กระแสการลาออกจากงานครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า The Great Resignation กำลังเป็นปัญหาในสหรัฐอเมริกา และที่น่าตกใจคือ ปรากฏการณ์นี้ เกิดขึ้นในช่วงโควิดที่ผ่านมา เพราะผู้คนทำงานจากที่บ้าน หรือบางคนว่างงาน ทำให้เกิดอาชีพใหม่ขึ้นมากมาย คนกลุ่มหนึ่งถึงขั้นทิ้งงานประจำเพื่อมาจับอาชีพเสริมอย่างจริงจัง เพราะได้เงินมากกว่า หรือเติมเต็มจิตใจมากกว่างานประจำที่เคยทำอยู่ ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่ง แทบจะไม่ได้ลุกออกจากเก้าอี้ นั่งหน้าคอมเข้าโปรแกรมประชุมออนไลน์ตลอดทั้งวัน ความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ทั่วโลกจึงเกิดปรากฏการณ์ The Great Resignation หรือการลาออกครั้งมโหฬาร โดยเหตุผลสำคัญ เพราะงานที่ทำอยู่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตอีกต่อไป หรือเจองานใหม่ที่ตรงใจมากกว่า
เหตุผลของการลาออกเป็นสิ่งที่แตกต่างกันในแต่ละคน คนอีกกลุ่มใหญ่ไม่สามารถลาออกจากงานได้ เพราะยังมีภาระมากมายที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งค่าบ้าน ค่ารถ ค่าประกัน หรือภาระรับผิดชอบที่ต้องดูแลคนในครอบครัว ครั้นจะทิ้งเงินเดือนก้อนใหญ่แล้วไปหางานใหม่ ก็ไม่รู้ว่าจะรุ่งหรือจะร่วง!? ดังนั้นหากใครกำลังอยู่ในภาวะ “อยากลาออก” ลองทบทวนความคิดอีกที ว่าที่จริงเราแค่เหนื่อย หรือ อยากลาออกจริงๆ Spotlight ชวน “ทบทวน 10 ข้อนี้ให้ดีก่อนบอกลาออฟฟิศเก่า”
“เตรียมใจ”
1.ทบทวนเหตุผลของการลาออก
‘เพื่อนร่วมงานไม่ดี’ ‘บรรยากาศที่ทำงานไม่สร้างสรรค์’ หรือ ‘หมดแพชชั่นกับงานแล้วจริงๆ’ ลองทบทวนดูให้ดีว่าสิ่งที่ทำให้เราไม่อยากลุกไปทำงานในตอนเช้าคืออะไร สิ่งที่ไหนเป็นเรื่องกวนใจเล็กน้อย ยังพอทนไหว สิ่งไหนต้องให้หัวหน้าช่วยจัดการ หรือสิ่งที่ไหนที่ไม่ไหวจะทน!
หลังจากนั้นลองปรึกษากับหัวหน้าของคุณ เพื่อขอให้ทีมรับฟังไอเดียของคุณมากขึ้นในตอนประชุม หรือขอเปลี่ยนเนื้องานบางส่วนให้ ‘เข้ามือ’ ของคุณมากขึ้น มีคนจำนวนไม่น้อยที่หมดไฟในการทำงาน เพราะการไม่ถูกมองเห็น หรือการไม่ได้แสดงศักยภาพเต็มที่ในที่ทำงาน
แล้วอย่าลืมคิดถึงสิ่งที่ดึงดูดให้คุณมาทำงานในที่นี่ตั้งแต่วันแรก เราไม่ได้พยายามชวนคิดแบบโลกสวย แต่เรื่องแย่ๆ ที่หมอกและควันที่เกิดขึ้นระหว่างทาง อาจกำลังบดบังแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หากคุณมั่นใจแล้วว่าว่างานนี้ ตำแหน่งนี้ ในองค์กรนี้ใช่กับคุณจริงๆ ก็จงลุยต่อไปให้สุดทาง
2.ลิสต์ความสำเร็จของตัวคุณ
ในตอนที่กำลังโฟกัสอยู่กับงานและปัญหาที่อยู่ตรงหน้า คุณอาจหลงลืมไปว่าคุณเดินทางมาไกลแค้่ไหนแล้ว การหยุดพักเล็กน้อย แล้วนึกถึงความสำเร็จ และการเติบโตที่ผ่านมา ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน จะช่วยให้คุณรู้ว่า คุณเดินทางมาไกลแค่ไหน หรือจะต้องเดินต่อไปอีกไกลแค่ไหนกว่าจะถึงจุดที่คุณหวัง
ไม่ใช่แค่มโนอยู่ในอากาศ แต่ควรจับมันมาใส่ลงใน CV ของคุณด้วย ควรระบุความสำเร็จเหล่านั้นออกมาเป็นตัวเลขที่จับต้องได้ เช่น คุณมีส่วนช่วยให้ยอดขายเติบโตขึ้น XX% คุณช่วยลูกค้าพัฒนาธุรกิจไปแล้วกว่า XX ราย เพื่อให้คุณสามารถยืดอก และพกความมั่นใจไปขอขึ้นเงินเดือนกับหัวหน้าได้ และยังช่วยให้คุณเตรียมพร้อมเมื่อจะต้องไปสัมภาษณ์งานกับบริษัทใหม่อีกด้วย
3.คุยกับ ‘ท่านประธาน’ หรือหัวหน้า
ตำแหน่งหัวหน้างาน ผู้จัดการ หรือประธานบริษัท คือตำแหน่งสนับสนุนที่จะช่วยเหลือคุณเมื่อมีปัญหาอยู่แล้ว (ขึ้นอยู่กับรูปแบบขององค์กรของคุณ) อย่ากลัวที่จะเดินเข้าไปคำแนะนำ หรือความช่วยเหลือจากพวกเขา ที่สำคัญ ‘พวกเขาไม่ใช่หมอดู’ ไม่สามารถรู้ปัญหาที่อยู่ในใจของคุณได้ถ้าคุณไม่บอกให้พวกเขาฟัง และพวกเขาก็คงเสียใจไม่น้อยไปกว่าคุณ หากจู่ๆ คุณเดินเข้าไปยื่นใบลาออกเพราะปัญหาที่คุณเก็บมานานนับปี ทั้งๆ ที่พวกเขาสามารถช่วยคุณแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ในสองเดือนแรก
ในการเข้าไปคุยกับผู้ดูแลของคุณ จะเป็นการดีหากคุณเข้าไปคุยแบบเปิดใจ บอกพวกเขาว่าคุณต้องการให้เข้าช่วยสนับสนุนเรื่องใด เพื่อให้คุณทำงานได้อย่างเต็มที่มากขึ้น และในขณะที่คุย อย่าแสดงท่าทีว่าใจคุณไปอยู่กับบริษัทอื่นแล้ว เพราะนั่นคือสัญญาณว่าพวกเขากำลังจะเสียคุณไป อย่าตกใจหากเขาเตรียมคนมาแทนคุณ
แล้วถ้าคุณเกิดมีปัญหากับหัวหน้างานเสียเองล่ะ? ลองหาผู้บังคับบัญชาคนอื่นที่คุณสามารถขอคำปรึกษา และความช่วยเหลือจากพวกเขาได้ หรือคุณอาจจะขอย้ายไปอยู่กับเขาแทนก็ได้ ที่สำคัญ หากองค์กรของคุณไม่สนับสนุนให้หัวหน้า-ลูกทีมคุยและขอความช่วยเหลือกันแบบเปิดใจ ก็อาจเป็นหนึ่งสัญญาณชั้นดีที่บอกว่าคุณควรย้ายองค์กรได้แล้ว
“เตรียมเงิน”
4.ขออัพเงินเดือน
บริษัทของคุุณมีค่าใช้จ่ายมากมาย แต่ตัวคุณเองก็เช่นกัน ยิ่งในยุคที่การแข่งขันช่วงชิงตัวพนักงานชี่นดีมมีสูงแล้ว พิจารณาให้ดีว่าค่าเหนื่อยที่คุณได้รับ สมน้ำสมเนื้อกับความสามารถของคุณ และทัดเทียมกับคนอื่นๆ ในวงการเดียวกัน
เงินเดือนใหม่ที่เพิ่มขึ้นควรเป็นตัวเลขที่แฟร์แก่ทั้งสองฝ่าย ในมุมของคุณเอง ตัวเลขนี้ควรสอดคล้องกับภาระงาน อายุงาน ความสามารถ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในยุคปัจจุบัน ในมุมของบริษัท คุณก็ควรพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าความสามารถในการทำงานของคุณ จะไปด้วยกันกับตัวเลขนั้นจริงๆ
5.ตุนเงินไว้ให้มากพอ และไม่ต้องรอหมดหนี้
“เงิน” ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องน่าหนักใจเมื่อคุณเตรียมจะย้ายงาน ยิ่งหากการใช้จ่ายในแต่ละเดือนของคุณก็ค่อนข้างติดๆ ขัดๆ อยู่ด้วยแล้ว การย้ายอาจยิ่งทำได้ยากขึ้นไปอีก โควิด-19 ที่ผ่านมาคงเป็นบทเรียนให้กับหลายคนแล้วว่า การมีเงินสดใช้ไม่ติดขัด และการมีเงินสำรอง ช่วยทำให้คุณหายใจหายคอมากขึ้น แม้จะเป็นช่วงไม่มีรายได้ คุณก็สามารถใช้ชีวิตได้แบบไม่ติดขัด
เพื่อสุขภาพและภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดี คุณควรสำรองเงินเอาไว้อย่างน้อยเท่ากับค่าใช้จ่าย 4-6 เดือน (ตัวอย่างเช่น หากค่าใช้จ่ายต่อเดือนของคุณคือ 15,000 บาท คุณควรสำรองเงินไว้ 60,000 - 90,000 บาท) เงินจำนวนนี้จะเพียงพอให้คุณใช้ในช่วงหางานใหม่ และยังครอบคลุมค่าใช้จ่ายฉุกฌแินที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทางด้วย ทางทีดีควรลดรายจ่าย และหารายได้เสริมอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย
อีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือ คุณสามารถย้ายงานได้แม้จะยังมีหนี้สินติดตัวอยู่ เพราะการตรากตรำทำงานในที่เก่าเพียงเพราะคุณยังมีภาระทางการเงินนั้นอาจยิ่งทำให้สุขภาพจิตคุณแย่เข้าไปใหญ่ วางแผนการเงินให้ดี หรืออาจหาที่ปรึกษาทางการเงินมาช่วยวางเงินเข้า-เงินออกในช่วงบอบบางแบบนี้ เพื่อให้คุณหางานใหม่ที่ทั้งถูกใจได้แบบไม่ต้องกังวล
6.เช็คสิทธิ์ประกัน-สวัสดิการต่างๆ
อีกหนึ่งตัวช่วยที่จะช่วยให้คุณกังวลน้อยลงจากการขาดรายได้ในช่วงหางาน คือประกัน และสวัสดิการต่างๆ ที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุของคุณเอง รวมไปถึงสวัสดิการต่างๆ ทั้งของที่ทำงานล่าสุด และสวัสดิการของรัฐ เช่น ประกันสุขภาพของที่ทำงานล่าสุด ประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม
คุณควรตรวจสอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่คุณจะได้รับให้ดี เช่น เงินทดแทนในกรณีถูกเลิกจ้างหรือลาออก สิทธิในการรักษาโรค เพื่อให้คุณมั่นใจว่า จะได้รับเงินสนับสนุนในช่วงเวลาที่กำลังหางาน และมีเงินชดเชยและค่ารักษา หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
“เตรียมลา”
7.สร้าง Connection ที่ดีไว้ ทั้งในและนอกบริษัท
“Connection เป็นสิ่งสำคัญ” ประโยคนี้เป็นความจริงในทุกยุคสมัย และทุกวงการ แม้คุณกำลังจะก้าวออกจากองค์กรแห่งนี้ไป แต่การสร้างความสัมพันธ์อันดีไว้กับคนในหลากหลายแผนก หลากหลายระดับ ก็จะช่วยให้พวกเขานึกถึงคุณเมื่อมีโอกาสเข้ามา และพร้อมสนับสนุนเมื่อคุณต้องการความช่วยเหลือ
Connection อีกหนึ่งรูปแบบที่ควรสร้างไว้ คือ Connnection กับคนนอกองค์กร เพราะพวกเขาสามารถช่วยพาคุณไปเจอกับคน และสถานที่ที่ Match กับคุณได้ หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องเว้นระยะห่างกันแบบนี้ ลองเริ่มจากการหากลุ่มใน Facebook Clubhouse หรือ Line ที่รวบรวมคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันไว้ด้วยกัน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่ายและฟรีด้วย
8.อย่ากังวลเรื่องย้ายงาน
หากคุณยังคงยึดติดกับความคิดที่ว่า “การย้ายงานเป็นเรื่องที่ตัดสินใจที่ยากที่สุดในชีวิต” “คนที่เปลี่ยนงานบ่อยคือคนไม่เอาไหน” “ย้ายงานบ่อยๆ บริษัทจะมองว่าไม่รักองค์กร” การมาของวิกฤติโควิด-19 และกระแสใหม่ของโลก ได้เปลี่ยนความคิดแบบนี้ขององค์กรไปมากแล้ว เรากำลังอยู่ในช่วงที่ยากที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ตั้งแต่มนุษยชาติ “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” คนที่ปรับตัวเก่งคือผู้อยู่รอด คนที่รู้จักและเข้าใจศักยภาพตัวเอง คือ คนที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข หากงานที่กำลังทำอยู่มีไม่ใช่งานที่เหมาะสมกับคุณมากที่สุด อย่ากลัวที่จะหางานใหม่ที่ใช่กับคุณมากกว่า
9.อัพสกิลด้วยการทำงาน
ในโลก VUCA World หรือโลกที่ “ผันผวน-ไม่แน่นอน-ซับซ้อน-ไม่ชัดเจน” เฉกเช่นในปัจจุบัน การ “Learn-Unlearn-Relearn” เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หนึ่งวิธีพัฒนาทักษะที่หลายคนมักมองข้ามคือ การกระโดดเข้าไป “ลองโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ในที่ทำงาน” ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปช่วยงานของแผนกอื่นๆ ริเริ่มโปรเจ็กต์ใหม่ที่เป็นประโยชน์กับองค์กรขึ้นมา หรือลองทำงานเก่าๆ ด้วยวิธีใหม่ๆ
สิ่งเหล่านี้ นอกจากจะช่วยเติมไฟให้คุณรักในงานตัวเองมากขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับตัวคุณเอง เพิ่มเสน่ห์ให้กับ Resume และช่วยให้หัวหน้ามองเห็นศักยภาพของคุณมากขึ้นด้วย
10. และอย่าลืมว่า.. งานไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต
ท้ายที่สุด งานก็็เป็นเพียงหนึ่งในหลายมิติของคุณชีวิตของคุณ อย่าคุณค่าทั้งหมดของชีวิต ไปผูกติดเอาไว้กับงาน คุณอาจจะไม่ใช่เบอร์ 1 ในตำแหน่งงาน หรือในวงการของคุณ แต่คุณสามารถเป็นเบอร์ 1 ให้กับครอบครัว คนรัก เพื่อนๆ หรือแม้แต่ตัวคุณเองได้ อย่าลืมใช้เวลากับมิติอื่นๆ ของคุณให้ดี ใช้เวลากับคนที่คุณรัก ให้รางวัลและเวลาพักกับตัวคุณเอง ในช่วงเวลาแบบนี้ที่เส้นแบ่งระหว่าง “งานกับชีวิต” จางลงทุกที คุณควรมีกิจกรรมบางอย่างที่จะช่วยตัดเวลาของการใช้ชีวิต ออกจากเวลาทำงาน อาจจะเป็นการออกไปทานข้าวนอกบ้านกับครอบครัวบ้าง ไป Reunion กับเพ่ื่อน หรือเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการเดิน 3-5 นาทีหลังการทำงาน ก็จะเป็นตัวช่วยให้คุณค่อยๆแบ่งงาน ออกจากมิติอื่นๆ ของชีวิตได้ดีมากขึ้น
ไม่ว่าจะอยู่ที่เก่า หรือหาที่ใหม่ หัวใจสำคัญก็คือ “การเข้าใจคุณค่าของตัวเอง” และ “เตรียมพร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลง” เพียงมีสองอย่างนี้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน คุณก็จะทำงานได้อย่างมีความสุข ในทุกที่ที่คุณอยู่
ที่มา : Los Angeles Times