วิกฤต หรือโอกาส? ลงทุนอสังหาฯ ยุคนี้ให้มีกำไร ในงานสัมมนา โดย Amarin Academy ร่วมกับ SPOTLIGHT , บ้านและสวน, room ในหัวข้อ สำเร็จ เสร็จ รวย ตัวช่วย ลงทุน บ้านเก่า โดย คุณลุงเหมียว จรัส ภาคอัด เจ้าของ เรือนจรุง Ayutthaya Real Chillin House และ คุณกวาง กชมล ทวิภาคธีรโชติ เจ้าของ Tavihome Studio รีโนเวทบ้านมือสองสอนเป็นสตูดิโอให้เช่า ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้นเราไปชมกันเลย
เปลี่ยนบ้านให้งอกเงิน! กับไอเดียสุดเจ๋งจาก คุณกวาง เจ้าของ Tavi Home Studio ที่เนรมิตบ้านมือสองให้กลายเป็นสตูดิโอสุดสวย เหมาะสำหรับการถ่ายภาพและใช้งานจริง หลายคนคงคุ้นเคยกับการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย แต่เคยไหมที่บ้านของคุณจะกลายเป็นแหล่งสร้างรายได้เสริม? ไอเดียนี้เกิดขึ้นจริงแล้ว กับสาววัย 27 ปี คุณกวาง-กชมล ทวิภาคธีรโชติ เจ้าของ Tavi Home Studio ผู้เนรมิตบ้านมือสอง พื้นที่ 66 ตารางวา ให้กลายเป็นสตูดิโอสุดคูล ไว้ทั้งถ่ายงานส่วนตัว เปิดให้เช่าถ่ายรูป และที่สำคัญสามารถใช้พักอาศัยจริง
คุณกวางจบการศึกษานิเทศศิลป์ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทำงานประจำควบคู่กับงานฟรีแลนซ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นถ่ายแบบ เพ้นต์เสื้อผ้า ขายเสื้อผ้ามือหนึ่งมือสอง หลังจากทำงานประจำมา 3 ปี เธอก็ตัดสินใจลาออก เนื่องจากความเหนื่อยล้าและต้องการค้นหาแพชชั่นใหม่ ทำให้เธอมุ่งหน้าสู่เส้นทางฟรีแลนซ์เต็มตัว แม้จะเจอเสียงคัดค้านจากครอบครัว แต่ด้วยความมุ่งมั่นและแพชชั่นที่มี เธอก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเส้นทางนี้สามารถสร้างรายได้ไม่แพ้การทำงานประจำ
คุณกวาง มักใช้เวลาว่างวันเสาร์-อาทิตย์ไปกับการถ่ายแบบเสื้อผ้าให้ร้านประตูน้ำ และถ่ายแบบเสื้อผ้ามือสองของตัวเองเพื่อนำไปโพสต์ขาย แต่ด้วยโลเกชั่นที่ไม่สวยและเสียงนินทาจากผู้คน ด้วยความชอบแต่งตัว คุณกวางจึงมีเสื้อผ้ามากมาย และมักขายเสื้อผ้ามือสองเป็นประจำอยู่แล้ว บวกกับประสบการณ์ทำงานฟรีแลนซ์ด้านถ่ายแบบ ทำให้เธอมีความคุ้นเคยกับการถ่ายภาพและรู้จักคาเฟ่สวยๆ มากมาย ทำให้เธอมีความคิดอยากสร้างบ้านของตัวเองให้กลายเป็นสตูดิโอ เพื่อถ่ายภาพสวยๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสถานที่
คุณกวาง ใช้เวลาค้นหาบ้านมือสองอยู่นาน จนได้บ้านในจังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่ 66 ตารางวา คุณพ่อของเธอช่วยซื้อและผ่อนให้ เธอเริ่มรีโนเวทบ้านในปลายเดือนเมษายน ปี 2564 โดยใช้งบประมาณ 2 ล้านบาท คุณพ่อช่วยออกค่าใช้จ่ายส่วนรีโนเวท ส่วนของตกแต่งเธอออกแบบและซื้อเอง
เมื่อ รีโนเวทบ้าน เสร็จ คุณกวางเริ่มเล่น TikTok เพื่อโปรโมทเสื้อผ้าและสอนแต่งตัว แต่ด้วยความหลงใหลในบ้านใหม่ เธอจึงเปลี่ยนมาลงคอนเทนต์เกี่ยวกับบ้าน เช่น มุมถ่ายรูปต่างๆ จนผลตอบรับดีเกินคาด ผู้คนเริ่มรู้จักบ้านของคุณกวางผ่าน TikTok ยอดผู้ติดตามเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบัน บ้านของคุณกวางมีมุมถ่ายรูปมากกว่า 30 มุม กลายเป็นสถานที่ถ่ายรูปยอดนิยม และสร้างรายได้ให้กับเธอ
คุณกวางไม่ได้ใช้บ้านสตูดิโอเพียงเพื่อถ่ายงานตัวเอง แต่เธอเปิดให้คนนอกเช่าสถานที่ถ่ายรูปด้วย เรตราคาเริ่มต้นที่ 4,500 บาทสำหรับครึ่งวัน 7,500 บาทสำหรับเต็มวัน และ 15,000 บาทสำหรับกองถ่าย "บ้านหลังนี้กวางอาศัยอยู่จริง มีห้องส่วนตัวไว้พักผ่อน เวลาลูกค้ามาเช่าสตูดิโอ กวางจะตื่นเช้า เตรียมของกิน น้ำ ขนม ไว้เลี้ยง เปิดแอร์ เปิดไฟ จัดพร็อพต่างๆ และเตรียมเตารีดไอน้ำ ราวแขวนเสื้อผ้าให้เรียบร้อยก่อน 07.30 น. ลูกค้าสามารถใช้สตูดิโอได้จนเสร็จ กวางจะออกมาเคลียร์สถานที่ทีหลัง"
สำหรับราคาในการรีโนเวทบ้าน ตัวบ้านมือสองราคา 4 ล้าน ทำการรีโนเวทหมดไป 1 กว่าล้านบาท ทำการตกแต่งหมดไปอีก 1 ล้านกว่าบาท รวมทั้งหมดประมาณ 6 ล้านกว่าบาท เวลานี้รายได้จากการให้เช่าสตูดิโอ ในช่วงต้นปี 2566 อยู่ที่หลักแสนบาทต่อเดือน ยังไม่รวมรายได้อื่นๆ จากงานฟรีแลนซ์ เงินเหล่านี้เธอจะนำไปต่อยอดซื้อของแต่งบ้าน และโปรโมตสตูดิโอ
อนาคต คุณกวางอยากทำคาเฟ่ แต่ด้วยความที่สตูดิโออยู่ในหมู่บ้าน เกรงใจเพื่อนบ้าน จึงคิดจะหาสถานที่อื่น เช่น บ้านต่างจังหวัด และอีกหนึ่งความฝันคือ รีโนเวตบ้านขาย บ้านของคุณกวาง เป็นตัวอย่างของการต่อยอดจาก "บ้าน" สู่ธุรกิจ ที่สร้างรายได้และเติมเต็มความฝัน
เรือนจรุง ร้านอาหารไทยที่โด่งดังในนาม "ร้านอาหารที่จองยากที่สุดในประเทศไทย" ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งนาอันเงียบสงบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดัดแปลงจากบ้านเรือนไทยริมน้ำของ คุณลุง จรัส ภาคอัด หรือ ลุงเหมียว เรือนจรุง ผู้เป็นเจ้าของ สำหรับจุดเริ่มต้น เรือนจรุง มาจากการที่คุณลุง เหมียว ไม่มีรายได้จากบริษัท โปรดักชั่น ที่คุณลุงเป็นเจ้าของ จนต้องกลับมาพักที่บ้านเพื่อมาตกผลึกทางความคิด จนเกิดไอเดียความคิดของคุณลุงเหมียวที่ต้องการสร้างโฮมสเตย์ให้เพื่อนฝูงมาพักผ่อนหย่อนใจ ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ ลุงเหมียวลงมือสร้างบ้านด้วยตัวเอง โพสต์เฟซบุ๊กเล่าเรื่องราวการก่อสร้าง เพื่อน ๆ ในเฟซบุ๊กต่างติดตามชม และหลายคนก็อยากมาพัก
ลุงเหมียวลองทำอาหารให้เพื่อน ๆ ที่มาพักลองชิม รสชาติอาหารฝีมือลุงเหมียวอร่อยถูกปาก ผู้คนบอกต่อ ทำให้มีคนแวะเวียนมาชิมอาหารกันมากขึ้น ลุงเหมียวจึงตัดสินใจเปลี่ยนโฮมสเตย์ให้กลายเป็นร้านอาหาร ปัจจุบัน เรือนจรุงกลายเป็นร้านอาหารที่โด่งดังและจองยากที่สุดในประเทศไทย เปิดรับจองเพียงปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 วัน โดยเปิดจองผ่านทาง Facebook ของร้าน และเต็มภายในเวลาเพียง 8 วินาที
จนต้องเปลี่ยนมาเป็นการเขียนจนหมายแทน ยิ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของ เรือนจรุง เข้าไปอีกเพราะวิธีนี้ถือว่าเป็นการคัดสรรคลูกค้าที่สนใจจะมารับประทานอาหาร ที่ เรือนจรุง นั้นเอง เพราะแค่ 2 ปีที่เปิดร้าน เรือนจรุง สามารถทำรายได้ไปถึง 10-15 ล้านบาท โดยคิดเป็นกำไรเฟี้ยวๆ ถึง 2-3 ล้านบาท ปัจจุบันตลอด 7 ปีที่ คุณลุงเหมียว เปิด เรือนจรุง สามารถทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ จากแนวคิดที่เรียบง่าย ตามสไตล์สบายๆแบบ คุณลุงเหมียว
เสน่ห์ของเรือนจรุงอยู่ที่บรรยากาศอบอุ่นเหมือนมาทานข้าวบ้านญาติ ลุงเหมียวและคุณป้าอุ๊ เจ้าของร้าน ต้อนรับลูกค้าด้วยความเป็นกันเอง อาหารทุกจานปรุงด้วยวัตถุดิบสดใหม่ รสชาติอาหารไทยแบบดั้งเดิม หรือ การได้ทานอาหารที่เรือนจรุงไม่ใช่แค่การทานอาหาร แต่มันคือประสบการณ์ที่พิเศษ ได้สัมผัสบรรยากาศเรียบง่าย อบอุ่น ได้ทานอาหารฝีมือลุงเหมียวรวมถึงได้พูดคุยกับลุงเหมียวอีกด้วย
จากจุดเริ่มต้นของเรือนจรุงเกิดจากเมนูอาหารที่ทำกินกันเองในครอบครัว เป็นสูตรของทางบ้าน ‘ลุงเหมียว’ ที่เป็นชาวอยุธยา และบ้าน ปุ๋ม-อมอร สิงหเสนี แฟนของเหมียวที่เป็นคนอำเภอศรีราชา สูตรอาหารจึงผสมกันระหว่างโทนเผ็ดเค็มของอยุธยา และความหวานกลมกล่อมของศรีราชา เมนูอาหารของที่นี่จึงมีรสชาติที่ครบมิติ ไม่โดดไปในทางใดทางหนึ่ง อีกทั้งยังใช้วัตถุดิบที่ดีเหมาะสมกับอาหารแต่ละจาน และเพื่อคงความสดใหม่ของวัตถุดิบ ทางร้านให้ลูกค้าสั่งอาหารล่วงหน้าก่อนเข้าร้าน โดยเลือกจากเมนู 50 รายการ มั่นใจได้ว่าได้ลิ้มลองเมนูที่ต้องการ
เรือนจรุงเป็นตัวอย่างของร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องพึ่งกลยุทธ์การตลาด แต่มากด้วยรสชาติอาหาร บรรยากาศ และเสน่ห์ตัว ของลุงเหมียว เรือนจรุงกลายเป็นร้านอาหารที่ผู้คนต่างใฝ่ฝันอยากมาลองสักครั้ง
สุดท้ายนี้จาก 2 กรณีศึกษาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ยังมีโอกาสในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในยุคปัจจุบัน แต่ต้องอาศัยกลยุทธ์ที่เหมาะสม เช่น การเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอสังหาริมทรัพย์ เลือกช่องทางโปรโมทผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ หัวใจสำหรับการบริการลูกค้า