ความเครียด ไม่ใช่ตัวร้ายเสมอไป มาทำความรู้จักกับประเภทและระดับของความเครียดที่เหมาะสม ที่จะช่วย Boost การทำงานของคุณให้ทั้ง Productive และมีความสุขในเวลาเดียวกัน
พูดถึงชีวิตวัยทำงาน เราทุกคนมักจะเจอกับแพ็คเกจเสริมที่ไม่มีใครต้องการชื่อว่า “ความเครียด” พ่วงมาด้วยเสมอ แม้จะมีคำพูดสวยหรูที่บอกว่า “ถ้าได้ทำงานที่รัก เราก็จะไม่เครียด” ขอค้านหัวชนฝาเลยว่าไม่จริง เพราะความเครียด ไม่ได้เกิดจากเพียงความชอบ หรือ ไม่ชอบงานที่ทำเท่านั้น แต่เป็นกลไกการตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวของเรา ที่วิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์สามารถเอาตัวรอดบนโลกใบนี้ได้ และความเครียดก็ไม่ได้จะมีแต่ข้อเสียเสมอไป
SPOTLIGHT พาคุณมารู้จัก และทำความเข้าใจกับเพื่อนแท้อีกคนที่มีชื่อว่า “ความเครียด” พร้อมวิธีดึงร่างนางฟ้าของเพื่อนคนนี้ มาช่วยกระตุ้นให้ทีมในที่ทำงานของคุณ Productive มากยิ่งขึ้น
ความเครียดตัวดี VS ความเครียดตัวร้าย
เรามักจะรู้จัก “ความเครียด (Stress)” ว่าเป็นภาวะอารมณ์ที่บีบคั้น หรือกดดัน และเป็นจอมวายร้ายของชีวิตการทำงาน แต่ที่จริงแล้ว ความเครียดนั้นแบ่งออกได้เป็น “อีก 2 ร่าง” คือ “Eustress” หรือ “ความเครียดตัวดี” กับ “Distress” หรือ “ความเครียดตัวร้าย” ซึ่งทั้งคู่จะเกิดขึ้นเวลาเราจะต้องเจอกับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้รับภาระความรับผิดชอบใหม่ๆ รวมไปถึงเวลาที่เราจะต้องย้ายงานหรือที่ทำงาน
เมื่อ Mindset เวลาเราเจอเรื่องที่เข้ามากระตุ้นต่างกัน ก่อให้เกิดความเครียดในรูปแบบที่ต่างกัน นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต่างกัน นี่คือความแตกต่าง ของความเครียดทั้งสองรูปแบบ
ความเครียดตัวดี (Eustress)
สาเหตุ : ความคิดมที่ว่าเรามีศักยภาพเพียงพอในการรับมือกับชาเลนจ์ต่างๆ ที่ถามโถมเข้ามา + พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา เพื่อให้มีสกิลให้เพียงพอที่จะต่อสู้กับชาเลนจ์เหล่านั้น
ผลลัพธ์ : รู้สึกแอคทีฟ มีพลัง โฟกัสกับสิ่งที่ทำได้ดีขึ้น
ความเครียดตัวร้าย (Distress)
สาเหตุ : ความรู้สึกไม่พร้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลัง เวลา หรือความสามารถ
ผลลัพธ์ : รู้สึกบีบคั้น ถูกกดทับ ประสิทธิภาพการทำงานแย่ลง
“ผลักดัน” ไม่ใช่ “กดดัน”
ย้อนกลับไปในช่วง การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 ที่กรุงโตเกียว ทางผู้จัดงานมีนโยบายจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม และห้ามส่งเสียงเชียร์ หลายคนอาจจะคิดว่ามาตรการนี้ส่งผลดีที่จะช่วยลดแรงกดดันให้กับนักกีฬา ซึ่งจะต้องโฟกัสมากๆ ระหว่างทำการแข่งขัน แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ นักกีฬาหลายคนกลับบอกว่าผู้ชม และเสียงเชียร์ที่หายไป ส่งผลให้พวกเค้าทำผลงานได้แย่ลง
“ความเครียดในระดับที่เหมาะสม” คือตัวช่วยสำคัญที่จะกระตุ้นให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเราขึ้นสู่จุดสูงสุด ความเครียดที่น้อยเกินไปส่งผลให้เราไม่มีกะจิตกะใจลุกขึ้นมาทำงาน ในขณะเดียวกัน ความเครียดที่มาเกินไปก็ทำให้เราทำผลงานออกมาได้ไม่ดีเช่นกัน หรือมากไปกว่านั้น การที่จะต้องรับมือกับความเครียดเป็นเวลานานๆ อาจนำไปสู่อาการ วิตกกังวล แพนิก หรืออารมณ์ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด นานวันเข้าอาจนำไปสู่อาการ “หมดไฟ” ซึ่งเป็นปัญหาที่คนทำงานส่วนใหญ่กำลังประสบอยู่ในยุคนี้
ในที่ทำงาน เรามักจะเจอหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานหลายคนที่มักจะ “หวังดี” กระตุ้นคนรอบข้างด้วยอุปสรรค หรือความท้าทาย ซึ่งเราควรจะเช็คให้ดีว่า ที่เราทำอยู่นั้น เป็นการ “ผลักดัน” ด้วยการทำให้อีกฝ่ายอยากลุกขึ้นมาเผชิญกับอุปสรรคที่อยู่ตรงหน้า หรือเป็นการ “กดดัน” เพิ่มระดับความเครียด จนคนรอบตัวอ่อนล้า และไม่อยากร่วมเผชิญอุปสรรคไปพร้อมกับคุณ
3 วิธี กระตุ้นทีมให้ Productive และ มีความสุข
“ความเครียดตัวดี ในระดับที่พอเหมาะ” คือส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้บรรยากาศในที่ทำงานของคุณ Productive และมีความสุขไปพร้อมกันได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในบทบาทไหน คุณก็สามารถช่วยบาลานซ์ความเครียดภายในทีม ในระดับที่เป็นประโยชน์ได้ ด้วย 3 วิธีต่อไปนี้
1.ประเมิณสถานการณ์ด้วยการ “ให้คะแนน”
ถ้าจะถามคนในทีมตรงๆ ว่า “ตอนนี้กำลังเครียดหรือไม่?” อีกฝ่ายก็คงจะลำบากใจ หรือไม่ก็อาจจะตอบแบบเลี่ยงๆ ทำให้เราอ่านสถานการณ์ภายในทีมได้ยาก
หนึ่งวิธีที่น่าสนใจคือ การถามถึงปัจจัยต่างๆ ของงานที่ทำอยู่ และ ให้พวกเขา “ให้คะแนน ด้วยระดับ 1 - 10” กับสิ่งเหล่านั้น เช่น
- งานที่กำลังทำอยู่ ท้าทายแค่ไหน?
- มั่นใจว่าจะทำตามเดดไลน์ที่ตั้งไว้มากเท่าไร?
- เหลือพลังจะลุยทำงานนี้แค่ไหน?
- คิดว่าไหวแค่ไหน ที่จะทำงานนี้?
หลังได้คำตอบออกมาเป็นตัวเลขแล้ว ก็ลองเจาะเข้าไปว่า มีอะไรที่หัวหน้า หรือคนอื่นๆ สามารถช่วยได้เพื่อให้คะแนนขยับขึ้นไปใกล้ 10 ได้บ้าง วิธีนี้จะช่วยให้อีกฝ่ายเปิดใจ และสัมผัสได้ว่าคนรอบตัวพร้อมที่จะอยู่เคียงข้าง และคอยช่วยเหลือเค้าเสมอ
2. แมตช์งานให้เหมาะกับคน
“Put the right man on the right job” การเลือกคนให้เหมาะกับงาน และเลือกงานให้เหมาะกับคนยังคงเป็นสิ่งสำคัญ และยิ่งในยุคแห่ง “The Great Resignation” วิกฤติการณ์ที่คนแห่ลาออกจากงาน เพื่อไปทำในสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตพวกเขามากกว่าด้วยแล้ว เรายิ่งต้องรักษาคนในทีมเอาไว้ให้ดี เพื่อให้องค์กรยังคงขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้
การวางคนผิดที่ผิดทาง ให้พวกเขาทำสิ่งที่ไม่ถูกใจ และไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ นอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรคนเก่งอย่างไม่คุ้มค่าแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความกดดันให้คนในทีมโดยไม่จำเป็น และเป็นตัวเร่งให้ไฟในการทำงานของเขามอดได้ไวขึ้นด้วย
บทบาทสำคัญของหัวหน้าทีมที่สามารถป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้คือการรู้จักและเขาใจจุดอ่อน-จุดแข็งของแต่ละคนในทีม มอบหมายงานที่จะช่วย “ผลักดัน” เขาเพื่อให้เกิด “ความเครียดตัวดี” กระตุ้นให้เขาอยากทำงานอย่างเต็มที่ และอย่าลืมแสดงออกว่าคุณเห็นคุณค่าของความสามารถของเขา และสิ่งที่เขาทำ เพื่อเป็นการเติมน้ำมันหัวใจ ให้มุ่งไปข้างหน้าได้พร้อมกันทั้งทีม
3. ให้สิทธิ์ในการจัดการตัวเองมากขึ้น
ไม่มีใครชอบจอมบงการ ที่คอยจู้จี้จุจิกในทุกๆ เรื่อง ยิ่งคนเรารู้สึกมีอำนาจในการดูแลและตัดสินใจเรื่องที่ตัวเองดูแล รับผิดชอบมากเท่าไร เราก็จะยิ่งกระตือรือร้นมากขึ้นเท่านั้น แทนที่จะรวมอำนาจการตัดสินใจมากระจุกไว้ที่ศูนย์กลางเหมือนเมื่อก่อน
ลองกระจายความรับผิดชอบ มอบอิสระ และให้ความเชื่อมั่นกับสมาชิกในทีมให้มากขึ้น เพิ่มโอกาสให้พวกเขาได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ จัดการเวลาชีวิตของตัวเอง และมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ “ความเครียดตัวร้าย” ที่เกิดจากการถูกจับตามองในทุกฝีก้าว เปลี่ยนเป็น “ความเครียดตัวดี” ที่จะทำให้พวกเขาพัฒนาตัวเอง ให้เก่งขึ้น สมกับความไว้วางใจที่คุณมอบให้นั่นเอง
“Balance” หรือ “ความสมดุล” เป็นกุญแจสำคัญสำหรับทุกมิติของชีวิต เครียดมากไปก็ไม่ดี เครียดน้อยไปก็ไม่ Active รักษา “ความเครียดตัวดี” ในระดับที่ “เหมาะสม” จะช่วยให้คุณ และทีมของคุณพร้อมผจญในทุกอุปสรรค และเติบโตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดในทุกสถานการณ์
ที่มา
https://bit.ly/3ok6coZ