อากาศที่ร้อนจัดส่งกระทบไปยังราคาพืชผักให้มีปรับสูงขึ้น จากผลผลิตที่ลดน้อยลงข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ราคาผักในช่วงหน้าร้อนปี67 เทียบกับปี 66 ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 40% โดยราคาผักเฉลี่ย 10 ชนิด คือ ผักชี ต้นหอม ขึ้นฉ่าย แตงกวา ถั่วฝักยาว มะระจีน มะนาว ข้าวโพดฝักอ่อน คะน้า ขิงอ่อ เฉลี่ยรายเดือนอยู่ที่ 78 บาท/กก.จากปี 66 ที่ 55 บาท/กก.
5 อันดับผักที่ราคาพุ่งสูง
1.ขึ้นฉ่าย เพิ่มขึ้น 76% เม.ย.67 อยู่ที่ 111 บาท./กก. ส่วนเม.ย.66 อยู่ที่ 64 บาท/กก.
2.ผักชี เพิ่มขึ้น 59% เม.ย.67 อยู่ที่ 173 บาท/กก. ส่วนเม.ย.66 อยู่ที่ 109 บาท/กก.
3.มะระจีน เพิ่มขึ้น 44% เม.ย.67 อยู่ที่ 53 บาท/กก. ส่วนม.ย.66 อยู่ที่ 37 บาท/กก.
4.ถั่วฝักยาว เพิ่มขึ้น 40% เม.ย.67 อยู่ที่ 81 บาท/กก.ส่วนเม.ย.66 อยู่ที่ 58 บาท/กก.
5.แตงกวา เพิ่มขึ้น 38% เม.ย.67อยู่ที่ 36 บาท/กก.ส่วนเม.ย.66 อยู่ที่ 26 บาท/กก.
ทั้งนี้ราคาผักที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ครัวเรือน 24 ล้านครัวเรือน ทั่วประเทศ ร้านอาหาร 6.8 แสนร้าน ทั่วประเทศ และธุรกิจแปรรูปอาหารจากผักและผลไม้ 1,753 ราย ทั่วประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2567 แม้ราคาผักจะทยอยปรับลดลงตามฤดูกาล แต่ทั้งปีนี้คาดว่าราคาผักเฉลี่ยจะยังยืนสูง ส่วนในปีต่อๆ ปด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ราคาผักอาจจะยิ่งแพงขึ้นไปอีก
ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยสอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ที่มีการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนเมษายน 2567 กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.19 (YoY) โดยเป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้น ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก
สินค้าเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะผักสด และผลไม้สด ออกสู่ตลาดลดลงและราคาสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ภาพรวมทำให้ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนเดือนเมษายน สูงขึ้นเป็น 18,187 บาท จากเดิมเดือนมีนาคมอยู่ที่ 18,034 บาท
ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2567 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญจาก
(1) ฐานราคาค่ากระแสไฟฟ้าเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดของปี 2566
(2) ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น ทั้งไข่ไก่ เนื้อสุกร ผัก และผลไม้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่
(3) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับมีการปรับลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ
(4) ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น และ
(5) ผู้ประกอบการมีแรงกดดันจากต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง ทั้งอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายค่ากระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 – 1.0 (ค่ากลางร้อยละ 0.5) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง
ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงร้อยละ 0.47 ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 137 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน)