ประเทศไทยโดยเฉพาะที่จังหวัดลพบุรี เจอปัญหา ‘วิกฤตลิงล้นเมือง’ จนกลายเป็นภาพข่าวที่ลิงเข้ามาอาศัยปนกับผู้คนในเมือง แถมยังสร้างความเดือดร้อนเพราะเจอทั้งปัญหาลิงดุร้าย เกเร ทำร้ายคน เช่นเดียวกับเรื่องสุขอนามัย โรคติดต่อ ไปจนถึงความสะอาดของบ้านเมืองอีกด้วย
ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยแห่งเดียว แต่ยังมีที่ออสเตรเลีย ต้องเจอปัญหาจำนวนจิงโจ้เพิ่มมากขึ้น ถึงขนาดที่ว่า รัฐบาลของออสเตรเลียต้องมีการกำจัด จิงโจ้ทุกปี เนื่องจาก จำนวนประชากรจิงโจ้เคยมีมากกว่า 3 เท่าของพลเมืองออสซี่ เมื่อปี 2001 (จำนวนจิงโจ้มี 57 ล้านตัว แต่ประชากรออสเตรเลียมีเพียง 19 ล้านคน) และยังมีการสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคเนื้อจิงโจ้ ที่มีการวางขายอยู่ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตอยู่อีกด้วย
บทความนี้ SPOTLIGHT จะพาทุกคนไปหาสาเหตุทำไมออสเตรเลียแดนจิงโจ้ ถึงเกิดปัญหาจิงโจ้ล้นเมือง รัฐบาลมีวิธีการเเก้ไขปัญหาอย่างไร
หากเราจะพูดถึงประเทศออสเตรเลีย แน่นอนว่าหลายๆคนนึกถึง จิงโจ้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทีมักมีลูกจิงโจ้ตัวจิ๋วซ่อนตัวอยู่กระเป๋าข้างหน้า และกระโดดดึ๋งๆแทนการเดิน ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ไม่เหมือนใคร ทำให้ใครหลายคนเอ็นดูถึงความน่ารักของน้อง
แต่รู้หรือไม่ จิงโจ้-นกอีมูถูกเลือกให้เป็น 2 ตัวแทนสัตว์สัญชาติออสซี่ ที่ประคองตราแผ่นดินของออสเตรเลียอยู่ (Australian Coat of Arms) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลออสเตรเลีย เนื่องจาก ทั้งจิงโจ้และนกอีมูเป็นสัตว์ไม่กี่ชนิดบนโลกใบนี้ที่ไม่สามารถเดินหรือกระโดดถอยหลังได้ออสเตรเลียจึงเลือกขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ว่า "ประเทศนี้จะก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น"
โดยทั้งจิงโจ้และนกอีมู ได้รับการคัดเลือกให้ไปเป็นสัญลักษณ์ประดับอยู่บนตราแผ่นดินของออสเตรเลีย โดยได้รับพระราชทานจากพระเจ้าจอร์จที่ 5 ของสหราชอาณาจักร มาตั้งแต่ปี 1912
ปี 2001 : จำนวนจิงโจ้ 57.43 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 19.27 ล้านคน
ปี 2002 : จำนวนจิงโจ้ 48.84 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 19.5 ล้านคน
ปี 2003 : จำนวนจิงโจ้ 28.21 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 19.72 ล้านคน
ปี 2004 : จำนวนจิงโจ้ 25.31 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 19.93 ล้านคน
ปี 2005 : จำนวนจิงโจ้ 24.63 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 20.18 ล้านคน
ปี 2006 : จำนวนจิงโจ้ 23.60 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 20.45 ล้านคน
ปี 2007 : จำนวนจิงโจ้ 24 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 20.83 ล้านคน
ปี 2008 : จำนวนจิงโจ้ 25.89 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 21.25 ล้านคน
ปี 2009 : จำนวนจิงโจ้ 27.04 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 21.69 ล้านคน
ปี 2010 : จำนวนจิงโจ้ 25.15 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 22.03 ล้านคน
ปี 2011 : จำนวนจิงโจ้ 34.30 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 22.34 ล้านคน
จากตัวเลขที่รัฐบาลออสเตรเลียเปิดเผย เราจะเห็นได้ว่า จำนวนประชากรจิงโจ้มีมากซะยิ่งกว่าจำนวนประชากรออสเตรเลียซะอีก ทำให้หลายคนอาจตั้งคำถามว่า"เป็นไปได้อย่างไร ที่จำนวนประชากรสัตว์จะมีมากกว่ามนุษย์?"
คำตอบแรกเราอาจต้องเล่าย้อนไปถึงผืนแผ่นดินทวีป และภูมิศาสตร์ของประเทศออสเตรเลียที่มีขนาดใหญ่ ใหญ่ขนาดที่ว่าประเทศออสเตรเลียมีเส้นเวลาแบ่งของโลกถึง 3 Time Zone ด้วยกัน ซึ่งถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก มีพื้นที่กว่า 7,692,024 ตร.กม. (ขนาดพื้นที่ประเทศใหญ่เกือบเท่าทวีปยุโรปทั้งหมด ที่มีพื้นที่รวมกว่า 10,180,000 ตร.กม.) แต่บางพื้นที่ตรงกลางของออสเตรเลีย (Outback) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของดินแดนทั้งหมดกลับเป็นพื้นที่ทะเลทราย ที่ประชากรไม่สามารถอยู่อาศัยได้ แต่แน่นอนว่าสัตว์อย่างจิงโจ้ สามารถอยู่อาศัยได้อย่างง่ายดาย
หมาดิงโก สุนัขป่าขนสั้น ที่จัดว่าเป็นสัตว์อันตรายชนิดหนึ่งในออสเตรเลีย และเป็นนักล่าขนาดใหญ่ในห่วงโซ่อาหาร โดยนิสัยพื้นฐานของสุนัขป่าจะเกรี้ยวกราดโจมตีใส่มนุษย์และสัตว์อื่นๆจนถึงแก่ความตายได้ด้วย และศัตรูคู่ปรับ อาหารหลักของเจ้าหมาดิงโก นั้นก็คือจิงโจ้ และวัลลาบี
แต่พอนักล่าอาณานิคม ชาวยุโรปเข้ามาตั้งถิ่นฐานราวศตวรรษที่ 19 พวกเขาได้มองว่าหมาดิงโก เป็นภัยร้ายต่อการทำฝูงปศุสัตว์ จึงออกตามล่า และฆ่าหมาดิงโกไปยกใหญ่ จนจำนวนประชากรหมาดิงโกลดลงอย่างน่าใจหาย ทำให้สิ่งที่ตามมาคือ การเปิดโอกาสให้จิงโจ้ได้เพาะพันธุ์ จนสามารถเพิ่มประชากรได้อย่างมากมาย
ปัญหาจิงโจ้ล้นเมือง กลายเป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลกลางออสเตรเลีย ได้แสดงความวิตกกังวลจากจำนวนประชากรจิงโจ้ที่มากเกินพอดี ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาหลายอย่าง เช่น :
ชาวออสเตรเลียจำนวนมากมองว่าจิงโจ้เป็นสัตว์รบกวน หรือศัตรูพืช โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำไร่-ทำนา บอกว่า จิงโจ้ทำความเสียหายแก่พืชผลและแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยกับปศุสัตว์บนที่ดินของพวกเขา
เช่น จิงโจ้เป็นสัตว์กินพืช ทำให้จิงโจ้มักกินต้นหญ้า-ผลไม้ ซึ่งออสเตรเลียประเทศที่เลี้ยงวัวเพื่อการเกษตร การลดลงของทุ่งหญ้านั่นหมายถึงการที่วัวไม่มีหญ้ากิน และส่งผลลุกลามไปถึงเศรษฐกิจของประเทศ
อุตสาหกรรมประกันภัยของออสเตรเลีย ได้ออกมาเปิดเผยว่า การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จิงโจ้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุรถยนต์ชนสัตว์มากกว่า 80 % จากที่มีรายงานปีละกว่า 20,000 ครั้ง เนื่องจากจิงโจ้ชอบกระโดดตัดหน้ารถยนต์ที่วิ่งอยู่บนถนน
การกําจัดจิงโจ้ ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่โหดร้าย ไร้ความปราณี ทำให้รัฐบาลออสเตรเลีย ได้ออกมาเปิดเผยว่า แม้จะสั่งกําจัด แต่ก็จะกําจัดอย่างมีมนุษยธรรม โดยการกําจัดให้ตายเพียงแค่ลูกกระสุนเดียวผ่านการยิงที่หัว หรือ Head Shot แต่ไม่ใช่ว่าพลเมืองทุกคนสามารถกําจัดจิงโจ้ได้ คนที่สามารถกําจัดจิงโจ้ได้ ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ ที่ผ่านมาฝึกฝนมาเป็นอย่างดี หรือพลเมืองออสซี่ที่มีใบอนุญาติล่าสัตว์เท่านั้น
แต่ถ้าดันไปกําจัดจิงโจ้ตัวที่มีลูก ก็ต้องกําจัดลูกตาม เพราะหากปล่อยไว้ลูกก็จะอดน้ำอดอาหาร จนสุดท้ายตายแน่ๆ ซึ่งรัฐบาลก็ได้กำหนดว่า ต้องทุบหัวลูกให้ตายในทีเดียวเหมือนกัน
โดยระเบียบการล่าก็ออกมาชัดเจน รัฐจะมีโควต้าการล่าของแต่ละปี (จะอยู่ราว 10-20 ล้านตัว) และไม่ใช่ว่านักล่าสามารถกําจัดได้ทุกสถานที่ ที่พบเจอจิงโจ้ แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่ทางภาครัฐอนุญาติเท่านั้น เช่นเดียวกันกับ สายพันธุ์ของจิงโจ้ ที่ภาครัฐอนุญาติให้ฆ่าได้แค่ 4 สายพันธุ์เท่านั้น (จาก 70 สายพันธุ์) ได้แก่
เนื่องจาก 4 สายพันธุ์ นี้ เป็นสายพันธุ์ตัวใหญ่ที่กินเยอะ และขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
เช่น เดือนตุลาคม 2019 สำนักข่าว CNN ได้รายงานว่า ที่รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ประกาศให้นักล่าที่ได้รับอนุญาตสามารถล่าจิงโจ้เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ในธุรกิจที่ได้รับอนุญาตได้ โดยนักล่าเหล่านี้จะได้รับอนุญาตให้ล่าจิงโจ้ในพื้นที่และจำนวนที่กำหนด โดยการกำหนดที่ชัดเจนจะทำให้การเก็บเกี่ยวจิงโจ้เป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่กระทบต่อสวัสดิภาพของสัตว์อื่นๆ
เนื้อจิงโจ้ถือเป็นเนื้อที่ดีต่อสุขภาพชนิดหนึ่งเพราะมีมันแทรกเนื้อน้อย รสชาติเหมือนเนื้อวัวแต่มีโปรตีนและธาตุเหล็กสูงกว่า อีกทั้งยังมีแคลอรี่ต่ำกว่า และเป็นแหล่งของโอเมกา 3 ชั้นดี
สำหรับชาวต่างชาติ คงมองว่าคนออสซี่กล้ากินเนื้อจิงโจ้ได้อย่างไร หากจินตนาการภาพน้องจิงโจ้สุดแสนน่ารัก คงไม่สามารถทานลงแน่ๆ แต่จากการสำรวจพบว่าชาวออสซี่เพียงแค่ 14.5% ที่กินเนื้อจิงโจ้มากกว่า 4ครั้ง/ปี
แต่หากเราเคยไปออสเตรเลีย และเดินเล่นตามซุปเปอร์มาร์ตเก็ตเจ้าใหญ่ของออสเตรเลีย เช่น Coles WoolWorths หรือ Aldi หรือตามร้านขายเนื้อต่าง (Butcher Shop) เราจะเห็นเนื้อจิงโจ้ ถูกวางขายเป็นเรื่องปกติ (วางขายคู่กับเนื้อหมู – เนื้อไก่ – เนื้อวัว) บ้างก็ขายเป็นขายเป็นเนื้อสดเพื่อนำไปประกอบอาหารสำหรับคน ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ออสเตรเลียดอลลาร์ หรือราว 230 บาท ส่วนบางผลิตภัณฑ์ก็นำเนื้อจิงโจ้ไปเป็นส่วนผสมหลักของอาหารสัตว์เลี้ยง
โดยรัฐบาลออสเตรเลียได้ออกมารณรงค์ให้ประชาชนกินเนื้อจิงโจ้ให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดประชากรจิงโจ้ในทางหนึ่ง พร้อมกับประชาสัมพันธ์ว่าเนื้อจิงโจ้มีรสชาติดี ปลอดสารเคมี เนื่องจากอาศัยอยู่ตามธรรมชาติและมีธาตุเหล็กสูง
กระทรวงการเกษตรของออสเตรเลีย ได้ออกมาเปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศออสเตรเลีย ได้มีการส่งออกเนื้อจิงโจ้กว่า 3,000 ตัน ไปยัง 60 ประเทศทั่วโลก/ปี ซึ่งกว่า 75% ของปริมาณเนื้อที่ส่งออกถูกใช้เป็นส่วนผสมหลักของอาหารสัตว์เลี้ยง
สำนักข่าว The New York Times ได้มีการคาดการณ์ว่าตลาดการส่งเนื้อจิงโจ้ เคยสร้างเม็ดเงินกว่า 38.4 ล้านออสเตรเลียดอลลาร์ หรือราว 929,800,704 บาท ในการส่งออกเนื้อจิงโจ้กว่า 10,010 ตัน เมื่อปี 2008 ซึ่งตอนนั้นรัสเซียเป็นตลาดใหญ่ ครอบสัดส่วนไปกว่า 58% จนกระทั่งเกิดการระบาดของเชื้อ E.coli ให้ปี 2009 รัฐบาลรัสเซียสั่งประกาศห้ามการนำเข้า-ส่งออกเนื้อจิงโจ้ ทำให้ออสเตรเลียต้องมุ่งไปที่ตลาดยุโรปและจีนแทน
อ้างอิง
American and South Pacific Affairs