณะเดียวกัน มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอของ Meta ออกมาเปิดเผยว่าบริษัทได้กำหนดงบประมาณสำหรับ AI ไว้ที่ 60,000 - 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับเดือนมกราคม โดยเขาพูดอย่างชัดเจนว่าปี 2025 คือปีแห่งการกำหนดทิศทางของ AI และการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะช่วยปลดล็อกนวัตกรรมทางประวัติศาสตร์ รวมถึงขยายความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา
อีกหนึ่งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่หลายคนจับตามองเสมอคือ Apple ซึ่งค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของพวกเขายังคงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก เพราะตัวเลขดังกล่าวมักจะปรากฏในค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ไม่ได้แยกเป็นสัดส่วนชัดเจน เนื่องจาก Apple เช่าบริการการฝึกอบรม AI จากผู้ให้บริการคลาวด์ อาทิ โมเดลที่รองรับ Apple Intelligence นั้นได้รับการฝึกฝนบน Google Cloud นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า Apple เช่าบริการการฝึกอบรม AI จาก AWS ของ Amazon และ Azure ของ Microsoft อีกด้วย
ทั้งนี้ ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอของ Apple ระบุว่าในส่วนของการลงทุนนั้น สิ่งที่ Apple ทำคือแนวทางแบบผสมผสาน โดยพวกเขาจะทำสิ่งต่าง ๆ ภายในบริษัท ไปพร้อมกับพันธมิตรบางรายที่เราทำธุรกิจด้วยภายนอก ซึ่งการลงทุนนั้นจะปรากฏอยู่ในธุรกิจของพวกเขา ไม่ใช่ Apple
ทางด้าน Tesla ซึ่งเป็นบริษัทนวัตกรรมด้านยานยนต์เพียงหนึ่งเดียวใน The Magnificent Seven เปิดเผยว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของพวกเขาอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2024 พร้อมกันนี้บริษัทยังได้สร้าง Cortex ซึ่งเป็นคลัสเตอร์การฝึกอบรม AI ในโรงงานที่เท็กซัส เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ และหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ของบริษัทอีกด้วย
ทั้งนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา การมาถึงของ DeepSeek จากจีนได้สั่นสะเทือนวงการเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านต้นทุนการพัฒนา AI ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเครื่องมือแบบ Open Source ทำให้ต้นทุนของ DeepSeek คิดเป็นแค่เศษเสี้ยวของคู่แข่งบางรายในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าการลงทุนของ Amazon, Google และ Microsoft จะส่งผลดีอย่างมากต่อธุรกิจคลาวด์ของพวกเขา ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ และจะมีความต้องการบริโภคที่แข็งแกร่งในอนาคต